ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2567 ยังคงสูงทำสถิติ เป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์ที่จำนวนตู้สินค้านำเข้าในเดือนเดียวสูงเกิน 2.3 ล้าน TEUs (Twenty-foot equivalent units) และสูงกว่าเดือนธันวาคม 2566 ร้อยละ 12.4 เป็นปริมาณตู้สินค้านำเข้าในเดือนธันวาคมที่สูงทำสถิติเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ รองจากเดือนธันวาคม 2564
ปริมาณตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯในปี 2567 รวมทั้งสิ้นกว่า 28 ล้าน TEUs มากกว่าปี 2566 ร้อยละ 12.4 ทำสถิติติดอันดับที่สามของปริมาณตู้สินค้านำเข้าต่อปีที่มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯยังคงนำเข้าสินค้าอย่างเข็มแข็ง แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่เป็นการท้าทายการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นในประเทศและทั่วโลก
ในเดือนธันวาคม 2567 ตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ท่าเรือบนฝั่งตะวันตก หรือร้อยละ 44.9 ของตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น ทำสถิติติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 7 ตู้สินค้านำเข้าที่ท่าเรือบนฝั่งตะวันออกและที่อ่าว (Gulf Coast) มีส่วนแบ่งร้อยละ 37.1
ในเดือนธันวาคม 2567 ร้อยละ 82 ของตู้สินค้านำเข้าผ่านเข้าสหรัฐฯที่ท่าเรือสำคัญ 10 อันดับแรก คือ Los Angeles, Long Beach, New York/New Jersey, Savannah, Houston, Norfolk, Charleston, Oakland, Tacoma และ Baltimore อย่างไรก็ดี จำนวนตู้สินค้านำเข้ารวมทั้งสิ้นที่ผ่านเข้าที่ท่าเรือทั้ง 10 แห่งนี้ ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2567 ร้อยละ 1.4 การขนถ่ายสินค้าลดลงที่ท่าเรือบนฝั่งตะวันออก และบนฝั่งตะวันตกบางแห่ง คือ Los Angeles, Oakland และ Seattle ใช้เวลาน้อยลง ยกเว้นท่ารือบนฝั่งตะวันตก ที่ Long Beach และ Tacoma ที่ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น
10 ท่าเรือที่มีตู้สินค้านำเข้ามากที่สุดในเดือนธันวาคม 2567 เปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน เรียงตามลำดับ คือ
ในเดือนธันวาคม 2567 จำนวนตู้สินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ 10 แห่ง คือ จีน เวียดนาม อินเดีย เกาหลีใต้ ประเทศไทย ฮ่องกง เยอรมัน ไต้หวัน อิตาลี และญี่ปุ่น รวมกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
จีนยังคงเป็นแหล่งอุปทานที่สหรัฐฯทำการนำเข้ามากที่สุด ตู้สินค้านำเข้าจากจีน 902,519 TEUs เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนร้อยละ 1.7 และมีส่วนแบ่งร้อยละ 38.2 ของตู้สินค้าที่สหรัฐฯนำเข้ารวมทั้งสิ้น ตู้สินค้านำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรกจากจีน ขนส่งสินค้า เฟอร์นิเจอร์และที่นอน สินค้าพลาสติก และสินค้าเครื่องจักรกล nuclear reactors และ boilers ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในปี 2567 ทั้งปี ในอัตราร้อยละ 3.6, 12.9 และ 21.4 ตามลำดับ
ข้อมูลจำนวนตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2567 แสดงให้เห็นว่าแผนการของ Donald Trump ที่ต้องการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้ายังไม่ส่งผลเป็นการเติบโตของจำนวนตู้สินค้านำเข้าสหรัฐฯแต่อย่างใด แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจส่งผลให้มีการนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นปี 2568
เมื่อเดือนตุลาคม 2567 The United States Maritime Alliance (USMX) และ The International Longshoremen’s Association (ILA) ได้ตกลงกันที่จะยืดเวลาเจรจาต่อรองการต่อสัญญาออกไปทำให้ตู้ขนถ่ายสินค้านำเข้าในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านเข้าที่ท่าเรือบนฝั่งตะวันออกและที่อ่าว Gulf Coast มีจำนวนลดลง ในการเจรจาต่อรองครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้และต่อสัญญาออกไปอีก 6 ปี และยกเลิกความตั้งใจที่จะสไตร์ค คาดการณ์ได้ว่า จะทำให้สถานการณ์นำเข้าตู้สินค้าในแต่ละท่าเรือสหรัฐฯกลับเข้าสู่สภาวะปกติและค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าจะทรงตัว ทั้งนี้ ยกเว้นค่าขนส่งสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงในวันที่ 29 มกราคม 2568 ที่ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าจากประเทศส่งออกในเอเซียไปยังสหรัฐฯในเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้น โดยค่าขนส่งไปยังท่าเรือบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯจะสูงกว่าเดือนธันวาคม 2567 ร้อยละ 52 หรืออาจจะสูงถึง 6,000 เหรียญฯต่อ FEU (forty foot equivalent) และค่าขนส่งไปยังท่าเรือบนฝั่งตะวันออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรืออาจถึง 7,000 เหรียญฯต่อ FEU
ที่มา: Global Trade: “ Strong December U.S. Container Imports Close 2024 but Potential Challenges Loom For 2025”, by Jackson Wood, January 10, 2025
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สคต. ลอสแอนเจลิส
ตู้สินค้านำเข้าสำคัญจากประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ คือ สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนประกอบเครื่องจักรกลใช้ในสำนักงาน ยางรถยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องมือ semiconductor และ แผงวงจรไฟฟ้า (integrated circuits)
ท่าเรือสำคัญที่ตู้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยผ่านเข้าสหรัฐฯ คือ Port of Long Beach ที่จำนวนตู้สินค้านำเข้าจากไทยผ่านเข้ามากเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและเวียดนาม
วิธีการส่งสินค้าจำนวนมากจากประเทศไทยเข้าไปยังสหรัฐฯที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดคือ การขนส่งทางเรือ ที่อาจจะอยู่ในรูป LCL (Less Than Container Load) ที่เป็นการแชร์ตู้สินค้า ข้อเสียหลักของการขนส่งในลักษณะนี้คือ ใช้เวลานานกว่าตู้สินค้าจะเต็ม หรืออยู่ในรูป FCL (Full Container Load) ที่ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าเป็นเจ้าของตู้สินค้าทั้งหมด ราคาค่าส่งจะเป็นราคาเดียวไม่ว่าสินค้าจะเต็มตู้หรือไม่เต็มตู้ และมีความเป็นไปได้ในบางครั้งว่าค่าขนส่งจะถูกกว่าแบบ LCL
ระยะเวลาการขนส่งทางเรือจากประเทศไทยไปยังสหรัฐฯอยู่ระหว่าง 35 – 54 วันขึ้นอยู่กับท่าเรือต้นทางและท่าเรือปลายทางของสินค้า ค่าใช้จ่ายในการขนตู้สินค้าหนึ่งตู้ แตกต่างกันออกไปตามขนาดตู้ขนส่ง บริษัทรับขนส่ง และสถานการณ์ขนส่งขณะนั้น ปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งตู้สินค้าขนาด 40 ฟุตเฉลี่ยประมาณ 2,977 เหรียญฯ
หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | 20 – 24 มกราคม 2568