ทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่าภาษีนำเข้าร้อยละ 10 ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บังคับใช้กับสินค้าจีน ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงฮ่องกงด้วย โดยประกาศดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ
สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) รายงานว่า สินค้าส่วนใหญ่จากฮ่องกงต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าเพิ่มเติมร้อยละ 10 นอกเหนือจากภาษีมาตรฐานและภาษีอื่น ๆ ที่อาจมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ฮ่องกงยังได้รับผลกระทบจากการที่รัฐวอชิงตันยกเลิกข้อยกเว้น “De Minimis” ซึ่งก่อนหน้านี้อนุญาตให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่ต้องเสียภาษีสำหรับการจัดส่งสินค้าที่มีมูลค่าขายปลีกไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ
HKTDC เปิดเผยว่า ในปี 2023 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากฮ่องกงมูลค่ารวม 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “หากมีการบังคับใช้ภาษีเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 สินค้าจากฮ่องกงจะต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่มอีก 411.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นถึง 42,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
Mr. Willy Lin, The chairman of the Hong Kong Shippers’ Council กล่าวกับ RTHK ว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่ฮ่องกงถูกนับรวมอยู่ในข้อพิพาททางการค้าครั้งนี้ “ศุลกากรฮ่องกงและศุลกากรสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากในการต่อสู้กับอาชญากรรมและยาเสพติด เราจึงรู้สึกแปลกใจอย่างยิ่งที่ฮ่องกงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม”
“ผมคิดว่าภาษีร้อยละ 10 อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกงในระดับรุนแรง แต่ในแง่ของภาพลักษณ์แล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้คนจะตั้งคำถามว่าทำไมฮ่องกงจึงถูกพุ่งเป้า” เขากล่าวเสริม
สำหรับมาตรการภาษีเพิ่มเติมครั้งนี้ ทรัมป์ให้เหตุผลว่าเป็นการกดดันให้จีนยุติการลักลอบนำเข้าเฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งเป็นยาเสพติดร้ายแรงในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เข้าสู่สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ทางการปักกิ่งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก
ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
การขึ้นภาษีสินค้าจากฮ่องกงของสหรัฐอเมริกามีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ตามที่ The chairman of the Hong Kong Shippers’ Council ได้กล่าวไว้ แม้ว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจฮ่องกงในทันที แต่ในแง่ของภาพลักษณ์แล้ว สินค้าจากฮ่องกงอาจถูกมองว่าเป็นสินค้าจากจีน หากพิจารณาผลกระทบทางบวกในด้านส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาคของฮ่องกงแล้ว ฮ่องกงอาจหันมาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง สร้างความหลากหลายในการตลาด รวมทั้งฮ่องกงอาจใช้โอกาสนี้ในการหาตลาดใหม่และหลากหลาย เช่น การหันมาทำการค้ากับภูมิภาคอาเซียน มากขึ้น ทำให้การนำเข้า-ส่งออกมีความยืดหยุ่นต่อกัน ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นคู่ค้ากับฮ่องกงมายาวนาน จึงสามารถใช้โอกาสนี้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากขึ้น
แหล่งข้อมูล: https://news.rthk.hk/rthk/en/component/k2/1790374-20250205.htm