กัมพูชาเดินหน้าขยายธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ 720 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025

  • กัมพูชาเร่งพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเป็นสองเท่าภายในปี 2025
  • รายงานจากการไฟฟ้ากัมพูชา (Electricite Du Cambodia: EAC) ระบุว่า ในปี 2025 กัมพูชาจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์อีก 720 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ผลิตได้ 827 เมกะวัตต์ในปี 2024
  •  H.E. Mr. Keo Rattanak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (Ministry of Mines and Energy Cambodia: MME) เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานสะอาดของกัมพูชาเป็น 70% ภายในปี 2030 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 62%
  •  ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (ไม่นับรวมลาว) หากกัมพูชาสามารถบรรลุเป้าหมาย 70% ภายในปี 2030 จะกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนพลังงานสะอาดสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจากทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งจะคาดว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต
  •  นอกจากนี้ การขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกัมพูชา ที่ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลได้ยุติการออกใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และตามแผนแม่บทพลังงาน 2022-2040 ที่กำหนดไว้ว่าจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลังปี 2024 พร้อมผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของกัมพูชา

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  1. เดือนกันยายน 2024 กัมพูชาได้อนุมัติการลงทุนด้านพลังงานจำนวน 23 โครงการ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,950 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานของประเทศ
  2. ในปี 2024 กัมพูชามีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 5,044 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 8.5% จาก 4,649 เมกะวัตต์ ในปี 2023
  3. แหล่งพลังงานที่จะเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติในปี 2025 ได้แก่
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 1,796 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าชีวมวล 49 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,430 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล 400 เมกะวัตต์
  • ไฟฟ้านำเข้าจากไทยและเวียดนาม 822 เมกะวัตต์

ความเห็นของสำนักงานฯ

  • ธุรกิจพลังงานสะอาดในกัมพูชามีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคตจากนโยบายภาครัฐเพื่อให้เป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจากไทยควรพิจารณาศึกษาช่องทางการลงทุนให้รอบคอบ เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนรายใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องหาผู้ร่วมลงทุน (Partner) ในประเทศที่น่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าวในกัมพูชาร่วมลงทุน นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจึงอาจมีความเสี่ยงด้านการเมืองเข้ามาร่วมด้วยเช่นกัน

———————————————-

ที่มา: Khmer Times

 กุมภาพันธ์ 2568

thThai