ท่าทีการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประธานาธิบดีทรัมป์

การดำรงตำแหน่งและการเริ่มต้นปฏิบัติงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยประธานาธิบดีทรัมป์และทีมที่ปรึกษาได้เริ่มงานแรกด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเกือบทุกเรื่องของรัฐบาลก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายถิ่นฐาน พลังงาน สภาพภูมิอากาศ เชื้อชาติ และเพศ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่น่าสังเกตอยู่หนึ่งประการ นั่นคือเรื่องภาษีศุลกากร ซึ่งแม้ว่าทรัมป์จะเคยกล่าวไว้ว่า “คำที่ไพเราะที่สุดในพจนานุกรมคือ ภาษีศุลกากร’” แต่ในสัปดาห์แรกที่เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กลับดูระมัดระวัง และไม่ได้เรียกเก็บภาษีศุลกากรร้อยละ 10 หรือร้อยละ 20 จากสินค้านำเข้าทั้งหมดตามที่เคยได้กล่าวไว้ในระหว่างการหาเสียง

หลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์มีเพียงกล่าวว่าจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับแคนาดา เม็กซิโก และจีน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งหลายฝ่ายยังมองว่าอาจเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเรียกร้องสัมปทานหรือต้องการต่อรองบางอย่างจากประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้สั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องประเมินความเป็นไปได้ของภาษีศุลกากรหากมีการเรียกเก็บในวงกว้างขึ้นและให้รายงานผลการพิจารณากลับมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณในการระมัดระวังของนายทรัมป์ก่อนจะดำเนินการ ซึ่งจากที่ผ่านมา การประเมินความเป็นไปได้เช่นนี้ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่เป็นปกติของทรัมป์

ในตลาดวอลล์สตรีท ซึ่งมักจะคัดค้านเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากร ได้สังเกตเห็นถึงความระมัดระวังของ       ประธานาธิบดีทรัมป์ดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นอีกครั้งเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.68) และนักวิเคราะห์ตลาดหุ้นกล่าวว่าการชะลอเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น

ท่าทีการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประธานาธิบดีทรัมป์

ทำไมประธานาธิบดีทรัมป์ถึงดำเนินการเรื่องภาษีศุลกากรอย่างรอบคอบมากขึ้น คำตอบน่าจะเป็นเรื่องความกังวลภายใน ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้ รัฐบาลชุดที่ 2 ของทรัมป์มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในประเด็นสำคัญส่วนใหญ่ อาทิ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นด้วยกับความสำคัญของการขยายการผลิตน้ำมันและก๊าซ  แต่ก็ยังมีความเห็นแย้งในหลายเรื่อง เช่น ในเรื่องการย้ายถิ่นฐาน การเพิ่มกฎเกณฑ์ชายแดนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและการเร่งการเนรเทศผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย โดยเฉพาะความเห็นแย้งภายในที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดว่าผู้อพยพที่มีทักษะสูงกลุ่มไหนที่ควรผ่านโครงการวีซ่า H-1B

สำหรับข้อถกเถียงภายในเรื่องภาษีศุลกากรค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าจะไม่มีใครคัดค้านเรื่องภาษีศุลกากรอย่างเปิดเผย แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนก็มีความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นภาษีศุลกากร รวมทั้ง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ รวมไปถึงกลุ่มวอลล์สตรีท (Wall Street) ด้วย

Jonathan Swan และ Maggie Haberman นักข่าวเศรษฐกิจของ New York Times ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ ทรัมป์มองว่าราคาหุ้นเป็นตัวชี้วัดผลการทำงาน

ในช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเขารู้ดีว่าชาววอลล์สตรีทส่วนใหญ่กังวลว่าภาษีอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ สูงขึ้น รวมทั้ง อาจเป็นการจุดประกายให้เกิดการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้จากประเทศอื่นด้วย

แนวโน้มว่าการเรียกเก็บภาษีศุลกากรใหม่อาจจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบของภาษีศุลกากรที่จะบังคับใช้นั้นยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในภาพรวม ทั้งนี้ เป้าหมายหลัก 3 ประการของการเก็บภาษีศุลกากรที่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวไว้ คือ

  1. เพื่อนำภาคการผลิตกลับเข้าประเทศ
    เบสเซนต์กล่าวว่าภาษีศุลกากรอาจจะมีบทบาทสำคัญในการ “แก้ไขการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม” ของต่างประเทศ โดยยกกรณี ประเทศจีนมาเป็นตัวอย่าง หากประเทศอื่นๆ สนับสนุนบริษัทของตนเองมากเกินไปหรือกีดกันคู่แข่งต่างชาติออกไป สหรัฐฯ ก็จะตอบโต้ด้วยทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางการค้า อย่างไรก็ดี นโยบายการขึ้นภาษีมีเป้าหมายที่กว้างกว่านั้น คือ ความต้องการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้ภาษีศุลกากรเพื่อกระตุ้นให้ภาคการผลิตกลับมาผลิตในสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตหรืออุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวด้านการทหารและความมั่นคง  ซึ่งการเพิ่มต้นทุนของการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะเป็นตัวช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาพิจารณาการผลิตภายในประเทศแทนการนำเข้า
  1. เพื่อเพิ่มรายได้ของสหรัฐฯ
    เป้าหมายที่ 2 ของเบสเซนท์คือ การเก็บภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอให้ลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลครั้งใหญ่ ซึ่งการเพิ่มภาษีศุลกากรจะเข้ามาทดแทนภาษีรายได้ที่สูญเสียไป รวมทั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดดุลของรัฐบาลกลางเพิ่มสูงขึ้น  ดังนั้น การลดภาษีรายได้โดยไม่มีอะไรมาชดเชยการลดการขาดดุลของรัฐบาลกลางอาจไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันยังได้เสนอให้ลดงบประมาณ Medicaid เพื่อให้ช่วยพยุงการขาดดุลของรัฐบาลกลางหากมีการลดภาษีรายได้ด้วย
  1. เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มอำนาจต่อรอง
    เป้าหมายที่ 3 ของเบสเซนท์คือการใช้ประโยชน์ในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ “ภาษีศุลกากรสามารถนำมาใช้เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองได้”  ซึ่งในสัปดาห์นี้ ทรัมป์ขู่รัสเซียด้วยการขึ้นภาษีศุลกากร เว้นแต่รัสเซียจะตกลงหยุดยิงในยูเครนอย่างสมเหตุผล รวมทั้ง ภาษีศุลกากรที่เขาวางแผนไว้สำหรับแคนาดาและเม็กซิโกก็เป็นความพยายามที่จะบังคับให้มีการผ่อนปรนนโยบายชายแดนและข้อตกลงการค้า นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้กล่าวกับบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจในเมืองดาวอส โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป โดยเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ยุโรปมาอย่างยาวนานว่ายุโรปไม่เพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เลยและควรใช้จ่ายกับกองทัพให้มากขึ้น โดยคาดว่ายุโรปอาจจะทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หากมีการขึ้นภาษีที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจจริง
    ท่าทีการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประธานาธิบดีทรัมป์

ฝ่ายบริหารของรัฐบาลทรัมป์ในกลุ่มที่มีความกังวลในเรื่องภาษีศุลกากรยังหวังว่ารัฐบาลทรัมป์จะใช้อัตราภาษีศุลกากรเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเจรจาหรือนำไปสู่การเปิดตลาดมากขึ้นเท่านั้น และจะไม่ได้มีผลบังคับใช้จริง อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ภาษีศุลกากร และอาจมีการบังคับใช้ภาษีศุลกากรต่อสินค้าบางชนิด ซึ่งขอบเขตของภาษีอาจขึ้นอยู่กับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังจากมีการบังคับใช้แล้ว หากภาษีศุลกากรเริ่มส่งผลกระทบเชิงลบตามที่นักวิจารณ์คาดการณ์ไว้ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กำไรที่ลดลง และสงครามการค้า ทรัมป์อาจยกเลิกก็เป็นได้

ข้อมูลอ้างอิง The New York Times

thThai