Mesa de Participación (MPAC) หรือฟอรั่มที่เกิดจากการรวมตัวของสมาคมผู้บริโภคสเปน เปิดเผยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของชาวสเปนในช่วงปี 2024 โดย 8 ใน 10 คนมีการปรับแนวคิดและวิธีจับจ่ายสินค้าและบริการ เทรนด์ที่ชัดเจนโดดเด่นที่สุด คือ ความสะดวกสบาย ราคาและคุณภาพ เห็นได้จาก “ข้อเสนอและโปรโมชัน” มีผลต่อการช้อปปิ้งมากขึ้นจาก 18% ในปี 2023 เป็น 35% ในปี 2024
ปี 2024 พฤติกรรมผู้บริโภคในสเปนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีเทรนด์เด่นที่ขับเคลื่อนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการความสะดวกสบาย และการใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เทรนด์ใหม่ ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AR และ VR การมองหาประสบการณ์ที่เฉพาะตัว และการบริโภคอย่างยั่งยืน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจต้องจับตามองเพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทรนด์เหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปในปี 2025 อย่างไรก็ตาม เน้นหนักไปที่ “ความคุ้มค่า” ซึ่งหมายถึงการยอมจับจ่ายในสิ่งที่เชื่อว่าคุ้ม จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการจำนวนมากที่จะต้องสร้างคุณค่าและสื่อสารไปให้ถึงผู้บริโภคให้ได้
ความสะดวกสบาย ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญสูงสุด
ในยุคที่เวลาคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ผู้บริโภคในสเปน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อาศัยเมืองใหญ่กำลังมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยลดความยุ่งยากในชีวิต ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดระบุว่า 59% ของผู้บริโภคในสเปนกำลังมองหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตของชาวสเปนง่ายขึ้น นอกจากนี้ 40% ของผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพิ่มสำหรับบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดเวลา เช่น บริการจัดส่งสินค้าแบบรวดเร็ว หรือแอปพลิเคชันจัดการชีวิต ตัวอย่างเช่น บริการจัดส่งอาหารและสินค้าแบบรวดเร็วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกว่า 47% ของผู้บริโภคใช้บริการสั่งอาหารถึงบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แนวโน้มนี้ยังสะท้อนถึงความต้องการแอปพลิเคชันและระบบที่ช่วยจัดการชีวิต เช่น การสมัครสมาชิกเพื่อรับสินค้า การชำระเงินออนไลน์ หรือบริการที่ปรับแต่งได้ ธุรกิจที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความสะดวกสบาย จะได้รับความไว้วางใจและความจงรักภักดีจากผู้บริโภค
สินค้าพรีเมียม การเพิ่มมูลค่าผ่านคุณภาพและความพิเศษ
แม้ภาวะเศรษฐกิจจะผันผวน แต่ผู้บริโภคชาวสเปนยังคงมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งความต้องการสินค้าระดับพรีเมียมนั้นมีการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนคุณภาพและความหรูหรา เช่น อาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม หรือบริการที่ให้ประสบการณ์พิเศษ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 33% ของผู้บริโภคชาวสเปน (รวมถึง 41% ของ Gen X) ระบุว่าชาวสเปนนั้นชอบซื้อสินค้าในปริมาณที่น้อยลงแต่มีคุณภาพที่ดีกว่า ในขณะที่เพียง 16% ยอมซื้อสินค้าราคาถูกที่มีอายุการใช้งานสั้น นอกจากนี้ ตัวอย่างของการเติบโตในสินค้าและบริการแบบพรีเมียมที่เห็นได้ชัดในสเปนคือ ตลาดไวน์และผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นที่มีการพัฒนาระดับคุณภาพเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายนี้ ซึ่งยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในภาคการบริการ โรงแรมบูติกหรือแพ็กเกจท่องเที่ยวระดับพรีเมียมนั้นกำลังได้รับความนิยม ซึ่งธุรกิจที่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ให้ความรู้สึก “พิเศษ” จะสามารถดึงดูดใจกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาความโดดเด่น
นวัตกรรม ใช่ แต่ในราคาที่ดี
ความคุ้มค่า การจับจ่ายอย่างชาญฉลาดในยุคเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง
แม้ความต้องการสินค้าพรีเมียมจะเติบโต และการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมจะมาแรง แต่ผู้บริโภคชาวสเปน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ยังคงให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของราคาสินค้าควบคู่กันไปด้วย โดย 45% ของผู้บริโภค เผยว่าพวกเขามองหาสินค้าที่มีราคาสมเหตุสมผลและให้คุณค่าที่เหมาะสม การมองหาความคุ้มค่านี้เห็นได้ชัดจากการใช้โปรโมชั่นและส่วนลด รวมถึงการเปลี่ยนมาซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่า ธุรกิจที่นำเสนอโปรโมชั่นที่คุ้มค่าและเข้าถึงง่าย เช่น การสมัครสมาชิกแบบลดราคา หรือการให้รางวัลลูกค้าประจำ จะสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคนี้ได้
ชีวิตดิจิทัล เทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงผู้บริโภคในสเปน
เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวสเปน โดย 69% ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต และ 53% ยอมรับว่าขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ความก้าวหน้าของ AI และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การช้อปปิ้ง การทำธุรกรรมออนไลน์ และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย โดยกลุ่ม Millennials และ Gen Z เป็นผู้นำในเทรนด์นี้ โดย 47% ของ Millennials ซื้อสินค้าออนไลน์ทุกสัปดาห์ และ 23% ของ Gen Z ใช้เทคโนโลยี AR/VR เพื่อเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้ง ธุรกิจที่ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีอินเทอร์แอคทีฟจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ ความต้องการที่มากกว่าสินค้า
ยุคนี้ “การซื้อประสบการณ์” สำคัญกว่าการซื้อสิ่งของ 62% ของผู้บริโภคชาวสเปน ให้ความสำคัญกับการสร้างความทรงจำ เช่น การท่องเที่ยว การร่วมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และการสัมผัสวัฒนธรรมต่างๆ ธุรกิจที่สามารถนำเสนอประสบการณ์เฉพาะบุคคล เช่น แพ็กเกจท่องเที่ยวแบบปรับแต่ง หรือกิจกรรมพิเศษที่สร้างความประทับใจ จะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สินค้าปรับแต่งเฉพาะบุคคล การตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความเป็นเอกลักษณ์
เทรนด์การปรับแต่งสินค้าเฉพาะบุคคลกำลังเติบโตในสเปน โดย 34% ของผู้บริโภคชาวสเปน ยินดีจ่ายเงินเพิ่มสำหรับสินค้าหรือบริการที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของตัวเองได้ เช่น อาหารเสริมที่ปรับสูตรตามสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ออกแบบเฉพาะบุคคล ในยุคที่ผู้บริโภคคาดหวังการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้า การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและ AI ช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้าแบบ “made-to-order” ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความภักดีและความไว้วางใจจากผู้บริโภคยุคใหม่
ความหลากหลายและการยอมรับ
การส่งเสริมความเท่าเทียมและการยอมรับในสังคมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวสเปนให้ความสำคัญ 46% ของผู้บริโภค สนับสนุนแบรนด์ที่มีจุดยืนในเรื่องการยอมรับและการครอบคลุมทุกกลุ่ม กลุ่ม Millennials และ Gen Z เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเทรนด์นี้ ผู้บริโภคในยุคนี้คาดหวังให้แบรนด์นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เหมาะสมกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศ สีผิว หรืออัตลักษณ์ การออกแบบสินค้าที่ครอบคลุมความต้องการ เช่น เครื่องสำอางสำหรับทุกเฉดสีผิว หรือเสื้อผ้าที่เหมาะกับทุกสรีระ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดผู้บริโภคในยุคใหม่
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อในยุคดิจิทัล
หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคจำนวนมากในสเปนหันมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยที่ 47% ของ Millennials ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในขณะเดียวกันนั้น 20% ของ Baby Boomers ที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเนื่องจากอุปสรรคด้านความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการชำระเงินออนไลน์ และความต้องการเห็นสินค้าก่อนซื้อ โดย 41% ของ Baby Boomer ยังคงเลือกซื้อในร้านค้าเพราะรู้สึกว่าร้านค้ามีความน่าเชื่อถือมากกว่า ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคกลุ่มอายุน้อย เช่น Gen Z และ Millennials กำลังมองหาประสบการณ์การช้อปปิ้งที่น่าตื่นเต้นและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกในสเปนต้องพัฒนากลยุทธ์ Omnichannel เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น Zara หรือ Amazon ที่กำลังผสมผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อย่างประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการค้นพบและซื้อสินค้า ทั้งนี้ 24% ของ Gen Z เคยซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งสูงกว่ากลุ่ม Baby Boomers ที่มีเพียง 12% นอกจากนี้ เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ยังเริ่มมีบทบาทสำคัญในประสบการณ์การช้อปปิ้ง โดย 23% ของ Gen Z ใช้ AR หรือ VR เพื่อช่วยตัดสินใจซื้อสินค้า การผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับกลยุทธ์ Omnichannel ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ในสเปนได้อย่างแท้จริง
ความยั่งยืน เทรนด์ผู้บริโภคที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ 59% ของผู้บริโภคชาวสเปน โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomers (71%) หันมาเลือกใช้สินค้าที่ยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน “free range” หรือ “fair trade” ความสนใจนี้ยังรวมถึงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ (28%) และลดการใช้พลังงาน (48%) เทรนด์นี้กำลังผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัว เช่น การพัฒนาสินค้าที่ลดการใช้พลาสติกและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: เทรนด์ผู้บริโภคที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิต
หลังการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคชาวสเปนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดย 41% รับประทานอาหารเสริมเป็นประจำ และ 44% ควบคุมการรับประทานอาหารเพื่อจัดการน้ำหนัก การออกกำลังกายยังได้รับความนิยม โดย 73% ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และในกลุ่ม Gen Z 54% ฝึก Strength Training เป็นประจำ ส่งผลให้ตลาดอาหารเสริมโปรตีนและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากสินค้าและบริการแล้ว เทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชันติดตามการออกกำลังกายที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ยังเติบโตขึ้นอีกด้วย โดยภาพรวม ธุรกิจที่เน้นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพทั้งในรูปแบบดิจิทัลและผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลจะมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้เป็นอย่างมาก
เทรนด์สำคัญในธุรกิจค้าปลีกที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว
แนวโน้มที่จะมีบทบาทต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคสเปนในปีนี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ร้านค้าจึงต้องให้ความสำคัญกับการรู้จักลูกค้าของตนมากขึ้น เทรนด์สำคัญ ได้แก่
- การหาข้อมูลทางออนไลน์ ซื้อออฟไลน์ หรือ Research Online, Purchase Offline (ROPO)
- การเชื่อในเทคโนโลยี AI
- การจับจ่ายแบบ Omnichannel
- การมองหาคุณค่าความแตกต่างในสินค้าหรือบริการ ในราคาที่คุ้มค่า
- การจับจ่ายอย่างมีสติ รักษ์โลก มุ่งสู่ความยั่งยืน
- การมองหาประสบการณ์เฉพาะตัว
ข้อคิดเห็น สคต.
ตลาดสเปนยังมีช่องว่างสำหรับสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพ ช่วยสร้างประสบการณ์พิเศษ และราคาเหมาะสม โดยการสื่อสารข้อมูลที่ตรงใจและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญเพราะชาวสเปนใส่ใจในการเสาะหาสืบค้นข้อมูล ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาทำความเข้าใจผู้บริโภค คู่ค้าและคู่แข่งในตลาด ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถ่องแท้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
มกราคม 2568
ที่มา
1. Euromonitor
2. สำนักข่าวรัฐสภาสเปน La Moncloa
3. Mesa de Participación (MPAC)