เนื้อหาสาระข่าว: กรณีข้อพิพาทระหว่างสมาคม International Longshoremen’s Association (ILA) ที่เป็นเสมือนสหภาพแรงงานของบรรดาพนักงานลูกจ้างในท่าเรือที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออก (East Coast) และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก (Gulf Coast) ของสหรัฐฯ กับเครือข่าย United States Maritime Alliance (USMX) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการกิจการท่าเรือหลักซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการโลจิสติกส์ของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะตกลงร่วมกันที่จะขยายเวลาเจรจาชั่วคราวออกไปถึงวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งในภาพรวมข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพแรงงาน ILA ประกอบด้วย การเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงจากปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 60% (ก่อนหน้านี้เรียกร้องอยู่ที่ 77%) เพื่อให้สามารถรองรับและปรับเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเงินชดเชยตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 และข้อเรียกร้องในการห้ามมิให้มีการนำระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทำหน้าที่แทนบุคลากรเพื่อเป็นการรักษาตำแหน่งงานของสมาชิกสหภาพไว้ โดยทั้งสองข้อถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ตลอดเวลาร่วม 5 เดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสหภาพแรงงานภายหลังได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง ที่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติแทนที่การจ้างงานบุคลากร โดยได้ออกมาระบุว่า “จำนวนเงินที่สามารถช่วยลดต้นทุนจากการนำระบบปฏิบัติการเหล่านั้นมาใช้ เทียบไม่ได้กับความทุกข์ใจ ความเจ็บปวด และความสุ่มเสี่ยงต่อแรงงานชาวอเมริกัน” ซึ่งถือว่าน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาจนนำไปสู่ชัยชนะสมัยที่สองของทรัมป์ครั้งนี้ มีจุดยืนที่เหนียวแน่นเคียงข้างชนชั้นแรงงานชาวอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้พูดถึงเรื่องการบริหารกลไกหลาย ๆ อย่างของรัฐให้ไปเป็นไปอย่าง “มีประสิทธิภาพ” ซึ่งในประเด็นนี้อาจเป็นข้อสังเกตที่ต้องดูกันในระยะยาวถึงท่าที่และจุดยืนของทรัมป์ว่าถ้าหากต้องการที่จะสนับสนุนให้มีการจ้างงานแรงงานชาวอเมริกันเป็นหลักต่อไปแล้วจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการพัฒนาระบบปฏิบัติการและการบริหารจัดการของท่าเรือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ทางสหภาพ ILA และกลุ่ม USMX ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยมีเนื้อหาสาระระบุถึงการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น (Tentative Agreement) ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายซึ่งจะถูกบรรจุในสัญญาฉบับหลัก (Master Contract) ระยะ 6 ปีต่อไป โดยในลำดับถัดไปจะเป็นการหารือร่วมกันระหว่างสหภาพ ILA กับคณะกรรมการกำหนดค่าแรง (Wage Scale Committee) เพื่อรับรองมติการกำหนดอัตราค่าแรงใหม่ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้สัญญาฉบับจริงต่อไป สำหรับในประเด็นเรื่องการต่อต้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงาน ในแถลงการณ์ได้ระบุว่าข้อตกลงเบื้องต้นนี้จะปกป้องตำแหน่งงานของสหภาพ ILA ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของท่าเรือ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีที่จะสร้างการจ้างงานมากขึ้นเข้ามาในระบบการทำงาน โดยยังได้ระบุอีกว่านี่คือข้อตกลงที่สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (Win – Win Agreement) และจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงจนกว่ากระบวนการเห็นชอบร่วมกันจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์
ภายหลังแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ประธานสหภาพ ILA อย่าง Harold Daggett ได้ออกมาโพสต์ข้อความยกเครดิตและความดีความชอบของความสำเร็จครั้งนี้ให้กับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ โดยได้กล่าวไปถึงเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ตัวเขาและทรัมป์ได้พบปะหารือกันในประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายก่อนหน้านี้ จนนำไปสู่การที่ทรัมป์ต่อสายตรงหาตัวแทนกลุ่ม USMX เพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสหภาพ ILA และตอกย้ำด้วยการแสดงจุดยืนดังกล่าวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตนในข้างต้น ซึ่ง Harold กล่าวว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นของสัญญาฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ พร้อมยกย่องทรัมป์ให้เป็นฮีโร่ของชาวสหภาพ ILA และเพื่อนที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นแรงงานชาวอเมริกัน
บทวิเคราะห์: มีการวิเคราะห์กันจากหลายฝ่ายว่าการบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายสหภาพ ILA นั้นจะได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากได้รับการตอบสนองที่เรียกร้องทุกข้อ ในขณะที่สำหรับฝ่าย USMX นั้นเสียโอกาสที่จะนำระบบปฏิบัติการอัตโนมัติแบบเต็ม (Full Automation) เข้ามาใช้ในระบบของท่าเรือเพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งจากข้อต่อรองทำให้ลดระดับเหลือแค่ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติบางส่วน (Semi -Automation) ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการท่าเรือได้เท่าที่ควร
แม้ว่าความกังวลในเรื่องการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานท่าเรือจะสามารถหาข้อยุติได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรทิ้งไว้ เนื่องจากอัตราการนำเข้าสินค้าของท่าเรือต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้ได้ปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า สาเหตุมาจากการที่บรรดาผู้นำเข้าได้สั่งสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าปกติไว้สำหรับฤดูใบไม้ผลิ เพื่อสำรองสินค้าให้มีเพียงพอในช่วงเวลาดังกล่าวในกรณีที่อาจเกิดเหตุสุดวิสัยใดใดในทางโลจิสติกส์ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการเร่งนำเข้าสินค้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้จากมาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่ภายหลังที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นอกเหนือไปจากนี้ผลกระทบในระยะยาวต่อภาคการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อาจต้องพิจารณากันในระยะยาว
ภาพรวมของอัตราการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่ช่วงเดือนที่เริ่มเกิดกรณีข้อพิพาทการประท้วงหยุดงงานของท่าเรือเป็นต้นมา โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีอัตราการนำเข้าอยู่ที่ 2.17 ล้าน TEU จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.91 ล้าน TEU ซึ่งถือว่าสูงกว่าเดือนพฤศจิกายนปี 2023 ถึง 14.7% ในเดือนธันวาคมมีอัตราการนำเข้าอยู่ที่ 2.24 ล้าน TEU จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.88 ล้าน TEU ซึ่งถือว่าสูงกว่าเดือนธันวาคมปี 2023 ถึง 19.2% ทั้งนี้ อัตราการนำเข้าทั้งหมดของปี 2024 รวมอยู่ที่ 25.6 ล้าน TEU จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 24.9 ล้าน TEU ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราในปี 2023 ถึง 15.2% และได้คาดการณ์อัตราในเดือนมกราคมปีนี้ว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วประมาณ 10%
แผนภาพแสดงข้อมูลสถิติอัตราการนำเข้าระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม – มีนาคม โดยแสดงข้อมูลอัตราการนำเข้าสินค้าในปี 2023, 2024 และคาดการณ์ปี 2025
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนหรือกำลังวางแผนจะส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ ควรติดตามความคืบหน้าของมาตรการทางภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะก้าวเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปอย่างแน่นอน ซึ่งจะรวมถึงมาตรการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่คาดว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันเพื่อแย่งชิงตลาดกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง และจากการหารือกับผู้นำเข้าประเภทสินค้าอุปโภคและได้ให้ข้อสังเกตว่าคุณภาพสินค้าจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพและมาตรฐานขณะที่ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากไทยยังเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า นวัตกรรมและรูปแบบสินค้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม
อีกทั้งควรติดตามต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นไปตามสถานการณ์การสั่งซื้อสินค้าเพื่อสำรองให้มีเพียงพอต่อความต้องการของบรรดาผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ และควรเสาะหาทางเลือกและเส้นทางขนส่งสินค้าสำรองเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในระบบการขนส่งสินค้าทั้งในทางโลจิสติกส์และมาตรการทางภาษีนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐฯ แม้ว่าปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะลดความร้อนแรงลงในหลายพื้นที่ แต่ปัญหาใหม่ๆ ด้านโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจจะอุบัติขึ้นได้ภายหลังจากสัปดาห์หน้าเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วง 4 ปีข้างหน้า
ที่มา: American Journal of Transportation
เรื่อง: “[Freightos Weekly Update] ILA – USMX agreement ends strike threat”
สคต. ไมอามี /วันที่ 15 มกราคม 2568