📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมกราคม 2568 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
สำนักงานสถิติแห่งชาติโครเอเชีย (Državni zavod za statistiku: DZS) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของโครเอเชียในปี 2024 และ 2025 และ 2026 จะอยู่ในช่วงระหว่าง 3.0% – 4.0% และคาดว่าในปี 2026 จะลดต่ำลงเหลือประมาณ 2.0% จากที่ในช่วงปี 2022 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.0% (YoY) และปี 2023 อยู่ที่ 10.8% (YoY)
ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของโครเอเชียจะมีแนวโน้มลดลง แต่ทว่าราคาสินค้าจริงที่ทำการซื้อขายในตลาดปรับราคาขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ชาวโครเอเชียมีความสามารถในการจับจ่ายสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคที่แพงกว่าประเทศข้างเคียง นอกจากนี้ การที่โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 ทำให้ผู้จำหน่ายสินค้าจำนวนหนึ่งฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าจากการปรับเปลี่ยนการใช้ค่าเงิน จากสกุลคูน่ามาเป็นสกุลยูโร
อัตราเงินเฟ้อของโครเอเชีย ตั้งแต่ปี 2016 – 2025 (คาดการณ์)
รัฐบาลโครเอเชียต้องการช่วยเหลือลดค่าครองชีพของประชาชนด้วยการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2025 ให้เพิ่มเป็น970 ยูโรต่อเดือน (ก่อนหักภาษี) (ประมาณ 34,170 บาท) เพิ่มขึ้น 130 ยูโรเมื่อเทียบกับปี 2024 ประมาณ 15.5% นอกจากนี้ รัฐบาลโครเอเชียจะตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 20 รายการ เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 อาทิ ขนมปังทำจากแป้งข้าวสาลี แป้งโปเลนต้าสำเร็จรูปบรรจุแพ็คละ 1 กิโลกรัม ข้าวโอ๊ตบรรจุแพ็คละ 500 กรัม เนื้อปลาเฮก (Hake) แช่แข็ง แฮม ตับบด เนื้อปลาซาร์ดีนในน้ำมันพืช เนย ชีสจากนมวัวน้ำหนัก 500 กรัม ส้ม กล้วย หัวหอมใหญ่สีแดง ดอกกะหล่ำ ถั่วลันเตาแช่แข็งบรรจุแพ็คละ 400-500 กรัม เนื้อวัวเลาะกระดูกออก ผงซักฟอกบรรจุแพ็คละ 3-4 กิโลกรัม น้ำยาล้างจานบรรจุแพ็คละ 400-500 กรัม เป็นต้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลโครเอเชียยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มาตรการตรึงราคาสินค้าในกลุ่มนี้จะนำมาใช้ในระยะเวลาเท่าไหร
มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่ประชาชนจำนวนมากมองว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และยังไม่ดีพอ เพราะแม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่ในชีวิตจริง ราคาสินค้ายังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง การบริการในภาคธนาคารและโทรคมนาคม
เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Halo, Inspektore” ที่เดิมเริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในโครเอเชีย พร้อมด้วยคณะเคลื่อนไหวภาคประชาชนในประเทศโครเอเชียหลายกลุ่ม จึงทำแคมเปญเรียกร้องให้ผู้บริโภคชาวโครเอเชียร่วมกันคว่ำบาตรร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน เป็นเวลา 1 วัน ในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2025 เพื่อส่งสัญญาณความไม่พอใจของประชาชนต่อภาวะเงินเฟ้อ และผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่ยังคงขึ้นราคาสินค้าอยู่อย่างต่อเนื่อง และกดดันภาครัฐและธุรกิจให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นและค่าครองชีพที่ไม่สมดุลกับสภาวะความเป็นจริงของเศรษฐกิจ
การเรียกร้องครั้งนี้ดูเหมือนจะสามารถส่งสัญญาณความไม่พอใจของประชาชนให้รัฐบาลตระหนักมากขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้ สำนักงานสรรพากรประเทศโครเอเชีย รายงานผลกระทบทางการเงินจากการคว่ำบาตรร้านค้าในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2025 ที่ผ่านมาว่าการคว่ำบาตรร้านค้าส่งผลให้จำนวนการทำธุรกรรมรายวัน ลดลง 44% และยอดขายลดลง 53% เมื่อเทียบกับวันศุกร์ในสัปดาห์ก่อน (วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2025 มียอดขายรวม 60.5 ล้านยูโร แต่วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2025 เหลือเพียง 28.6 ล้านยูโร ลดลงถึง 31.9 ล้านยูโร)
กลุ่มประชาชนผู้จัดการเฟซบุ๊คแฟนเพจ “Halo, Inspektore” จึงมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และประกาศเชิญชวนให้ประชาชนชาวโครเอเชียออกมาแสดงพลังคว่ำบาตรครั้งต่อไป ในวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2025 และอาจจะประท้วงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้จะขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการจับจ่ายซื้อของทั้งหมด ไม่ใช้บริการธุรกรรมกับธนาคาร ไม่ใช้บริการโทรคมนาคม งดเติมน้ำมันรถยนต์ งดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงงดใช้บริการร้านกาแฟและร้านอาหารอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้นำการประท้วงฯ ย้ำว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสงบ และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ชาวโครเอเชียมีการเคลื่อนไหวในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ครั้งนี้ นับเป็นการแสดงออกในประเด็นด้านเศรษฐกิจซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นในโครเอเชีย อย่างไรก็ดี การคว่ำบาตรฯ ครั้งนี้ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ และอาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวเองไม่สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นด้วย
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลโครเอเชียวางแผนดำเนินการต่อไป อาทิ การช่วยอุดหนุนภาคการผลิตให้สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้ เนื่องจากในขณะนี้ ต้นทุนบางส่วนที่แท้จริงถูกซ่อนอยู่ในกลไกของตลาดและระบบการจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงการปรับโครงสร้างทางภาษี โดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหาร ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การตรึงราคาสินค้าอย่างเข้มงวดอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และมักก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่นแทน เช่น ผู้จัดจำหน่ายปรับขึ้นราคาสินค้ารายการอื่นแทน เพื่อชดเชยกำไรที่หายไป เป็นต้น
💭 บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭
การเคลื่อนไหวของชาวโครเอเชียในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล แต่ก็เป็นการสะท้อนความไม่พอใจในการดูแลประชาชนของรัฐบาล ทั้งนี้ ร้านอาหารไทยที่ดำเนินธุรกิจในโครเอเชียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะมีการคว่ำบาตรภาคบริการด้วย และการลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวโครเอเชีย ส่งผลต่อการซื้อสินค้าจากไทย เพราะทุกครอบครัวต้องรัดเข็มขัด ซื้อของเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้สินค้าไทยที่เคยเป็นที่นิยมของชาวโครเอเชีย โดยเฉพาะเครื่องปรุงอาหารไทย และวัตถุดิบประกอบอาหาร ซึ่งชาวโครเอเชียพิจารณาว่าไม่ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น อาจได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายได้ลดลง โดยสินค้าส่งออกหลักจากไทยมายังโครเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหาร โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออก คิดเป็น 13.6% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยมายังโครเอเชียทั้งหมด ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งการเคลื่อนไหวของชาวโครเอเชีย และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
แหล่งข้อมูล
-
- https://balkaninsight.com/2568/01/24/croatians-boycott-stores-for-one-day-over-surging-prices/
- https://dzs.gov.hr/news/the-prices-in-december-2567-increased-by-3-4-at-the-annual-level/2110
- https://ec.europa.eu/eurostat/statistics-explained/index.php?title=Inflation_in_the_euro_area
- https://ec.europa.eu/eurostat/web/products-euro-indicators/w/2-17012568-ap
- https://glashrvatske.hrt.hr/en/economy/retail-transactions-down-44-after-boycott-11979046
- https://net.hr/danas/vijesti/ekskluzivno-doznajemo-ovo-je-popis-20-novih-proizvoda-kojima-ce-cijena-bitiogranicena-d4e44f14-d431-11ef-a77b-829ff0affdfc
- https://podaci.dzs.hr/2567/en/76996
- https://total-croatia-news.com/news/croatian-wage-growth-eu/
- https://tradereport.moc.go.th/th/stat/reportcomcodeexport03
- https://www.croatiaweek.com/croatia-to-boycott-three-chains-and-products-in-new-protest-against-prices/
- https://www.ksh.hu/stadat_files/gdp/en/gdp0080.html
- https://www.sabor.hr/en/press/news/prime-minister-average-wage-rise-eu1600-end-governments-term
- https://www.tportal.hr/vijesti/clanak/cetiri-sdp-ove-mjere-za-borbu-protiv-inflacije-evo-sto-predlazu-25680124
- https://www.tportal.hr/vijesti/clanak/ekonomija-ne-ideologija-sto-to-pokazuje-bojkot-trgovina-25680128
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มกราคม 2568