เนื้อหาสาระข่าว: ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่นาน รัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ในสมัยที่สอง หรือที่เรียกกันว่า “ทรัมป์ 2.0” ก็ได้ออกประกาศลงนามคำสั่งไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการวางกรอบทิศทางการดำเนินนโยบายทางการค้าซึ่งใช้ชื่อว่า “นโยบายทางการค้าสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” (America First Trade Policy) เผยแพร่บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของทำเนียบขาว (The White House) โดยมีรายละเอียดพันธกิจและหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินและกำหนดนโยบายทางการค้า ได้แก่ 1) การกระทรวงการต่างประเทศ 2) กระทรวงการคลัง 3) กระทรวงกลาโหม 4) กระทรวงพาณิชย์ 5) กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ 6) สำนักงานการบริหารและงบประมาณ 7) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ 8) ผู้ช่วยประธานาธิบดีด้านนโยบายเศรษฐกิจ 9) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิต

โดยสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ของชุดนโยบายทางการค้าและเศรษฐกิจของทรัมป์ 2.0 นั้น จะเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจ แรงงาน และความมั่นคงของสหรัฐฯมาก่อน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสถียร การเติบโตทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าอัตราค่าจ้างที่แท้จริงและรายได้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และการลดอัตราการขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ และสำหรับทรัมป์ 2.0 นโยบายทางการค้าจะถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ และการลดการพึ่งพาปัจจัยจากต่างชาติเพื่อตอบสนองต่อกิจการความมั่นคงของสหรัฐฯ กำหนดนโยบายด้านการค้าที่ส่งเสริมภาคการลงทุนและประสิทธิภาพภาคการผลิต ยกระดับความได้เปรียบทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ป้องกันเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ และผลประโยชน์ของชาวอเมริกันทุกชนชั้นเหนือสิ่งอื่นใด

การตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมและไม่สมดุล (Addressing Unfair and Unbalanced Trade)

  1. ตอบโต้สภาวะการขาดดุลทางการค้าด้วยมาตรการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกแหล่งทั่วโลกเพิ่มเติม (Global Supplemental Tariff) หรือมาตรการเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่เหมาะสม
  2. จัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรจากต่างประเทศ (External Revenue Service: ERS) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ทั้งหมดซึ่งมาจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้า (Tariffs) อากร (Duties) และรายได้อื่น ๆ ซึ่งมาจากการการค้าขายกับต่างประเทศ (Foreign Trade-Related Revenues)
  3. ตอบโต้ลักษณะการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practice) จากต่างประเทศ
  4. ทบทวนการคงสถานะของสหรัฐฯจากข้อตกลง United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) และประเมินผลกระทบที่มีต่อแรงงานและภาคธุรกิจสหรัฐฯ
  5. ตอบโต้การบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) จากเงินตราต่างประเทศซึ่งอาจกระทบต่อการปรับดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) หรือเอื้อต่อการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมแก่สหรัฐฯ
  6. ทบทวนข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อรักษาระดับผลประโยชน์ทางการค้าต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงประเทศคู่ค้าในข้อตกลงเขตการค้าเสรี
  7. ขยายตลาดภาคการส่งออกสินค้าของธุรกิจสหรัฐฯ โดยแสวงหาประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯสามารถเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี หรือข้อตกลงทางการค้าแบบเฉพาะเจาจง (Sector-Specific)
  8. ทบทวนนโยบายและกฎระเบียบว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) รวมถึงการอุดหนุนข้ามชาติ (Transnational Subsidy) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  9. ทบทวนข้อยกเว้นทางภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯ ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ (de minimis) เพื่อจัดการกับการสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าสินค้าและความเสี่ยงที่มาจากการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย ยาเสพติด และสินค้าปลอมแปลง
  10. ตรวจสอบการบังคับการจัดเก็บภาษีที่เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือการจัดเก็บภาษีนอกอาณาเขต ต่อพลเมืองหรือธุรกิจชาวอเมริกันที่ไม่เป็นธรรมโดยประเทศอื่น
  11. ผลักดันนโยบาย Buy American and Hire American และทบทวนผลกระทบของข้อตกลงทางการค้าทั้งหมดซึ่งสหรัฐฯเข้าร่วม โดยเฉพาะข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization Agreement on Government Procurement) เพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลงทาง การค้าเหล่านั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของแรงงานและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับจีน (Economic and Trade Relations with PRC)

  1. ทบทวนข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เพื่อตรวจสอบว่าทางการจีนได้ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ พร้อมจัดทำคำแนะนำการบังคับใช้มาตรการที่สมควรแก่ผลการพิจารณา ซึ่งอาจรวมถึงมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า หรือมาตรการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
  2. พิจารณาการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อตอบสนองห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD (Circumvention) โดยอาศัยการส่งออกผ่านประเทศที่สาม รวมถึงต้นทุนประมาณการอันเกิดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม
  3. ตอบโต้กฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติอื่นใดทางการค้าจากทางการจีนอันไม่สมเหตุสมผล หรือเข้าข่ายเลือกปฏิบัติซึ่งอาจส่งผลเสียหรือปิดกั้นการค้าของสหรัฐฯ
  4. ทบทวนสถานะความสัมพันธ์ทางการค้าปกติถาวร (Permanent Normal Trade Relations) แก่จีน
  5. ประเมินสถานะสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ อาทิ สิทธิบัตร (Patents) ลิขสิทธิ์ (Copyrights) และเครื่องหมายการค้า (Trademarks) ซึ่งได้มอบให้แก่นิติบุคคลสัญชาติจีน พร้อมทำให้แน่ใจได้ว่าสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นได้รับการให้เกียรติอย่างเสมอและสมดุลกันกับทางการจีน

 ประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Additional Economic Security Matters)     

  1. ทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงของฐานอุตสาหกรรมและการผลิต เพื่อประเมินความจำเป็นในการริเริ่มการดำเนินการตรวจสอบเพื่อปรับเปลี่ยนการนำเข้าที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
  2. ทบทวนและประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการยกเว้น (Exclusions) การละเว้น (Exemptions) และมาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอื่น สำหรับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ
  3. พิจารณาการใช้มาตรการทางการค้าและความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากการอพยพเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายและภัยจากยาเสพติดที่มาจากประเทศแคนาดา เม็กซิโก และจีน
  4. ทบทวนระบบการควบคุมการส่งออก (Export Control System) และพัฒนาปรับปรุงระบบดังกล่าวเพื่อให้เท่าทันคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ตลอดจนความมั่นคงของสหรัฐฯและของโลก รักษาและยกระดับขอบเขตทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ตลอดจนชี้จุดและแก้ปัญหาช่องโหว่ในระบบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เปิดช่องให้มีการส่งต่อสินค้าทางยุทธศาสตร์ (Strategic Goods) ซอฟท์แวร์ ระบบการบริการ เทคโนโลยี ไปยังประเทศคู่แข่งของสหรัฐฯและตัวแทนของประเทศเหล่านั้น
  5. ทบทวนกฎระเบียบการกำกับดูแลยานยนต์อัจฉริยะ (Connected Vehicles) และขยายขอบเขตการควบคุมการส่งต่อโอนถ่ายข้อมูลของสินค้าอัจฉริยะ (Connected Products) ประเภทอื่น
  6. ทบทวนคำสั่งประธานาธิบดีว่าด้วยการลงทุนทางเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯในประเทศที่น่ากังวล (Addressing United States Investments in Certain National Security Technologies and Products in Countries of Concerns) ในการตอบสนองต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
  7. พิจารณาการใช้มาตรการ กฎระเบียบ หรือร่างกฎหมายที่จะจัดการกับผลเสียจากโครงการการให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนกับต่างประเทศภายใต้งบประมาณภาครัฐ

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น: ข้อสังเกตทิศทางนโยบายทางการค้าของทรัมป์ 2.0 ที่แตกต่างไปจากสมัยแรก คือการที่ทรัมป์นำนโยบายทางการค้าไปผูกกับมิติด้านความมั่นคงแห่งชาติในระดับที่ค่อนข้างเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการชูวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้า การถูกเอารัดเอาเปรียบทางการค้ากับต่างชาติ เชื่อมโยงไว้กับผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคม ตลอดจนมิติอื่น ๆ ในด้านธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังจะได้เห็นจากรายชื่อหน่วยงานที่มีพันธกิจร่วมในการกำหนดนโยบายทางการค้า ที่ขยายขอบเขตกว้างกว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการค้าโดยตรง

จากข้อมูลกรอบทิศทางนโยบายทางการค้าในข้างต้น อาจมีบางข้อที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบไปด้วยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ 1. การตอบโต้สภาวะการขาดดุลทางทางการค้าด้วยมตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก หรือ ที่ทรัมป์เรียกติดปากว่า “Universal Tariff” จากการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯมากเป็นลำดับต้น ๆ 2. การพิจารณาการใช้มาตรการ AD/CVD ในระดับเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐฯขึ้นบัญชีสินค้าจากประเทศไทยภายใต้ AD/CVD จำนวนพอสมควร และ 3. การถูกเพ่งเล็งการส่งออกส่งค้าจากจีนในฐานะประเทศที่สาม เป็นต้น

ที่มา: Whitehouse.gov
เรื่อง: “America First Trade Policy”
สคต. ไมอามี /วันที่ 30 มกราคม 2568
thThai