ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ในรูปของแข็ง (All-solid-state) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานเหนือกว่าลิเธียมไอออน ชาร์จไฟได้เร็ว มีความเสถียร และ ความปลอดภัยสูง

GS Yuasa Corporation ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายสำคัญของโลกลงทุนกว่า 7.2 พันล้านเยน ในการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ All-solid-state สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงาน  750 วัตต์ชั่วโมง/ลิตร ซึ่งมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เก็บได้ 400 – 500 วัตต์ชั่วโมง ถึง 1.5 เท่า เพิ่มความหนาแน่นของพลังงานให้สูงถึง 875 วัตต์/ลิตร และชาร์จและจ่ายกระแสไฟฟ้า 300 ครั้ง ซึ่งจะช่วยทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการติดไฟต่ำจึงมีความปลอดภัยสูง และทนต่อสภาพอากาศแบบสุดขั้วทั้งร้อนและเย็นจัดอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการพัฒนาดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2565 – 2570 โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนแห่งชาติของญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization: NEDO) และมีกำหนดวางจำหน่ายภายในปี 2573

โตโยต้า ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (HEVs, PHEVs และ BEVs) ที่จำหน่ายในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ณ Toyota Battery Manufacturing North Carolina (TBMNC) รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการผลิตแบบ In-house ในโรงงานที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเป็นแห่งแรก มูลค่าการลงทุน กว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการจ้างงานกว่า 5,000 อัตรา โดย TBMNC เป็น 1 ในโรงงาน 11 แห่งของโตโยต้าในสหรัฐฯ ที่ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Best-in-town” มุ่งเน้นการลงทุน และการผลิตภายในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย ปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนรวมในสหรัฐฯ สูงถึง 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานรวมมากกว่า 280,000 อัตรา

นอกจากนี้ โตโยต้ายังส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และความจุของแบตเตอรี่ All-solid-state ให้เหนือกว่าลิเธียมไอออน 3 เท่า ซึ่งจะเพิ่มระยะทางขับขี่ จากปัจจุบันที่ประมาณ 600 กิโลเมตร เป็น 1,200 กิโลเมตรต่อการชาร์ต ทั้งนี้ เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) รุ่นตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป

ฮอนด้า เริ่มการผลิตแบตเตอรี่ All-solid-state ในปี 2568 ด้วยเงินลงทุนกว่า 4.3 หมื่นล้านเยน สำหรับรถยนต์รุ่นปี 2572 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าในการเพิ่มระยะทางขับขี่เป็น 2 เท่า และ 2.5 เท่า (1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์ต) ภายในปี 2573 และ ปี 2583 ตามลำดับ

thThai