“ญี่ปุ่นจัดตั้งระบบการรับรองมาตรฐานและเข้าร่วมงานมหกรรมสุขภาพ”

ญี่ปุ่นได้จัดตั้งระบบการรับรองมาตรฐานและเข้าร่วมงานมหกรรมสุขภาพเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและรับรองคุณภาพของการรักษาพยาบาลในประเทศ โดยสมาคมนิทราเวชศาสตร์แห่งญี่ปุ่น (SHA – Sleep Healthcare Association) ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งหมด 19 บริษัท โดยให้บริการสินค้าและบริการด้านการนอนในแง่ของการดูแลสุขภาพเป็นหลัก สมาคมดำเนินการภายใต้การควบคุมของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนอนและบริการด้านการนอนในแง่ของการดูแลสุขภาพ การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานของตนเอง รวมถึงการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจถึงความสำคัญของการนอน

ในเดือนกรกฎาคมปี 2567 สมาคมฯ ได้เปิดตัว “ใบรับรองตัวช่วยในการนอน (Sleep Support Certification)” ซึ่งเป็นระบบการรับรองที่ประเมินหลักฐานอันเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการด้านการนอน กระบวนการรับรองประกอบด้วย ① การยื่นขอหลักฐานสำหรับสินค้าหรือบริการแต่ละชนิด และ ② การตรวจสอบโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก โดยมีเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าหลักฐานที่นำเสนอมาต้องมีความถูกต้อง เป็นกลาง และผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องอย่างไรบ้าง“ญี่ปุ่นจัดตั้งระบบการรับรองมาตรฐานและเข้าร่วมงานมหกรรมสุขภาพ”
ในระยะที่ 1 เราได้รับรองผลิตภัณฑ์แล้ว 3 รายการ ส่วนผลการรับรองของระยะที่ 2 จะมีการเผยแพร่ในเดือนเมษายนนี้ และสำหรับระยะที่ 3 มีแผนที่จะรับรองผลิตภัณฑ์ทางอาหาร
ในด้านการโฆษณา คำกล่าวที่ว่า “เพิ่มคุณภาพของการนอน” ซึ่งเคยเป็นคำโฆษณาที่ถูกห้ามใช้มาก่อน ก็อาจใช้ได้ตามข้อกำหนดหากมีหลักฐานรองรับ ส่วนเกณฑ์ในการประเมินมาตรฐานคือ ① การดำเนินการทดสอบ ซึ่งต้องเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการและภาคอุตสาหกรรม หรือเป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องต่างเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ② การได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญอย่างอิสระ เป็นกลาง และมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือเป็นเอกสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยต้องผ่านเกณฑ์ ① หรือ ② เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง
นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้รายงานในที่ประชุมว่าได้พิจารณาการเข้าร่วมแสดงสินค้าในงานมหกรรม โดยงานมหกรรมดังกล่าวคือ โครงการที่จัดขึ้นพร้อมกันกับโอซากา เอ็กซ์โป จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน ถึง 13 ตุลาคม 2568 ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างบริษัท สถาบันวิจัย และประชาชน มีการแสดงผลงาน การทดลอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการพิสูจน์ผลต่างๆ ซึ่งทางสมาคมได้พิจารณาถึงการนำเสนอเมนูอาหารที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนและแสดงการทดลองซึ่งเป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวัดข้อมูลต่างๆ เป็นต้น
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ระยะเวลาการนอนโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำสุดของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ มีการคาดการณ์ถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหานอนไม่หลับว่ามีมูลค่ามากถึง 18 ล้านล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท) ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคที่มีปัญหาการนอนไม่หลับเพิ่มสูงขึ้น มีการคาดการณ์ขนาดของตลาดสินค้าที่ระบุว่าช่วยปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพในการนอนของปี 2564 ว่ามีสัดส่วนมากถึง 134 พันล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 48,200 ล้านบาท) และในปี 2565 ว่ามีสัดส่วนมากถึง 140 พันล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 50,400 ล้านบาท) เป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มว่าตลาดจะขยายตัวไปอีกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีตลาดที่เกี่ยวข้องกับการนอนอย่างเช่นเครื่องนอนและยานอนหลับที่มีสัดส่วนประมาณ 1.2 ล้านล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4.3 แสนล้านบาท) และตลาดที่มีศักยภาพอีกประมาณ 3 ถึง 5 ล้านล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.01 – 1.8 ล้านล้านบาท)
โอกาสใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทย
TENNEL ได้รับการรับรองประเภท Gold ครั้งแรกจากระบบรับรองตัวช่วยในการนอน ด้วยชุดนอนรุ่น BAKUNE ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านชุด (ชุดนอนแบบเสื้อและกางเกงคู่กัน) ณ เดือนมกราคมปี 2568 โดยมีการใช้เส้นใยพิเศษชื่อว่า “SELFLAME®︎” ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและยังมีคุณสมบัติช่วยในการฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้า ชุดนอนรุ่น BAKUNE นั้นมีราคา 26,780 เยนต่อชุด (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8,400 บาท) เป็นราคาที่สูงกว่าชุดนอนทั่วไปประมาณ 2-8 เท่า แต่สามารถทำยอดขายได้ 700,000 ชุดในระยะเวลา 3 ปีครึ่งตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 จนกระทั่งได้รับการรับรอง และขายได้ประมาณ 300,000 ชุดหลังจากได้รับการรับรองเมื่อเดือนกันยายนปี 2567 ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน เห็นได้ว่าการได้รับใบรับรองตัวช่วยในการนอนได้ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ BAKUNE ได้บางส่วน นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่าในตลาดญี่ปุ่น ผู้บริโภคมีความคิดว่า “ขอแค่นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น แม้ต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ยินดี” จากข้อมูลข้างต้นนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แปลและเรียบเรียงจาก

หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2568

thThai