- รายงานอย่างเป็นทางการจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ระบุว่า ในปี 2567 ประเทศกัมพูชาสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญไปยังตลาดต่างประเทศประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 22%
- ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา ในปี 2567 อยู่ที่ 11.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39% จาก 8.4 ล้านตัน ในปี 2566 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก ข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กล้วย มะม่วง ลำไย พริกไทย และสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยมีการส่งออกไปยัง 94 ประเทศทั่วโลก
- รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศใช้นโยบายยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตร โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงการเกษตรเชิงพาณิชย์ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร (Value-Added Products) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ที่ดินทำกิน ระบบชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ไฟฟ้าสำหรับขนส่งสินค้าและการผลิต ตลอดจนการพัฒนาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ความเห็นของสำนักงานฯ
- เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชา รองจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยมีสัดส่วน 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตเชิงบวกของภาคเกษตรกรรมอย่างชัดเจน
- การขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชาได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เช่น CCFTA, CKFTA, CAM-UAE CEPA และ RCEP ซึ่งช่วยเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
- นโยบายยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคเกษตร การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชา มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเกษตรของกัมพูชายังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาคุณภาพ การเพาะปลูกและการแปรรูปสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนไทย ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในภาคส่วนนี้
———————————————-
ที่มา: Phnom Penh Post & Khmer Times
กุมภาพันธ์ 2568