เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ได้มีคำประกาศในการถอด “มะพร้าว” ออกจากรายการสารก่ออาการภูมิแพ้ (Major Allergens List) ในกลุ่มผลไม้เปลือกแข็ง หรือ ถั่วจากไม้ยืนต้น (Tree Nut)
นับเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ “มะพร้าว” ถูกจัดอยู่ในรายการสารก่ออาการภูมิแพ้ในกลุ่ม Tree Nut และภายใต้กฎหมายว่าด้วย ข้อกำหนดของฉลากสำหรับสารก่อภูมิแพ้ในอาหารและการคุ้มครองผู้บริโภคปี 2547 (Food Allergen Labeling and Consumer Protection Act 2004 หรือ FALCPA) FDA ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากข้อมูลสารก่อภูมิแพ้บนบรรจุภัณฑ์ในสินค้าอุปโภคบริโภคให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่อาจเกิดความเสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้จากการรับประทาน หรือจากการสัมผัส อาทิ เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของมะพร้าว ซึ่งหากผู้ประกอบการแสดงฉลากข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการดำเนินการเรียกคืนสินค้า หรือ การปฏิเสธการนำเข้า เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงในการถอด “มะพร้าว” ออกจากรายการสารก่ออาการภูมิแพ้ในครั้งนี้ นับว่าเป็น ความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามของกลุ่มความร่วมมือด้านมะพร้าวของสหรัฐอเมริกา (Coconut Coalition of the Americas-CCA) ที่ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อ FDA มาเป็นระยะเวลานานหลายปี ด้วยข้อมูลเชิงวิชาการในการสนับสนุนว่ามะพร้าวมิใช่ผลไม้เปลือกแข็งในกลุ่ม Tree Nut
อย่างไรก็ดี กลุ่ม Tree Nuts ที่ FDA จัดให้อยู่ในบัญชีสารสารก่ออาการภูมิแพ้ มีรายการดังนี้ ถั่ว Almond, Black Walnut, Brazil Nut , California Walnut, Cashew, Hazelnut, Heart Nut, Macadamia nut, Pecan, Pine nut, Pistachio และ Walnut
บทวิเคราะห์และคำแนะนำ
1. การเปลี่ยนแปลงของ FDA ในการถอดมะพร้าว ออกจากรายการสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่ม Tree Nut ในครั้งนี้ เป็นปัจจัยสนับสนุนในทิศทางบวกต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวสำหรับอุปโภคและบริโภค ด้วยความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีความเข้าใจว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่ม Tree Nut อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนกระบวนการของผู้ประกอบการที่ไม่ต้องแสดงฉลากข้อมูลสารก่อภูมิแพ้บนผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดเดิมของ FDA
2. ตลาดสินค้ามะพร้าวในสหรัฐฯ เป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ แต่มีการแข่งขันสูง ด้วยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามะพร้าวจาก ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม อินโดนิเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา คอสตาริกา เม็กซิโก เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ พิจารณาให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมสินค้า และเทรนด์สินค้า อาทิ การลด/ไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาล การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวฮีสแปนิก ด้วยการใช้ภาษาสเปน เป็นต้น
3.โอกาสของสินค้าไทย อาทิ น้ำมะพร้าวสด มะพร้าวในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ของรับประทานเล่นประยุกต์ สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ประทินผิวที่ทำจากมะพร้าว กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง