The Japan Food Journal หนังสือพิมพ์เฉพาะทางด้านอาหารของญี่ปุ่นได้คาดการณ์สถานการณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในแวดวงอาหารแยกตามประเภทว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2567 ราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นแต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะออมเงินและมีรูปแบบการเลือกซื้อสินค้าก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2568 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตสูง (คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตกว่า 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)มี 3 ประเภท ได้แก่
• ธัญพืช : สืบเนื่องจากการขาดแคลนข้าวสารตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2567 เป็นต้นมา และความต้องการในการนำไปใช้ในมาตรการป้องกันภัยพิบัติเพิ่มขึ้น ธัญพืชจึงถูกจับตามองในฐานะตัวเลือกแทนข้าว เพราะมีจุดเด่นที่การเก็บรักษาได้นานและมีปริมาณมากกว่าขนมปัง
• ลูกอม : ในช่วงปีหลังๆ นี้ ตลาดลูกอมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลูกอมเยลลี (Gummy Candy) ที่ได้รับความนิยมมากจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานยามอยู่บ้าน จนกระทั่งทุกวันนี้ความนิยมยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนลูกกวาดชนิดแข็งมีความต้องการจากผู้บริโภคสูงขึ้นในฐานะทางเลือกของยาแก้หวัดและไข้หวัดใหญ่
• โปรตีน : เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยเฉพาะโปรตีนชนิดผงซึ่งดึงดูดตลาดมาก ไม่จำกัดแค่ในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปด้วย นอกจากนี้ ในช่วงปีหลังๆ นี้ กระทรวงสวัสดิการและแรงงานของญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุหมั่นบริโภคโปรตีนให้มากขึ้น ทำให้มีความต้องการต่อสินค้าที่หาซื้อได้คล่องและบริโภคได้ง่ายสำหรับผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัย
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสถานการณ์เติบโตในระดับดีมาก (คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตที่ 3-7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)มี 26 ประเภท ได้แก่
• ข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ : สัดส่วนของตลาดนี้ในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 9,476 ล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 35,000 ล้านบาท) เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 18% โดยมีข้าวกล้องผสมธัญพืชเป็นสินค้ายอดนิยมของหมวดหมู่นี้
• บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : แม้มีการปรับราคาในปี 2566 แต่ได้ครองส่วนแบ่งในตลาดและมีกำไรที่มั่นคง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ทุกบริษัทมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณการขายโดยเน้นในการเป็น
แบรนด์ชั้นนำในประเทศ ทั้งยังความต้องการของตลาดในระดับสูงจากการเป็นอาหารสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติ
• ขนมขบเคี้ยว : ในปี 2566 มียอดขายปลีกเกิน 5 แสนล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.09 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรก และยังเพิ่มยอดขายในปี 2567 ได้อีกด้วย ตลาดขนมขบเคี้ยวที่ทำจากวัตถุดิบใหม่ๆ เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพด และถั่วก็กำลังขยายตัวเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคอมบุฉะ (ชาหมัก), แกงกะหรี่ชนิดก้อน, ไอศกรีม, ของหวานแช่แข็ง, เครื่องเทศ, กับข้าว, นัตโต, กับข้าวชนิดซอง, อาหารแช่แข็งสำหรับอุตสาหกรรมร้านอาหาร, แป้งข้าวเจ้า, ชาเขียว, น้ำแร่, เส้นหมี่ขาวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า, ขนมปังกรอบ (บิสกิต), วิสกี้, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดพร้อมดื่ม และนมถั่วเหลือง เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตทรงตัว (แบบสลับไปมา) (คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตที่ 0~3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)มี 44 ประเภท ได้แก่
• ผลิตภัณฑ์อาหารลดคาร์โบไฮเดรต:ยอดขายในเชิงมูลค่ายังคงมีการเติบโตอย่างมั่นคง ในขณะที่ยอดขายในเชิงปริมาณลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น หมวดหมู่ที่ใหญ่ที่สุดคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
• โปรตีนจากพืช:การทดลองใช้ในร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่ในครัวเรือนมีการคัดสรรสินค้าทำให้บางบริษัทถอนตัวออกจากตลาด ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่เพียงแค่เป็นการทดแทนเนื้อสัตว์ แต่ยังขยายไปยังโยเกิร์ตและสินค้าอื่น ๆ ด้วย
• อาหารสำเร็จรูป:สินค้ายอดนิยมแต่ดั้งเดิมอย่างแกงกะหรี่ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิมเนื่องจากเป็นสินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับราคาถูก ในขณะที่สินค้าราคาปานกลาง-สูงไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเนื่องจากมีการปรับราคา ส่วนอาหารสำเร็จรูปชนิดอื่น นอกเหนือจากแกงกะหรี่ อย่างเช่น อาหารจีน มียอดขายสูงขึ้นเนื่องจากมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า
• อาหารกระป๋อง:เนื่องจากตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา มีการขึ้นราคาของต้นทุนการผลิต ทำให้มีการปรับราคาของสินค้าขึ้นเป็นระยะๆ แต่ยอดขายในปี 2567 สูงกว่าในปี 2566 ถึง 2% โดยมีประเภทหลักคือปลาทูน่ากระป๋อง แต่ปลาอิวาชิ (ซาร์ดีน) กระป๋องก็ทำตลาดได้ดีโดยในปี 2567 มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนปลาซาบะมียอดขายลดลงเนื่องจากราคาสูงเกินไป ส่วนในหมวดผักและผลไม้ ข้าวโพดกระป๋องทำยอดขายได้ดี
นอกจากนี้ ยังมีขนมปัง อาหารสำหรับรับประทานนอกบ้าน วาซาบิแปรรูป ซุป น้ำมันงา ซอสต่างๆ น้ำสลัด เครื่องปรุงสำเร็จรูป บะหมี่แห้ง พาสต้า ข้าวสวยบรรจุแพ็ค โอฉะสึเกะ (เครื่องโรยหน้าสำหรับรับประทานโดยรินน้ำชาหรือน้ำร้อนลงบนข้าวสวย) เครื่องดื่มซอฟต์ดริงค์ กาแฟสำหรับครัวเรือน ชาฝรั่ง เครื่องดื่มชา เครื่องดื่มกาแฟ แยมเหล้าสาเก เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม เนย ขนมหวาน น้ำผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากปลาบด ถั่วต้ม ผักและผลไม้แช่แข็ง อาหารแช่แข็ง เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตลดลง (คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตที่ -3~0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)มี 30 ประเภท ได้แก่
• อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ : ในฤดูใบไม้ผลิปี 2567 ความต้องการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของข้าวยีสต์แดงลดลง เนื่องจากข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้ ความต้องการการรับรองมาตรฐาน GMP เข้มงวดขึ้นมาก ทำให้ไม่เห็นแนวทางในการฟื้นฟูตลาด
• น้ำมันพืช:ราคาพุ่งสูงขึ้น ทำให้ยอดขายเชิงมูลค่าเติบโตขึ้น แต่ปริมาณที่ขายกลับลดลง น้ำมันรำข้าวและน้ำมันลินซีดมียอดขายดี ในขณะที่น้ำมันงาและน้ำมันที่ผสมกับน้ำมันอื่นๆ มีการเติบโตที่ดี
นอกจากนี้ ยังมี กิมจิ เต้าหู้ เหล้าโชจู อาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป งา โชยุ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลดลงอย่างมาก (คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า -3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)มี 4 ประเภท ได้แก่
• ข้าวสาร:ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับการบริโภคที่ลดลงมาก ข้าวต่างประเทศที่เคยใช้ในอุตสาหกรรมร้านอาหารเริ่มมีการขายเป็นสินค้าในร้านค้าปลีก
ส่วนสินค้าประเภทอื่นในหมวดนี้ ได้แก่ มิโสะ (เต้าเจี้ยว) เกลือ ของดอง
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ราคาผลิตภัณฑ์อาหารที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่นที่จะกำหนดราคาที่เหมาะสม จากบทความข้างต้นเผยให้เห็นว่า ในภาพรวม ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นค่อย ๆ ยอมรับการปรับขึ้นของราคาอาหารมากขึ้น สำหรับประเทศไทยซึ่งส่งออกสินค้าและวัตถุดิบอาหารจำนวนมากไปยังญี่ปุ่น นับเป็นโอกาสที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ก็ยังพบว่า “ยอดขายเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณยอดขายลดลง” ในหลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การเพิ่มมูลค่า การปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ และกลยุทธ์การขายจึงมีความสำคัญ
โอกาสใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทย
การสำรวจในครั้งนี้พบว่า ในหมวดหมู่สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีมาก ในครึ่งแรกของปี 2568 มีหลายประเภทที่ผลิตและส่งออกจากประเทศไทย เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และน้ำมันรำข้าว
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2568