ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ minimalism ที่เน้นความเรียบง่าย ไม่สะสม มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้จริงๆเท่านั้นเกิดขึ้นในสหรัฐฯมานานแล้วและดำเนินไปอย่างเงียบๆ แต่ในปี 2566 ผู้ใช้ TikTok กลุ่มหนึ่งได้ทำให้กระแสการใช้ชีวิตแบบ minimalism กลับมาโด่งดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการนำเสนอวิดิโอท้าทายกันว่า ใครจะทำให้บ้านเกลี้ยงได้มากกว่ากันด้วยการเก็บสมบัติที่สะสมอยู่ในบ้านทิ้ง และตามมาด้วยการท้าทายกันว่า ใครจะใช้จ่ายเงินน้อยกว่ากัน กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายจนนำมาสู่การแข่งขันล่าสุดในขณะนี้คือ “No Buy 2025 ที่มีกติกาง่ายๆคือ การแข่งขันกันออกความเห็นและเสนอวิธีการใช้เงินในปี 2568 ที่เป็นการลดหรือยุติการซื้อหาสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ลดหรือยกเลิกการรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่สั่งอาหารให้มาส่งที่บ้าน ไม่ใช้บริการเทคโนโลยี่ใดๆที่มีข้อผูกมัดระยะยาว

 

มีผู้ใช้ TikTok หลายรายเข้าร่วมออกความเห็นวิธีการเก็บเงิน การใช้จ่ายเงิน และแนะนำให้คนอเมริกันทำรายสินค้าและบริการที่ “จำเป็น” ต่อการดำรงชีวิต ที่ปกติแล้วคือ อาหาร โกรเชอรี่ ยา สินค้าเพื่อสุขอนามัย ค่าสาธารณูปโภค สินค้าทดแทนสินค้าที่ใช้หมดไปแล้ว หรือการซ่อมแซมต่างๆที่จำเป็น เป็นต้น และทำรายการสินค้าและบริการกลุ่มที่ “ไม่ซื้อ” ยกเว้น กรณีที่เป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเก่าที่เสียหายไป สินค้ากลุ่มที่ “ไม่ซื้อ” เช่น (1) เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่ง รวมกระเป๋าถือ เครื่องประดับ ยกเว้น เสื้อผ้าทำงานที่จำเป็น (2) เครื่องสำอางและของใช้บำรุงร่างกาย (3) สินค้าเครื่อง ใช้ในบ้าน เช่น ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ ของใช้ต่างๆในครัว (4) สินค้าเพื่อความบันเทิง เช่น หนังสือใหม่ๆ (โดยให้ไปใช้ห้องสมุดแทน) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ การสมัคร app ต่างๆที่เป็นการถ่ายทอดทางระบบออนไลน์ เป็นต้น

 

เงื่อนไขที่สนับสนุนเกิดกระแส “No Buy 2025” คือ

1. สภาวะเงินเฟ้อ ความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะตกต่ำ (recession) และความวุ่นวายและไม่มั่นคงทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจตนเอง เพื่อการอยู่รอด

 

2. กลุ่มที่ใช้ TikTok เป็นจำนวนมากคือกลุ่ม Millennials อายุน้อยและ Gen Z ที่ปัจจุบันกำลังเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ คนอเมริกันกลุ่มนี้จำนวนมาก มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบ minimalism เป็นที่นิยมในหมู่ Millennials ที่ยังไม่มีครอบครัว และกลุ่ม Gen Z ที่ดูเหมือนว่าจะมีความเป็น minimalist มากที่สุดและเป็นกลุ่มที่ประหยัดการใช้เงินและนิยมเก็บเงินมากกว่าทุกกลุ่ม และเข้าร่วมในกระแส “underconsumption core” ใน TikTok เป็นจำนวนมาก เนื่อง จากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงว่าในอนาคตจะประสบกับปัญหาและสภาวะความยากจนมากที่สุด เพราะต้องเผชิญหน้ากับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก นำไปสู่ภาระหนี้สินพุ่งสูง โดยเฉพาะหนี้การศึกษา ต้องเผชิญกับตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆทั้งจากแรงงานมนุษย์และการใช้ AI แทนที่  และสภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและการเมืองที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สคต. ลอสแอนเจลิส

กระแสการเป็น minimalist เป็นวัฎจักร ที่หมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานะภาพของผู้บริโภค ในอดีตที่ผ่านมา กลุ่ม Millennials เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในเรื่องการเป็น minimalist แต่เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น มีหน้าที่การงานที่มั่นคงและมีครอบครัว กระแสการเป็น minimalist ของกลุ่ม Millennials เริ่มลดลงตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มสูงที่กลุ่ม Gen Z ที่ปัจจุบันมีความเป็น minimalism มากที่สุด อาจจะเข้าสู่วัฎจักรเดียวกันเมื่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมในอนาคตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เชื่อว่า แม้ว่าแนวทางการดำเนินชีวิตแบบ minimalism จะอ่อนตัวลง แต่แนวคิดในระบบ minimalism จะยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากที่เคยเป็น minimalist

 

กระแส “No Buy 2025” ไม่ได้หมายความถึง การงดซื้อสินค้าและบริการทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่หมายถึง ยังคงใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อหาสิ่งที่ “ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างน้อยที่สุดก็ในขณะนั้น” ใช้จ่ายเงินลดลงในการซื้อสินค้าโดยเลือกซื้อสินค้าที่มีมูลค่า “value” คือราคาสมเหตุสมผลเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพ และ จะหลีกเลี่ยงที่จะซื้อสินค้าใหม่ๆ ยกเว้นเป็นการซื้อเพื่อมาทดแทนของใช้ที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นที่หมดอายุหรือเสียหายไป   

 

กระแส “No Buy 2025” แพร่หลายเฉพาะในคนกลุ่มหนึ่งในสหรัฐฯที่เล่น Social Media โดยเฉพาะ TikTok และในช่วงเวลาที่ความไม่มั่นคงของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศและการผันแปรอย่างรุนแรงของสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลในการดำรงชีวิตและสถานการณ์เศรษฐกิจของตนเอง ดังนั้น จึงอาจส่งผลกระทบกับตลาดการค้าสินค้าและบริการไม่มากนักและอาจไม่ใช่ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ปรัชญาการดำรงชีวิตแบบ minimalism ของคนกลุ่มนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงลักษณะสินค้าที่กลุ่ม minimalist และผู้บริโภคสหรัฐฯจำนวนมากต้องการ และอาจสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่ธุรกิจการค้าสินค้ามือสอง ดังนี้

 

1. สินค้าที่ไม่เฉพาะกลุ่ม minimalist เท่านั้นที่ต้องการ แต่ยังเป็นที่ต้องการของหลายกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯปัจจุบันเนื่องจากเป็นสินค้าที่เหมาะสมเป็นอย่างมากกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตปัจจุบัน คือ

1.1) สินค้าที่มีการออกแบบเรียบง่าย (simple/clean) 1.2) สินค้าที่ออกแบบให้ง่ายและสะดวกแก่การใช้ (user-friendly) 1.3) สินค้ากลุ่ม sustainable และที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1.4) สินค้าประเภทที่มี “มูลค่า (value)” คือคุณภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับราคา

 

2. ปรัชญาการดำเนินชีวิตและแนวคิดแบบ minimalism ชี้แนะถึงประโยชน์ของการบริโภคสินค้ามือสอง (secondhand) ที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจผู้บริโภค สร้างโอกาสเพิ่มขึ้นให้แก่การค้าสินค้ามือสอง ที่หมายถึงสินค้าที่ถูกใช้มาก่อนแล้วแต่ยังคงสภาพที่ดี หรือ สินค้าที่เก่าเก็บที่ไม่เคยถูกนำมาใช้

 

สหรัฐฯเป็นประเทศที่ตลาดสินค้ามือสองมีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก ประมาณการณ์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 40  พันล้านเหรียญฯ ในปี 2566 สหรัฐฯมีร้านค้าสินค้ามือสองกลุ่ม Thrift Stores ประมาณ 28,722 แห่ง เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 2.7 และมีช่องทางการขายสินค้ามือสองทางระบบออนไลน์อีหหลายช่องทาง ที่ใหญ่ที่สุดคือ eBay ที่เหลือ เช่น ThredUp, Wayfair.com, Overstock.com, Costway.com, Poshmark เป็นต้น

 

สหรัฐฯนำเข้าสินค้ามือสองจากทั่วโลก รายงานล่าสุดในปี 2566 สหรัฐฯนำเข้าสินค้ามือสองและสินค้าใช้แล้วจากเอเซียมูลค่าประมาณ 2.12 พันล้านเหรียญฯ และนำเข้าจากยุโรปประมาณ 12.35 พันล้านเหรียญฯ สินค้าเหล่านี้ที่ถูกนำเข้าจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบการนำเข้าในลักษณะเดียวกับการนำเข้าปกติ ในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบที่ควบคุมการผลิตสินค้านั้นๆ กฎระเบียบการนำเข้า อาจต้องมีการเสียภาษีนำเข้า ขึ้นอยู่กับเหตุผลในการนำเข้า (เป็นของบริจาค หรือ ซื้อเพื่อนำมาขาย) ประเทศแหล่งกำเนิด ประเภทสินค้าและสภาพสินค้า

 

สินค้ามือสองที่สหรัฐฯนำเข้ามากที่สุดคือ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า มูลค่านำเข้ารวมในปี 2022 ประมาณ 28.9 ล้านเหรียญฯ โดยมีแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญ ดังนี้                

อันดับ

ประเทศ

มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ

(ล้านเหรียญฯ)

สัดส่วนร้อยละ

การนำเข้ารวมทั้งสิ้น

1

ปากีสถาน

14.00

48.5

2

แคนาดา

1.69

5.85

3

ฝรั่งเศส

1.65

5.70

4

ประเทศไทย

1.60

5.53

5

สหสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรตส์

1.16

4.00

   

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้                                                                                                                                                                              

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

thThai