ข้อมูลจากสื่อ Xinhua ซื่งเป็นสื่อทางการของจีน พบว่าถึงสิ้นปี 2567 จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 310.31 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของประชากรทั้งหมดในจีน ซึ่งได้แสดงว่าจีนก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่รวดเร็วขึ้น จำนวนของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นส่งเสริมให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้สูงอายุมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก iiMedia Research ซึ่งเป็นองกรค์วิเคราะห์เศรษฐกิจและพฤติกรรมบริโภคของจีน ระบุว่าขนาดตลาดอุตสาหกรรมผู้สูงอายุของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ 120,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากปี 2565 ส่วนขนาดมูลค่าในปี 2567 อยู่ที่ 139,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 จากปี 2566 คาดการณ์ว่าขนาดมูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึง 200,000 ล้านหยวน ในปี 2570
เศรษฐกิจผู้สูงอายุ (Silver Economy 银发经济) หมายถึงอุตสาหกรรมที่มุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการแก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนผลรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เตรียมความพร้อมสําหรับการก้าวสู่วัยสูงอายุ ซึ่งครอบคลุมในธุรกิจหลายสาขา เช่น สิ่งอํานวยความสะดวกและสถาบันดูแลผู้สูงอายุ อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ บริการดูแลผู้สูงอายุ เสื้อผ้าผู้สูงอายุ อาหารผู้สูงอายุ การดูแลทางการแพทย์ผู้สูงอายุด้วย และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้สูงอายุรุ่นนี้ถือว่าเป็นกลุ่มรุ่นใหม่ในจีน เนื่องจากว่าโดยทั่วไปมีระดับการศึกษาที่สูง มีเงินเดือนหลังจากเกษียณ และให้ความสําคัญกับคุณภาพชีวิตและความต้องการทางสังคม ซึ่งยินดีใช้จ่ายกับงานอดิเรกและผลิตภัณฑ์ที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีสําหรับการพัฒนาตลาดเศรษฐกิจผู้สูงอายุ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจึงได้รับความสนใจจากสังคมและการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักคณะรัฐมนตรีแห่งชาติจีนได้ประกาศส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุและการปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ (เลขที่ [2024] No.1) ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายฉบับแรกที่ตั้งชื่อตาม “เศรษฐกิจผู้สูงอายุ” ในประเทศจีน นโยบายฉบับนี้กําหนดความหมายของ “เศรษฐกิจผู้สูงอายุ” อย่างชัดเจนและเสนอมาตรการเฉพาะ 26 มาตรการ “เศรษฐกิจผู้สูงอายุ” ยังถูกรวมอยู่ในรายงานการทํางานของรัฐบาล ประจําปี 2567 เป็นครั้งแรก ทำให้มณฑลต่างๆ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น มณฑลซานตงได้ศึกษาและกําหนดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ และส่งเสริมการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ดูแลผู้สูงอายุ มณฑลฝูเจี้ยนบ่มเพราะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผู้สูงอายุและสร้างแบรนด์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น มณฑลเจียงซูได้ออก “แผนการดําเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุคุณภาพสูง” ในเดือนกันยายน 2567 โดยดําเนินการหลัก 6 ประการ ได้แก่ (1) การดําเนินการเสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม (2) การดําเนินการสนับสนุนบริษัทในการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (3) การดําเนินการบ่มเพาะนิคมอุตสาหกรรม (4) การสร้างแบรนด์สาธิตและแบรนด์ที่มีชื่อเสียง (5) การส่งเสริมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสําหรับผู้สูงอายุ และ (6) การส่งเสริมการบริโภคผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงอายุจากแนวคิดสู่การกระทําอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอว่าภายในปี 2570 ทั้งมณฑลจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมผู้สูงอายุมากกว่า 10 นิคม เพิ่มจำนวนบริษัทรายใหญ่ระดับมณฑลเป็น 20 แห่ง เมืองกวางโจว (เขตหวงผู่) ออกมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงอายุ 10 มาตรการ ประกอบด้วยด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรม โครงการ และนิคมอุตสาหกรรม โดยระบุว่าหนึ่งโครงการสามารถได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 10 ล้านหยวน และรวบรวมบริษัทในธุรกิจผู้สูงอายุมากกว่า 1,000 บริษัท เพื่อร่วมกันพัฒนาให้บรรลุมูลค่าอุตสาหกรรมทะลุแสนล้านหยวน และกิจกรรม/โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
และเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์ประจำสำนักคณะรัฐมนตรีแห่งชาติจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อแนะนํามาตรการปฏิรูปและพัฒนา/ยกระดับบริการบําเหน็จบํานาญแบบเจาะลึกและปลูกฝังศักยภาพการบริโภคของเศรษฐกิจผู้สูงอายุ โดยเน้นการให้บริการที่ดีและส่งเสริมคุณภาพ ตลอดจนขยายสาขาธุรกิจของเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความสามารถของบริษัท โดยสนับสนุนให้บริษัททุกประเภทมีส่วนร่วมในสาขาธุรกิจผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็ง เร่งการบ่มเพาะบริษัทชั้นนําในเศรษฐกิจผู้สูงอายุและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุในรูปแบบที่หลากหลาย (2) การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม โดยให้คำแนะนํากับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้ตรงกับกลุ่มสาขาตลาดและความต้องการของผู้บริโภค การปรับปรุงมาตรฐานและข้อกําหนดของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ (3) การขยายขนาดของตลาดเศรษฐกิจผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับสาขาสุขภาพทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเงินและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพตนเองและเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยว และความบันเทิงอื่นๆ ได้อย่างสะดวก
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุในตลาดจีนมีมากมายหลายประเภท เช่น เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ช่วยเดิน ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูสมรรถภาพและการพยาบาล ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมและความบันเทิง ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และของเล่น เป็นต้น ขนาดของตลาดผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของจีนมีมูลค่า 50,000 ล้านหยวนในปี 2566 อย่างไรก็ตามในแง่ของประเภทผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของโลก มีจำนวนมากกว่า 60,000 ชนิด ในประเทศญี่ปุ่นมีมากกว่า 40,000 ชนิด สำหรับประเทศจีนมีเพียงแค่ประมาณ 2,000 ชนิด จึงเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่มีโอกาสและศักยภาพสูง ด้วยสังคมจีนก้าวสู่วัยสูงอายุรวดเร็วขึ้น และการยกระดับการใช้ชีวิตของประชาชนจีนมีมากขึ้นในทุกมิติ กลุ่มผู้สูงอายุมีความต้องการด้านบริโภคเพิ่มมากขึ้น ในลักษณะที่หลากหลาย และมีความเป็นแบบเฉพาะตัวมากขึ้น ตัวอย่างในปีที่ผ่านมาของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายที่เว็บไซต์ Taobao และ Tmall เช่น เฟอร์นิเจอร์ มีมูลค่าการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 150 ของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ มีมูลค่าจำหน่ายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงของเล่นสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นมีฟังชั่นในด้านการช่วยออกกำลังกาย ฝึกสมอง และให้คุณค่าทางอารมณ์ มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็นศักยภาพใหม่ในเศรษฐกิจผู้สูงอายุ
ตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์และของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ ที่ได้รับความนิยมจากที่เว็บไซต์ Taobao
ความเห็น สคต.ณ เมืองหนานหนิง ด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของผู้สูงอายุในจีนได้ส่งเสริมโอกาสของผลิตภัณฑ์และสาขาธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอย่างมหาศาล ดังนั้น ตลาดผู้สูงอายุของจีนจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสสูงสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของไทย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบและมีชื่อเสียงในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ อุปกรณ์การดูแลทางการแพทย์ผู้สูงอายุ และธุรกิจบริการผู้สูงอายุ ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและวิเคราะห์ตลาดจีนเพิ่มเติม เพื่อหาโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน ตลอดจนการนำนวัตกรรมและอัตลักษณ์ไทยมาประยุกต์ปรับใช้หรือเพิ่มฟังชั่นการใช้งานเพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างและสร้างความโดดเด่นเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ บริโภคจีน
———————————————-
แหล่งที่มา:
http://www.ce.cn/cysc/newmain/yc/jsxw/202501/20/t20250120_39271505.shtml
https://www.ageclub.net/article-detail/4660
https://mp.weixin.qq.com/s/Io0sSD_sbP7gGg83eHJBMg
https://mp.weixin.qq.com/s/4T-AxSQz5gqNitVvm1-HhQ
https://www.chinairn.com/hyzx/20250110/110023586.shtml
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง