โรมาเนียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดหนี้สาธารณะ หาช่องทางเพิ่มรายได้ เปิดโอกาสสินค้าไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาด

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมกราคม 2568 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากปัจจัยหลายประการ ประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย รวมทั้งดูแลสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่ไปด้วยกัน ประเทศโรมาเนียประสบปัญหาการตั้งงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายได้มากกว่ารายได้ แต่การขาดดุลงบประมาณติดต่อกันหลายปี ก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลก็จำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้ หนึ่งในนั้น คือการเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การกู้ยืมเงินจากทั้งสถาบันการเงินในประเทศ และสถานบันการเงินจากต่างประเทศ ดังนั้น หนี้ที่กู้ยืมมาในสกุลเงินต่างประเทศ จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะจะนำมาเปรียบเทียบกับ GDP เพื่อประเมินขนาดหนี้ของภาครัฐเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ ซึ่งหากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับสูงขึ้น ก็หมายถึงเสถียรภาพทางการคลังที่เปราะบางลง และภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องจ่ายคืนในอนาคต ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตร และท้ายสุด เมื่อการขาดดุลงบประมาณในประเทศในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต นอกจากรัฐบาลจึงต้องปรับขึ้นภาษีแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น คือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

 

อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของรัฐบาลโรมาเนีย ในปี 2023 เท่ากับ 49% และคาดว่าจะเท่ากับ 70% ของ GDP ภายในปี 2028 หากรัฐบาลไม่มีมาตรการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขปัญหางบประมาณที่ขาดดุลต่อเนื่อง มีหลักการหลักๆ อยู่สองทาง คือเพิ่มรายได้มากขึ้น จากการค้า การลงทุน และสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และการเพิ่มการจัดเก็บภาษี

 

เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา นายอียอน-มาร์เชล โชลากู (Mr. Ion-Marcel Ciolacu) นายกรัฐมนตรีโรมาเนียที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ ได้ประกาศมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อรับมือกับวิกฤตการขาดดุลงบประมาณ โดยมาตรการใหม่นี้ มีประเด็นต่างๆ อาทิ

 

    • ปรับขึ้นภาษีและกำหนดเพดานเงินอุดหนุนหลายรายการ รวมถึงค่าจ้างและเงินบำนาญของ ภาคส่วนสาธารณะ ซึ่งจะปรับตามดัชนีตั้งแต่เดือนมกราคม 2025 เป็นต้นไป
    • เพิ่มภาษีเงินปันผลของบริษัทจาก 8% เป็น 10% และลดเกณฑ์ภาษีสำหรับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งในโรมาเนียหมายถึงบริษัทที่มีพนักงานไม่เกิน 3 คน และมีรายได้ไม่เกิน 500,000 ยูโรต่อปี
    • ยกเลิกการยกเว้นภาษีและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคส่วนที่สร้างรายได้ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมไอทีและการก่อสร้าง
    • การเพิ่มภาษีเงินปันผลจาก 8% เป็น 10%
    • การลดเกณฑ์ภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งกำหนดว่าเป็นบริษัทที่มีพนักงานไม่เกิน 3 คน และรายได้ต่อปีไม่เกิน 500,000 ยูโร (หรือประมาณ 17,635,000 บาท)

 

นายบาร์นา ทันซอส (Barna Tánczos) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของโรมาเนีย คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 130,000 ล้านเลย์ (ประมาณ 26,140 ล้านยูโร หรือประมาณ 916,262 ล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2025 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการแก้ไขวิกฤตการขาดดุลที่พุ่งสูงขึ้นของประเทศ

 

นายทันซอสยังระบุอีกว่า ปัจจุบัน โรมาเนียขาดดุลประมาณ 8.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทำให้เป็นประเทศที่ขาดดุลมากที่สุดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ในสหภาพยุโรป แม้ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรปกลางก็ตาม

 

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นว่าเงินบำนาญจะได้รับการปรับขึ้นอัตราในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 หรือผู้ที่มีเงินบำนาญเพียงเล็กน้อยจะได้รับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งเดียวจากรัฐบาลเพื่อบรรเทาภาระ โดยจะลดภาษีแรงงานลงทีละน้อยถึง 5% สำหรับผู้มีรายได้น้อยและครอบครัวที่มีบุตร

 

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่กล่าวเสริมว่าภายในสิ้นปี 2025 หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน รัฐบาลควรลดการขาดดุลลงได้เหลือ 7% ของ GDP และรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลลงเหลือ 2.5% ในช่วงเวลา 7 ปี โดยมีมาตรการอีกหลายอย่างที่เตรียมนำมาใช้

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากการประท้วงในกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวง โดยพนักงานของภาคสนามที่ได้รับผลกระทบบ่นเกี่ยวกับ “การลดเงินเดือน” ตำรวจเรือนจำยังประท้วงหน้าเรือนจำและประกาศว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะทำงานล่วงเวลา เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับเงินสำหรับชั่วโมงพิเศษอีกต่อไป ผู้ประท้วงเตือนรัฐบาลว่า “วิกฤตทางการเงินก่อให้เกิดวิกฤตทางสังคม” และเคลื่อนไหวเพื่อให้เรียกมาตรการใหม่นี้ว่าเป็น “รูปแบบใหม่ของการเป็นทาสสมัยใหม่”

 

แต่นายอียอน-มาร์เชล โชลากู หวังว่าประชาชนจะเข้าใจว่ามาตรการใหม่เหล่านี้ ว่าไม่ได้เป็นการกลับไปสู่มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง เหมือนอย่างในช่วงทศวรรษที่ 1980[1] แต่รัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะต้องลดการใช้จ่ายของรัฐลงอย่างน้อย 1% ของ GDP เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของสหภาพยุโรป

 

มาตรการเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากสหภาพยุโรป ที่สนับสนุนให้โรมาเนียลดการขาดดุลการคลัง ให้ต่ำกว่า 3% ของ GDP ภายในปี 2030 เนื่องจากโรมาเนียอยู่ภายใต้ขั้นตอนการขาดดุลเกินควรของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งกำหนดให้โรมาเนียต้องยื่นแผนระยะหลายปีเพื่อแสดงให้เห็นต่อคณะกรรมาธิการยุโรปว่าตั้งใจจะลดการขาดดุลและปฏิบัติตามเพดานของสหภาพยุโรปที่ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

มาตรการที่รัฐบาลโรมาเนียต้องการปรับสมดุลทางการคลัง ทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจให้เงินช่วยเหลือโรมาเนียจำนวนหลายพันล้านยูโร (มากกว่า 7 หมื่นล้านยูโร ภายในปี 2027) การได้รับความสนับสนุนเช่นนี้ ส่งผลสำคัญต่อการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของโรมาเนียอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

มาตรการลดหนี้สาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP ของโรมาเนียในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะต้องมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ แต่การสนับสนุนทางการค้า การส่งออก/นำเข้า ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าแพงขึ้น อาจเป็นช่องทางของสินค้าไทยที่มีคุณภาพ และอาจมีต้นทุนต่ำกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และสินค้าสุขภาพและความงาม เป็นต้น ซึ่งตอบสนองความต้องการของตลาดโรมาเนียที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

 

ปี 2024 ผ่านมา ประเทศโรมาเนียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 64 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 481.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,990.28 ล้านบาท) เป็นการส่งออกมูลค่า 291.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,232.07 ล้านบาท) และการนำเข้ามูลค่า 190.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,758.21 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 101.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,473.87 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.70% โดยสินค้าที่โรมาเนียต้องการจากไทย อาทิ อุปกรณ์รถยนต์ ชิ้นส่วน อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ยางพารา และเครื่องดื่ม เป็นต้น

 

[1] ช่วงทศวรรษที่ 1980 ขณะนั้น ประเทศโรมาเนียชื่อว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย อยู่ภายใต้รัฐบริวารโซเวียต ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย นำโดย Nicolae Ceaușescu เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียคนสุดท้ายของประเทศโรมาเนีย

ในปี ค.ศ. 1981 รัฐบาลโรมาเนียจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อนำไปชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมในช่วงทศวรรษที่ 1970 หนี้สินเหล่านี้เป็นผลมาจากวิกฤตพลังงานโลกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศต้องพึ่งพาการกู้ยืมจากต่างชาติอย่างหนัก นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในปี 1974 ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลโรมาเนียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลโรมาเนียในขณะนั้นจึงต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบรัดเข็มขัด โดยลดการใช้จ่ายภาครัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อชำระหนี้คืนให้ IMF เป็นลำดับแรก

ผลกระทบของมาตรการดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจโรมาเนียตกต่ำ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนก็ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ด้วยปัจจัยทั้งปวงนี้ จึงนำไปสู่การปฏิวัติโรมาเนียในเดือนธันวาคม ปี 1989 และการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปี 1988-1992

 

แหล่งข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มกราคม 2568

 

thThai