สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายเครือข่ายข้อตกลง CEPAs เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากความเสี่ยงทางการค้า

นาย Mohammed Alhawi ปลัดกระทรวงการลงทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการขยายข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreements : CEPA) ในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The National ระหว่างการประชุม World Economic Forum 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเน้นว่า CEPA มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจของยูเออีจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น สงครามการค้า และเพื่อรับประกันการเข้าถึงตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ยูเออีได้มุ่งเน้นขยาย CEPAs เพื่อเสริมสร้างสถานะของประเทศในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนระดับโลก ข้อตกลง CEPAs ที่ลงนามและให้สัตยาบันแล้วทำให้ยูเออีสามารถเข้าถึงตลาดที่มีประชากรรวมกว่า 3 พันล้านคน และตั้งเป้าหมายที่จะลงนามข้อตกลง CEPAs เพิ่มเติมในปี 2568 และ 2569

1.การดำเนินการและเป้าหมาย

กระทรวงการลงทุนของยูเออีได้จัดทำสมุดปกขาวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด วัตถุประสงค์ และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายดึงดูดธุรกิจการเงิน เช่น สำนักงานธุรกิจครอบครัว กองทุนเฮดจ์ฟันด์ บริษัทเงินทุนส่วนบุคคลมายังเมืองสำคัญอย่างอาบูดาบีและดูไบ พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการเติบโต

เมื่อต้นปี 2568 ยูเออีได้ลงนามข้อตกลง CEPAs กับนิวซีแลนด์ มาเลเซียและ เคนย่า เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ และมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลง CEPAs จำนวน 26 ฉบับ ขณะนี้ยูเออีได้ลงนามแล้วกับประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ตุรกี อินโดนีเซีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ และกำลังเจรจากับประเทศอื่นๆ รวมถึงฟิลิปปินส์

  1. ผลกระทบและโอกาสทางเศรษฐกิจ

Dr. Thani Al Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของยูเออี ระบุว่า CEPAs สามารถช่วยเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของยูเออีได้ถึง 2.6% ภายในปี 2573 โดยการดึงดูดบริษัทระดับโลกมาตั้งฐานการผลิตและส่งออกสินค้าไปทั่วโลก โดยอาศัยทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ครอบคลุมทั้งทางอากาศ   ทางบก และทางทะเล ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ยูเออีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.6% ต่อปี โดย GDP ที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้น 4.4% หรือคิดเป็น 75% ของ GDP รวม ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

  1. การเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ยูเออีมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองในโลกอาหรับ กำลังเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  (FDI) เพื่อสนับสนุนการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาน้ำมัน และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในระยะยาว

ในปี 2566 ยูเออีสามารถดึงดูด FDI ไหลเข้าถึง 30.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 22.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 คิดเป็นการเติบโตถึง 35% ต่อปี ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2567 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ขณะเดียวกัน FDI ไหลออกจากยูเออีในปี 2566 อยู่ที่ 22.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจาก 24.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 ในแง่ของยอดรวม FDI สะสม ยูเออีมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยระหว่างปี 2556 ถึง 2565 ยอดรวม FDI ของประเทศเพิ่มขึ้น 150% เทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ 97% ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในเศรษฐกิจยูเออี

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยูเออีได้เปิดตัวกลยุทธ์ใหม่เพื่อเพิ่มยอด FDI สะสมเป็น 354 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2574 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกระจายเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ยูเออีตั้งเป้าหมายดึงดูด  การลงทุนต่างประเทศ 150 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2574 และเพิ่มเป็น 273 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2594 นอกจากนี้ ยูเออียังตั้งเป้าที่จะติดอันดับ 10 ประเทศแรกของโลก ในด้านการดึงดูด FDI

เพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม ยูเออีได้ดำเนินการริเริ่มหลายอย่าง เช่น อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์บริษัทได้เต็ม 100% ลดข้อจำกัดด้านวีซ่าเพื่อส่งเสริมการเข้าถึง และเสนอสิ่งจูงใจแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการดำเนินมาตรการเหล่านี้ ยูเออีมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและเสริมความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลก

4.การปฏิรูปและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

ท่ามกลางแนวโน้มการปกป้องทางการค้าและความไม่แน่นอนของเส้นทางการค้าโลก ยูเออีได้ใช้เครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เช่น ท่าเรือดูไบและอาบูดาบี เพื่อรับมือกับการหยุดชะงักทั่วโลก นอกจากนี้ ยูเออีได้ดึงดูดบริษัทระดับโลกผ่านปัจจัยที่น่าสนใจ เช่น โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก เขตปลอดภาษีที่มีมากกว่า 40 แห่ง และการปฏิรูปกฎหมายที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

ยูเออียังเน้นการพัฒนาภาคการเงินและการผลิต โดยมีกลยุทธ์ Operation 300bn ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP จาก 36.21 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 82 พันล้านเหรียญสหรัฐ      ภายใน  ปี 2574 เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวและตอกย้ำบทบาทของยูเออีในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต

แนวโน้มความร่วมมือกับประเทศไทย

ยูเออีมองประเทศไทยเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในภาคพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศมีโอกาสเพิ่มปริมาณการค้าร่วมและส่งเสริมความร่วมมือในโครงการด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ปัจจุบันไทยกับยูเออีอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม (CEPA)      ซึ่งการจัดทำความตกลงฉบับนี้ เป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง โดยยูเออีเป็น คู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร       และการคมนาคมในตะวันออกกลาง ตลอดจนเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค

ในปี 2567 ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับยูเออีประมาณ 20,688 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+8.5%)  การส่งออกของไทยมีมูลค่า 3,641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+9.8%)  และนำเข้า 17,047 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+8.3%) การจัดทำความตกลง CEPA กับยูเออีลุล่วง จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังยูเออีได้มากขึ้น

—————————————————————

thThai