การประชุมอาหารและเกษตรโลก The Global Forum for Food and Agriculture – GFFA 2025: เศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืน คือหนทางสู่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

การประชุมอาหารและเกษตรโลก The Global Forum for Food and Agriculture – GFFA 2025 ภายใต้การเป็นประธานการประชุมของนาย Cem Özdemir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และปกป้องสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMEL) ในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพระดับโลก เพื่อเป็นพลังสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

 

นาย Cem Özdemir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กล่าวตอกย้ำถึงปัญหาความหิวโหย โดยระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลก 1 ใน 10 คน ยังคงต้องทนทุกข์กับความอดอยาก ภัยสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลง ขณะที่ปัญหาสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้สถานการณ์วิกฤตยิ่งขึ้นไปอีก ความหิวโหยบั่นทอนสันติภาพ ก่อให้เกิดวงจรอันเลวร้าย และยังได้ย้ำถึงความรับผิดชอบของเหล่ารัฐมนตรีเกษตรในการแก้ไขปัญหานี้ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันแนวทางการพัฒนาแบบชีวภาพและยั่งยืนเพื่อทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซี่งเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางสู่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และการปกป้องสภาพภูมิอากาศ โดยแถลงการณ์ร่วมได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมชีวภาพซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะพลิกโฉมการพัฒนา ก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากรฟอสซิล และสร้างโอกาสใหม่ ๆ โดยผสานความยั่งยืนเข้ากับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลักการ “Food First” ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่อาจละเลยหรือต่อรองได้

 

ในแถลงการณ์ร่วมฉบับสุดท้ายจากที่ประชุม GFFA ได้ให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และประสานแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพระดับโลก ภายใต้กรอบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รัฐมนตรี Özdemir กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยระบุว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการริเริ่มระดับโลกด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งริเริ่มโดยบราซิลในฐานะประธานกลุ่ม G20 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของทรัพยากรฟอสซิล และยังได้ย้ำถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสให้พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืนอย่างทั่วถึง การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืน มิใช่ทางเลือก หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตที่มั่นคงและเป็นธรรม ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราสามารถสร้างโอกาสอันงดงาม และเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคเศรษฐกิจชีวภาพบนรากฐานแห่งความยั่งยืน สันติภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ในการประชุม GFFA ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีเกษตรจากกว่า 70 ประเทศ และผู้แทนระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศชั้นนำ 14 แห่ง อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก (WTO) และโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) เข้าร่วมงาน

 

ผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุม GFFA 2025

Sustainable production of biomass

การผลิตชีวมวลอย่างยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศให้เจริญก้าวหน้าไปพร้อมกัน การจัดการและแปรรูปทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เศรษฐกิจชีวภาพบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบอาหารและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงนิเวศเกษตร (agroecology) เกษตรแม่นยำ (precision farming) และเกษตรอินทรีย์ (organic farming) อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีระบบการผลิตใดที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ควรปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาค

Bioeconomy as a source of income

เศรษฐกิจชีวภาพไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับศักยภาพของเศรษฐกิจชีวภาพสีน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นแหล่งสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวประมง พร้อมทั้งยกให้สาหร่าย คือทรัพยากรล้ำค่าที่รอคอยการพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

Using biomass sustainably — Ensuring global food security

ที่ประชุมให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางอาหาร โดยให้ความสำคัญกับสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอสำหรับทุกคน  และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกภาคส่วน เพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรชีวภาพ พร้อมผลักดันการใช้ประโยชน์จากชีวมวลทางการเกษตร ป่าไม้ และแหล่งน้ำ รวมถึงผลพลอยได้ต่าง ๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำว่า การกระจายแหล่งโปรตีน คือ กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้นของโลก

Strengthening innovation

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การฝึกอบรม การสื่อสาร และความร่วมมือข้ามภาคส่วน คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยผสานเข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิมและมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจชีวภาพเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย เยาวชน ชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น

Creating a fair framework – Harnessing change

ความต้องการชีวมวลที่เเพิ่มมากขึ้นทั้งเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรม อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดินและน้ำ ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างกรอบการทำงานที่เป็นธรรม โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับสิทธิในการเข้าถึงอาหาร เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากชีวมวลอย่างเท่าเทียม

Launching an international partnership

ที่ประชุมต่างยินดีกับโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพโลกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากประเทศเยอรมนี ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและกรอบการกำกับดูแล ที่ประชุมตระหนักถึงความจำเป็นในการริเริ่มโครงการดังกล่าว จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่

 

****************************************************

ที่มา: Federal Ministry of Food and Agriculture

 

thThai