ราคาโกโก้กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเดือนเมษายน ปี2024 ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทั้งที่ปลายปี 2022 ราคายังอยู่ที่เพียง 2,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน แม้ว่าในภายหลังจะมีการปรับราคาลงมาอยู่ที่ 7,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ข้อมูลในเดือนธันวาคม ปี2024 ระบุว่าราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโกโก้ได้ทะลุระดับ 10,000 ดอลลาร์อีกครั้ง
สถานการณ์โดยรวมของโกโก้ในจีน
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ในส่วนของ โกโก้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (พิกัด18) ระบุว่าในปี 2024 จีนมีมูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 1,335.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.29% YoY โดยมีการนำเข้าหลักจาก มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อิตาลี และ เบลเยียม โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 258.02 204.15 136.17 135.81 และ 80.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี2024 ไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 28 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.36% ของจีนนำเข้าจากทั่วโลก โดยรวมจีนนำเข้าโกโก้จากทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่าในปี 2024 ปริมาณการนำเข้าเมล็ดโกโก้ ทั้งเมล็ดหรือแตก และ โกโก้ดิบหรือคั่ว (พิกัด 1801) คิดเป็น 11,069.11 ตัน ลดลง 20.80% YoY จีนนำเข้าเมล็ดโกโก้หลักๆ จากประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยในปี2024 มีมูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 86.92% YoY โดยมีการนำเข้าจาก 5 ประเทศหลักดังนี้ เอกวาดอร์ ปาปัวนิวกินี โตโก กินี และกานา โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 20.79 , 20.71 , 19.78 , 6.19 และ 3.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 28.74 ,28.63 , 27.35 , 8.56 และ 4.97 ตามลำดับ ซึ่งในปี 2024 ไทยอยู่ในลำดับที่ 8 โดยมีมูลค่าจีนนำเข้าอยู่ที่ 194,396 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.27% ของจีนนำเข้าจากทั่วโลก
ข้อมูลจากสำนักข่าว Food Daily กล่าวว่า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลการนำเข้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปริมาณการนำเข้าโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนต่อโกโก้กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าตลาดโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในจีนจะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ปัจจุบัน โกโก้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลาย เดิมทีช็อกโกแลตถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของการใช้โกโก้ แต่การบริโภคช็อกโกแลตในจีนคิดเป็นเพียงหนึ่งในสามของการใช้โกโก้ทั้งหมด ขณะที่อีกสองในสามถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น เบเกอรี่ ชานมสมัยใหม่ ไอศกรีม และเครื่องดื่มจากนม
ที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/NfffYbUUbThLqoCAehF_kw
จีนรับมือกับวิกฤตโกโก้ด้วยนวัตกรรมและความหลากหลาย
ในฐานะวัตถุดิบหลักของช็อกโกแลต ปัญหาด้านอุปทานของเมล็ดโกโก้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิต ต้นทุน และความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตช็อกโกแลต อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเติบโตในระยะยาวของอุตสาหกรรมขนมหวาน
เพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมได้ดำเนินกลยุทธ์หลากหลายวิธี โดยพยายามรักษาคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ตั้งแต่การมองหาแหล่งการผลิตโกโก้ใหม่ การพัฒนาสายพันธุ์โกโก้ ไปจนถึงการมองหาวัตถุดิบทดแทน และการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ แบรนด์ช็อกโกแลตไม่ได้มองมาตรการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นอีกต่อไป แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระยะยาว
- จีนมองหาแหล่งผลิตโกโก้ใหม่: ขยายพื้นที่เพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่
เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบเดียว บรรดาแบรนด์ช็อกโกแลตเริ่มให้ความร่วมมือกับซัพพลายเออร์โกโก้จากหลากหลายภูมิภาค
ปัจจุบัน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์และสาธารณรัฐกานา ประเทศในแอฟริกาตะวันตกเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเกษตรกรกว่า 1 ล้านคนในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ส่งออกโกโก้ให้กับบริษัทช็อกโกแลตรายใหญ่ เช่น Nestlé Mars และ Hershey นอกจากนี้ยังมี บราซิลและเอกวาดอร์ในอเมริกาใต้ รวมถึงอินโดนีเซียในเอเชีย ก็เป็นผู้ผลิตโกโก้ที่มีบทบาทสำคัญ ขณะเดียวกัน ประเทศไทย ก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตโกโก้ใหม่ของเอเชีย
เมื่อเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนโกโก้ทั่วโลก จีนได้พยายามส่งเสริมการเพาะปลูกโกโก้ในประเทศ โดยได้จัดตั้งแหล่งปลูกในมณฑลไหหลำและยูนนาน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า แม้ว่าผลผลิตยังไม่สูงมากนัก แต่ก็เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ตัวอย่างในปี 2020 โกโก้จากมณฑลไหหลำถูกส่งออกไปยังเบลเยียม ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องช็อกโกแลต และได้รับการยอมรับในด้านรสชาติและคุณภาพ ต่อมาในปี 2024 โกโก้คุณภาพสูงและโกโก้เหลวที่พัฒนาโดยจีน ได้เปิดตัวในตลาดโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไหหลำ
ขณะเดียวกัน ผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญในจีนระบุว่า พื้นที่ปลูกยางพาราในเขตสิบสองปันนา และพื้นที่อื่น ๆ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการปลูกโกโก้ และสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้มากกว่าประมาณ 666,000 ไร่ หากโครงการเหล่านี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนอาจกลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตโกโก้แห่งใหม่ของโลกในอนาคต ความพยายามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ท่าทีเชิงรุกและวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของจีนในอุตสาหกรรมโกโก นอกจากนี้ เทคโนโลยีพันธุกรรมสมัยใหม่และงานวิจัยทางการเกษตร ยังช่วยให้สามารถพัฒนาโกโก้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีขึ้น รวมถึงทนต่อสภาพอากาศแปรปรวน เช่น ภัยแล้งหรือฝนตกหนัก ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตโกโก้มีความมั่นคงมากขึ้น
ปัจจุบันถึงแม้ว่าการปลูกโกโก้ประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งทีมีศักยภาพ และมีสภาพอากาศเอื้อต่อการปลูกโกโก้ เนื่องจากโกโก้เป็นพืชเขตร้อน และยังมีแนวโน้มต้องการบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย จีน และต่างประเทศ อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต การพัฒนาให้ความรู้เครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพโกโก้ การพัฒนามาตรฐานสินค้า เช่น GMP และ HACCP เพื่อการส่งออก รวมถึง กระบวนการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จะช่วยผลักดันและสร้างศักยภาพให้กับโกโก้ไทย เป็นที่รับรู้มากขึ้นในตลาดโลก
ตัวอย่างความเคลื่อนไหวของบริษัทชั้นนำต่างๆปรับตัวเพื่อเพิ่มผลผลิตโกโก้
- Cargill ได้ลงนามข้อตกลงระยะยาวกับ AeroFarms บริษัทชั้นนำด้านเกษตรกรรมแนวดิ่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตโกโก้และพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
- Mars ร่วมมือกับ IBM และกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของโกโก้ (Cocoa Genome Sequencing) เพื่อพัฒนาโกโก้สายพันธุ์ที่มีผลผลิตสูงขึ้นและสามารถฟื้นตัวจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ปัจจุบันถึงแม้ว่าการปลูกโกโก้ในประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ และมีสภาพอากาศเอื้อต่อการปลูกโกโก้ เนื่องจากโกโก้เป็นพืชเขตร้อน และยังมีแนวโน้มต้องการบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย จีน และต่างประเทศ อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต การพัฒนาให้ความรู้เครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพโกโก้ การพัฒนามาตรฐานสินค้า เช่น GMP และ HACCP เพื่อการส่งออก รวมถึง กระบวนการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จะช่วยผลักดันและสร้างศักยภาพให้กับโกโก้ไทย เป็นที่รับรู้มากขึ้นในตลาดโลก
https://mp.weixin.qq.com/s/NfffYbUUbThLqoCAehF_kw
https://www.vegcofood.com/the-rise-of-chinas-cocoa-production-a-sweet-revolution-in-the-making /
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
7 กุมภาพันธ์ 2568