การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ในปี 2568 อุตสาหกรรมนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์
ข้อมูลจาก GlobalData ตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตถึง 24,800 ล้านเหรียญสิงคโปร์ภายในปี 2028 โดยเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 8.9% ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วที่ CAGR 25.3% ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 โดยแตะระดับ 15,800 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2566
เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า Shopee เป็นแพลตฟอร์มที่ชาวสิงคโปร์เข้าเยี่ยมชมสูงสุดถึง 13.21 ล้านครั้งต่อเดือน ตามมาด้วย Lazada (6.15 ล้าน) Amazon (5.04 ล้าน) และ AliExpress (1.5 ล้าน)
หมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยม
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมสูงสุด (25%) ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มแฟชั่น 19% งานอดิเรก 18.4% เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน 11.7% ของใช้ในบ้าน 10.6% เป็นต้น
รูปแบบการซื้อของออนไลน์ของชาวสิงคโปร์
- มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย (Average Order Value-AOV) มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ในสิงคโปร์อยู่ในระดับสูง โดยมีมูลค่าประมาณ 185 เหรียญสิงคโปร์ ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีความมั่นใจในการใช้จ่ายต่อธุรกรรมสูง นอกจากนี้ ยังบ่งชี้ถึงความต้องการสินค้าคุณภาพและแนวโน้มการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง
- ความถี่ในการซื้อสินค้าออนไลน์ พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีความถี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากทำการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง การเปลี่ยนแปลงนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญที่ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำและการสร้างความภักดีของลูกค้า
- อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับซื้อของออนไลน์ อุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ซื้อของออนไลน์ แทนที่แล็ปท็อปและเดสก์ท็อป ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา การเปลี่ยนแปลงนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ธุรกิจต้องปรับแต่งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซและ
กลยุทธ์ด้านดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานบนมือถือที่ราบรื่นและตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่
การสำรวจโดย YouGov เปิดเผยว่า รายได้จาก Mobile e-commerce ในสิงคโปร์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 เป็นประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 การเติบโตนี้สะท้อนถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอุปกรณ์มือถือในพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ทำการซื้อของออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการพึ่งพาอุปกรณ์มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ
เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่มาแรงในสิงคโปร์
1.Social Commerce แพลตฟอร์มโซเชียล เช่น TikTok Instagram และ Facebook มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการซื้อของออนไลน์ Social Commerce ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าโดยตรงผ่าน เนื้อหาแบบโต้ตอบ (Interactive Content) และ ช่องทางการขายแบบไลฟ์สด (Live Shopping) ซึ่งทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นและมีส่วนร่วมมากขึ้น
- Livecommerce ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการสตรีมสดและการซื้อของออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ แนวโน้มนี้ช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเรียลไทม์ ตอบคำถามของผู้บริโภคได้ทันที และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า การมีปฏิสัมพันธ์แบบเรียลไทม์ยังช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อและเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความยั่งยืน ในสิงคโปร์ ผู้บริโภคที่อายุน้อย โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z กำลังเป็นแรงผลักดันสำคัญของแนวโน้มด้านความยั่งยืน โดย 51% ของ Gen Z ยินดีจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับ “Greenwashing” หรือการที่บริษัทโฆษณาผลิตภัณฑ์ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีหลักฐานรองรับ
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปในปี 2568
- การขยายตัวของการซื้อระหว่างประเทศ ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มสำรวจเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในการช้อปปิ้งออนไลน์ ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ การมองหาข้อเสนอที่ดีกว่า การเข้าถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศ และความต้องการค้นพบ สินค้านวัตกรรมใหม่ๆ
- 56% ของผู้ซื้อออนไลน์เลือกซื้อจากต่างประเทศเพราะสามารถเข้าถึงราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น
- 45% มองหาสินค้าที่ไม่มีจำหน่ายในสิงคโปร์
- 37% สินค้านวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ตามรายงานของ PayPal พบว่า 78% ของผู้ใช้อีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการซื้อของออนไลน์ระดับโลก
- พลังของโซเชียลมีเดีย โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับแบรนด์ ที่ต้องการเข้าถึงและดึงดูดผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ โดย 79% ของประชากรใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลอย่างต่อเนื่อง การใช้กลยุทธ์โซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มยอดขายของธุรกิจได้ถึง 20-40% ทั้งนี้ แบรนด์ต่างๆ สามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มการมองเห็น สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และกระตุ้นการเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูง การเชื่อมต่อกับผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างความภักดีต่อแบรนด์ แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
รายได้จากตลาดอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีและกำลังซื้อที่สูง ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซพัฒนาไปในหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามเทรนด์และข้อมูลใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งนำแนวโน้มการทำการตลาดออนไลน์ในสิงคโปร์มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด สร้างแบรนด์และประชาสัมพันธ์สินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวสิงคโปร์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของไทยในตลาดสิงคโปร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.dhl.com/discover/en-sg/e-commerce-advice/e-commerce-trends/amazon-singapore-trends-2025
https://www.oom.com.sg/ecommerce-statistics-singapore-2023/
Statista
https://retailasia.com/e-commerce/news/singapore-e-commerce-market-reach-248b-2028