ธนาคารโลกชี้เงินเฟ้อฟิลิปปินส์อยู่ในกรอบแต่ยังเสี่ยงขาขึ้น

 

          ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของฟิลิปปินส์จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas: BSP) ไปจนถึงปี 2569 ซึ่งอาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเตือนว่าแนวโน้มเงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาด โดยเสริมว่าความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและการไหลออกของเงินทุน

          ข้อมูลจากรายงานเศรษฐกิจ ระบุว่าแม้ BSP คาดอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายในปี 2568 – 2569 แต่แนวโน้มความเสี่ยงยังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มที่เกิดจากค่าขนส่งและค่าไฟฟ้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้ม
ของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve)จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกและหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยธนาคารโลกเสริมว่า การควบคุมเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน
และการสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งมีมาตรการที่ไม่ใช่นโยบายการเงิน เช่น การเพิ่มการผลิตในประเทศการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในการกระจายสินค้า และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับการขาดแคลนด้านอุปทาน ซึ่งยังคงมีที่บทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเงินเฟ้อ โดยธนาคารโลกยังอ้างถึง คำกล่าวของ นาย Eli M. Remolona, Jr. ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ระบุว่า อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 50 จุดพื้นฐาน ในปีนี้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Board) ซึ่งมีการประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 หลังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลักลง 75 จุดพื้นฐาน ตั้งแต่รอบการผ่อนคลายเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 5.75 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกแจ้งเตือนว่าความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลให้ค่าเงินเปโซเผชิญแรงกดดัน รวมถึงเกิดกระแสเงินทุนไหลออก โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจอยู่ในระดับสูงต่อไป และอาจทำให้เกิดการไหลกลับของเงินทุนและส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

          ทั้งนี้ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ยังคงเห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะแข็งแกร่งและยังไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald J. Trump จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

          สำนักงานสถิติแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (PSA) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ ร้อยละ 2.9 ซึ่งเท่ากับระดับอัตราเงินเฟ้อของเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 สอดคล้องกับคาดการณ์ของ BSP นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2564 ที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ภายในกรอบเป้าหมายร้อยละ 2 – 4 ที่ BSP กำหนดไว้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Philippine Star 

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

การที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนถึงความสำเร็จบางส่วนของนโยบายการเงินและการบริหารจัดการเศรษฐกิจของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ในการที่อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ BSP เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยด้านสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน เช่น การเกิดพายุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและราคาอาหาร อัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและกระแสเงินทุนไหลออกจากฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด และควรปรับกลยุทธ์ทางการค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่อไป

 

thThai