HKTDC Research และ UOB Hong Kong ได้ร่วมกันสำรวจความคืบหน้าต่อเนื่องจากปี 2566 โดยมุ่งติดตามพัฒนาการด้านความยั่งยืนและแนวโน้มการลงทุนของภาคธุรกิจในเขต GBA พร้อมทั้งศึกษาการปรับตัวของภาคธุรกิจในการกระจายซัพพลายเชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนกลยุทธ์การค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งผลสำรวจปี 2567 พบว่า ภาคธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) มุ่งขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การกระจายความเสี่ยงซัพพลายเชน การขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพสูง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ESG) ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
การศึกษานี้อ้างอิงจากแบบสำรวจความคิดเห็นของ 600 บริษัทในฮ่องกงและ 5 เมืองสำคัญของ GBA ได้แก่ กวางโจว เซินเจิ้น ฝอซาน ตงกวน และจงซาน พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลการสำรวจจากปี 2566 ที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียนและความยั่งยืนใน GBA
อาเซียน: จุดหมายสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับซัพพลายเชนต่างประเทศที่แข็งแกร่ง
ผลสำรวจเผยว่ากว่า 90% ของธุรกิจใน GBA อยู่ระหว่างดำเนินการหรือเสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างและกระจายความเสี่ยงซัพพลายเชนแล้ว ส่วนที่เหลือมีแผนเริ่มดำเนินการภายในสองปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนกลายเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของภาคธุรกิจ ในการปรับโครงสร้างซัพพลายเชน ธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งปรับด้านการจัดซื้อ (87%) ตามมาด้วยการขนส่ง (82%) และการผลิต (82%) อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนมิได้หมายถึงการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศทั้งหมด
ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่า 60% ขององค์กรธุรกิจเชื่อมั่นในศักยภาพของซัพพลายเชนในเขต GBA โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง ขณะที่ 52% มองว่าระบบโลจิสติกส์มีความพร้อมรองรับการขยายตัวสู่ตลาดต่างประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศนั้น อาเซียนยังคงเป็นจุดหมายสำคัญอันดับหนึ่งของธุรกิจใน GBA
ภาคธุรกิจใน GBA เร่งขยายฐานการผลิตและจัดหาในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ ใน 3 ปี
ผลสำรวจระบุว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กิจกรรมการผลิตและการจัดหาของภาคธุรกิจใน GBA จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดย 84% ขององค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนรักษาหรือเพิ่มกำลังการผลิตและการจัดหาในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มจาก 31% ในปี 2566 กว่าครึ่ง แม้ว่าหลายบริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนแล้ว แต่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนในต่างประเทศยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักในระยะยาว
ภาคธุรกิจใน GBA ย้ำความสำคัญของหุ้นส่วนเศรษฐกิจจีน-อาเซียน
ผลสำรวจล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจใน GBA กำลังให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ช่วยเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและอาเซียน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและอาเซียนได้รับการจัดอันดับเป็นปัจจัยดึงดูดสำคัญที่สุด (39%) รองลงมาคือข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับตลาดโลกอื่น ๆ (37%) และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (37%) ซึ่งตอกย้ำบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงจีนกับตลาดโลก
บริษัทใน GBA คาดการณ์การลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้น 25% ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ภาคธุรกิจ GBA กำลังเร่งลงทุนด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า 81% ของบริษัทได้ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 65% ในปี 2566 หรือขยายตัวร้อยละ 16 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติด้าน ESG ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (42%) การใช้แนวปฏิบัติสำนักงานสีเขียว (40%) และการใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (39%) โดยอัตราการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในด้าน ESG ภายในภูมิภาค
ฮ่องกง ศูนย์กลางเชื่อมโยง GBA สู่ตลาดอาเซียน
ในด้านกิจกรรมการค้าและการลงทุนที่มุ่งเน้นอาเซียน ธุรกิจใน GBA ตระหนักถึงบทบาทของฮ่องกงในฐานะ “ซุปเปอร์คอนเนคเตอร์” ที่เชื่อมโยง GBA กับอาเซียนมากขึ้น หลายบริษัทมองว่าฮ่องกงมีศักยภาพด้านบริการที่สอดคล้องกับความต้องการและมีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทใน GBA ขยายธุรกิจสู่ตลาดอาเซียนและใช้ประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาในระดับภูมิภาค
ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
บทบาทของฮ่องกงในการเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่าง GBA และอาเซียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ประการได้แก่ การกระจายความเสี่ยงซัพพลายเชน การขยายตลาด และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงนี้และสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างฮ่องกงและประเทศอาเซียน ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ปรับตัวให้สอดคล้องด้วยการร่วมมือทางการค้าผ่านฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล: https://research.hktdc.com/en/article/MTg5ODMxNTk3OQ