สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (CBS) เปิดเผยว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงานในเนเธอร์แลนด์ที่เฉลี่ยร้อยละ 6.6 ในปี 2568 นี้ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษ นักเศรษฐศาสตร์ของ CBS กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตอบสนองต่อการสูญเสียกำลังซื้ออย่างมีนัยสำคัญที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดแรงงานที่ตึงตัวได้เพิ่มแรงกดดัน ทำให้ผู้จ้างงานไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการขึ้นค่าจ้างแรงงานได้
แรงงานในบางภาคส่วนได้รับการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่โดดเด่นกว่าภาคอื่นๆ อาทิ พนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้รับการขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ร้อยละ 12.4 ในขณะที่พนักงานภาคการบริการได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10.5 และพนักงานในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5 ในระยะเวลาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างแรงงานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น แม้ว่าตลาดแรงงานจะแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงต้องปรับตัว แม้ว่าค่าจ้างแรงงานจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นในร้านค้าทุกวัน ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย และคงต้องใช้เวลาอีกซักระยะกว่าผู้บริโภคจะตระหนักถึงความแตกต่างของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นและมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
แนวโน้มตลาดแรงงานและการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงานอีกครั้งยังคงไม่แน่นอน ในขณะที่สหภาพแรงงานยังคงมีความมั่นใจว่าจะสามารถเจรจาเพื่อเพิ่มค่าจ้างแรงงานได้อีกมาก โดยบางส่วนตั้งเป้าหมายการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและการเจรจาระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานเป็นส่วนใหญ่
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
การปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานครั้งใหญ่ในเนเธอร์แลนด์สะท้อนถึงการตอบสนองต่อภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันจากตลาดแรงงาน ซึ่งบีบบังคับให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีต้นทุนสูง แม้ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าก็อาจส่งผลในเชิงลบต่อภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาการบริโภค
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย การเพิ่มขึ้นของรายได้ในเนเธอร์แลนด์อาจเป็นโอกาสที่ดี โดยเฉพาะสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวดัตช์ที่มีความประหยัดมัธยัสถ์และมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังอาจเอนเอียงไปสู่ตัวเลือกสินค้าที่มีราคาถูกและมีความคุ้มค่าต่อราคามากกว่า ซึ่งหากสินค้าจากไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาก็จะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคชาวดัตช์ได้ เพราะในเรื่องของคุณภาพสินค้าของไทยเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี การปรับตัวและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจไทยในตลาดเนเธอร์แลนด์ได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเ ทศ ณ กรุงเฮก