การใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคชาวรัสเซีย

ผลการศึกษาและสำรวจของ X5 Package  service ระบุว่า ชาวรัสเซียที่ตอบแบบสำรวจเกือบ 1 ใน 7 (15%) ใช้จ่ายเงินสำหรับค่าอาหารน้อยกว่า 10,000 รูเบิลต่อเดือน  และประมาณ 1 ใน 3 (34%) ใช้จ่ายเงินสำหรับค่าอาหาร 10,000-20,000 รูเบิลต่อเดือน และ  28% ใช้จ่ายเงินสำหรับค่าอาหาร 20,000-30,000 รูเบิลต่อเดือน ทั้งนี้ มีชาวรัสเซียผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 1% เท่านั้นที่ระบุว่า การใช้จ่ายสำหรับค่าอาหาร ที่สูงกว่า 50,000 รูเบิลต่อเดือนขึ้นไปถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า 61% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ชอบการใช้ส่วนลดและโปรโมชั่น (discounts and promotions) 12% ใช้บริการการได้รับเงินคืน (cashback services) และโปรแกรมความภักดี (loyalty programs) 5% มีการวางแผนเมนูสำหรับสัปดาห์ (plan a menu for the week) และ 9% ซื้อสินค้าทีละจำนวนมาก  (buy products in bulk) และ มีเพียง 13% เท่านั้นที่ไม่ได้เน้นการประหยัด (save)

 

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณครึ่งหนึ่ง (51%) มีการแวะไปร้านค้าสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ และ 40% ไปทุกวัน   7% ซื้อของชำสัปดาห์ละครั้ง และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ไปร้านค้าเมื่อจำเป็นหรือทุกสองสัปดาห์ ผลการศึกษาและสำรวจฯ ยังปรากฏด้วยว่า ชาวรัสเซียเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ทำอาหารทุกวัน และ 24% ทำอาหารสี่ถึงห้าครั้งต่อสัปดาห์  โดยมีผู้ตอบแบบสอบสำรวจเพียง 1% เท่านั้นที่ชอบสั่งอาหาร และ 3 % ทำอาหารเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์

 

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 41% ระบุว่า ส่วนใหญ่ซื้อของจากร้านค้าออฟไลน์และมีการสั่งซื้อทางออนไลน์ในบางครั้ง   18% ผสมผสานทั้งสองวิธี (ออฟไลน์และออนไลน์) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และมีเพียง 4% เท่านั้นที่เปลี่ยนมาช้อปปิ้งออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

 

ในตะกร้าซื้อสินค้าอาหาร ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ (51%) จะซื้อสินค้าฯ ที่ประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และธัญพืช 39% พยายามรวมกลุ่มอาหารให้หลากหลาย  7% เลือกผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็ง และ มีเพียง 1% ที่เลือกอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและซุปเปอร์ฟู้ด

 

ในการเลือกผลิตภัณฑ์ ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ (53%) ให้ความสำคัญกับคุณภาพและส่วนประกอบ และ 39% ให้ความสำคัญกับราคา ทั้งนี้ คำแนะนำจากเพื่อนและครอบครัว แบรนด์ผลิตภัณฑ์ และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการเลือกฯ น้อยกว่า  โดยมีชาวรัสเซียเพียง 2% เท่านั้นที่ให้ความสนใจกับแบรนด์ผลิตภัณฑ์

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับผลการศึกษาร่วมกันระหว่าง The X5 Club Loyalty Programs และ The Spirit (เครือข่ายฟิตเนสของคลับฟิตเนสเชิงเทคโนโลยี) ซึ่งระบุผลการสำรวจว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ (62.2%) เชื่อว่าได้ปฏิบัติตามหลักการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และ 91% ปรุงอาหารเพื่อสุขภาพที่บ้าน ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจ 35% ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะยึดมั่นกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยสาเหตุหลัก ได้แก่ การไม่มีเวลาทำอาหาร (56%) ขาดกำลังใจ (40%) และขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการทางโภชนาการ (23%)

 

จากผลการศึกษาและสำรวจข้างต้นที่ระบุว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ (53%) ให้ความสำคัญกับคุณภาพและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ และ 39% ให้ความสำคัญกับราคาของผลิตภัณฑ์ แต่จะให้ความสำคัญน้อยลงกับตัวแบรนด์ และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารมายังตลาดรัสเซียอาจพิจารณาวางแผนการตลาดในส่วนตลาดรัสเซีย โดยคำนึงถึงคุณภาพ ส่วนประกอบ และราคาของผลิตภัณฑ์ฯ เป็นสำคัญ โดยอาจพิจารณาปัจจัยด้านความสวยงามของรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ฯ เป็นปัจจัยรองๆ ลงมา อย่างไรก็ดี โดยที่ผู้บริโภคชาวรัสเซียส่วนมากมีมุมมองเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารของไทย ดังนั้น หากมีสิ่งใดที่สื่อถึงความเป็นไทยในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ฯ ก็น่าจะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นได้

 

ที่มา:

– Russians talk about spending on food, Study: Every third person spends about 20 thousand rubles a month on food (https://iz.ru/1827186/2025-01-24/rossiane-rasskazali-o-tratah-na-produkty)

thThai