รัฐบาลเยอรมันคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.3% ในปีนี้

รัฐบาลกลางเยอรมันได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยตัวเลชผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีปัจจุบันน่าจะโตได้เพียง 0.3% เท่านั้น สำนักข่าว Handelsblatt ทราบข้อมูลนี้ล่วงหน้าจากวงในของรัฐบาล แต่จากการประเมินฯ เมื่อสามเดือนที่แล้วรัฐบาลฯ ได้เคยตั้งเป้าว่า GDP ของประเทศในปี 2025 น่าจะโต 1.1% ด้านนาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ จากพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) จะนำเสนอตัวเลขใหม่นี้ ในวันพุธหน้าในฐานะส่วนหนึ่งของรายงานเศรษฐกิจประจำปี และรัฐบาลฯ ก็คาดว่า GDP ของปี 2026 จะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยโดยโตเพียง 1% เท่านั้น เมื่อมองกลับไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว รัฐบาลฯ ได้คาดการณ์ว่า GDP ปี 2026 อาจโตได้ 1.6% เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในทันทีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดค่าการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศลงอย่างมาก โดย IMF เห็นว่า ปีนี้เศรษฐกิจของเยอรมนีจะเติบโตได้เพียง 0.3% เท่านั้น ช่องว่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะค่อย ๆ กว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเยอรมนีอยู่ในลำดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศที่ได้รับการตรวจสอบโดย IMF ซึ่งแม้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และอิตาลีจะอ่อนแอลงเช่นกัน แต่ก็ยังคงสูงกว่าเยอรมนีอย่างมาก โดย IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวขึ้น 0.8% และ 0.7% ตามลำดับ สำหรับปีหน้า (2026) IMF คาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโต 1.1% ซึ่งลดลง 0.3% จากที่เคยประเมินในฤดูใบไม้ร่วงปี 2024 ซึ่งหมายความว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับดังกล่าวของเยอรมนีจะอยู่ในกลุ่มล่างของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เยอรมนียังคงไม่ใช่อันดับสุดท้าย เพราะ IMF ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของอิตาลี และญี่ปุ่นในปีหน้าเชิงลบกว่าเดิม

 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำต่าง ๆ ของเยอรมนีคาดการณ์ว่า GDP จะมีการเติบโตเฉลี่ย 0.3% ในปี 2025 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของพวกเขาที่เปิดเผยในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่สถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ที่ตั้งอยู่ในเมือง Kiel คาดการณ์ว่า ปีนี้เยอรมนีจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ สถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) เห็นว่า การเติบโตของ GDP สูงถึง 1.1% นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ สถาบันวิจัยของสำนักข่าว Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) คาดการณ์ว่า GDP จะหดตัวเล็กน้อยในปี 2025 ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้สังเกตการณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเป็นไปตามการประเมินนี้ จะเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ที่ GDP ลดลง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเยอรมนี การวิเคราะห์ครั้งใหม่โดยสถาบัน Leibniz เพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งเมือง Halle (IWH – Leibniz-Institut für Wirtschaftsforschung Halle) ได้คาดว่า ในอนาคตจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับบางสถาบัน สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนานในช่วงต้นศตวรรษนี้ เนื่องจากระหว่างปี 2023 – 2029 ศักยภาพการผลิต (Potential Output) มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ต่อปีเท่านั้น หมายความว่า เยอรมนีจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตถึง 3 ใน 4 ส่วนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 1996 – 2023 ศักยภาพการผลิตเติบโตเฉลี่ยที่ 1.3% ต่อปี ในปี 2024 เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลง 0.2% นโยบายของนาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เกิดความกังวลว่า เยอรมนีน่าจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในปีนี้ โดยก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนาย Trump นาย Trump ได้เคยประกาศเอาไว้ว่า จะจัดเก็บภาษีนำเข้าแบบอัตราคงที่ 10% จากสหภาพยุโรป (EU) เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก สำหรับการประมาณการณ์ในครั้งนี้ IfW ได้ประมาณการภาษีศุลกากรเบื้องต้นจาก EU ไว้ที่ 5% ด้วยเหตุนี้เพียงอย่างเดียว Ifw ยังคาดการณ์อีกว่า การส่งออกทั้งหมดของเยอรมนีน่าจะลดลง 1% การปรับลดค่าประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจลงต่อไป จะส่งผลให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 พรรคการเมืองต่าง ๆ กำลังแข่งขันกันอย่างหนัก และนำเสนอนโยบายต่าง ๆ ออกมาว่า พวกเขาจะสามารถนำเศรษฐกิจของเยอรมนีผ่านวิกฤตได้อย่างไร ณ เวลานี้ แนวคิดของกลุ่ม Union หรือกลุ่มสหภาพที่ประกอบด้วยพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands) และพรรคสหภาพสังคมนิยมคริสต์เตียนแห่งนครรัฐบาวาเรีย (CSU – Christlich-Soziale Union in Bayern) และพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) ก็ดำเนินไปในอีกด้านหนึ่ง ในขณะที่ พรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) และพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ก็ดำเนินไปในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งกันในระดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่ม Union และ FDP ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีมากขึ้น และต้องการลดภาษีนิติบุคคลโดยรวมลง พรรค SPD และ Grünen กลับเชื่อว่าเงินอุดหนุนของรัฐ และเบี้ยประกันการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

 

ในขณะเดียวกัน พันธมิตรของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เริ่มจะไม่ลงรอยกัน (เพราะอยู่ในช่วงหาเสียง) อย่างเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า นาย Lars Klingbeil หัวหน้าพรรค SPD ก็ออกมาโจมตีนาย Habeck รัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ของพรรคกรีนอย่างรุนแรง โดยเขาประหลาดใจที่ Habeck มีเวลามาเขียนหนังสือแทนที่จะใช้เวลาดังกล่าวมาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ หนังสือชื่อว่า “Den Bach rauf (ย้อนลำธาร)” ของนาย Habeck จำนวน 144 หน้า ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยของนาย Habeck กล่าวตอบข้อกล่าวหาข้างต้นว่า “พรรค SPD เกรงกลัว Habeck ดังนั้น จึงออกมากำลังโจมตีเขาในเรื่องส่วนตัว” ในขณะที่นาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรี (SPD) ได้ล้อเลียนบรรดาผู้วิจารณ์นาย Habeck และกล่าวย้ำว่า เขาเองก็ได้เตือนนาย Habeck ให้เร่งจัดการกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนมานานแล้ว ตามข้อมูลของสำนักข่าว Handelsblatt ข้อพิพาทระหว่างพรรค SPD และพรรคกรีน คือ ใครจะเป็นผู้ที่สามารถนำเยอรมนีออกจากวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ ในระหว่างการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำปี กระทรวงเศรษฐกิจฯ ของพรรคกรีนวางแผนที่ถลกเนื้อหาในนโยบายรัดเข็มขัดของนาย Christian Lindner ผู้นำพรรค FDP และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ร่างรายงานจากกระทรวงนาย Habeck ระบุตามที่ Handelsblatt รายงานครั้งล่าสุดว่า “เมื่อเปรียบเทียบนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา แนวทางการดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวด ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วจากวิกฤตพลังงาน ได้เลวร้ายลงไปอีก” โดยกล่าวหาว่า เราต้องแลกด้วยราคาที่แสนแพงเพื่อให้ได้มาซึ่ง “การพัฒนาเศรษฐกิจที่อ่อนแอ” และ “การไม่เติบโตทางเศรษฐกิจ” กระทรวงการคลังของนาย Jörg Kukies ซึ่งขณะนี้ อยู่ภายใต้การนำของพรรค SPD กล่าวว่า ได้ออกมาคัดค้านการกำหนดนโยบายบางส่วนเหล่านี้แล้ว และเรียกร้องให้มีการลดความเข้มข้นลง ซึ่งการกระทำแบบนี้ของนาย Kukies มีคำอธิบายที่แตกต่างกันถึงแรงจูงใจในการตัดสินใจที่เขาทำเช่นนี้ อย่างแรกมีการได้ยินมาว่า การมองย้อนกลับไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่บางแหล่งข่าวก็กล่าวกันว่า SPD ไม่ต้องการแสดงบทบาทในด้านนโยบายการเงินในวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเด่นชัดในเวลานี้ เนื่องจากนาย Scholz นายกรัฐมนตรีเองก็เคยสนับสนุนแนวทางของนาย Lindner มานานแล้วเช่นกัน ขณะนี้มีการลงคะแนนเสียงรอบสุดท้ายเกี่ยวกับคำที่จะเลือกใช้ในการตีพิมพ์รายงานดังกล่าวอยู่

 

จาก Handelsblatt 14 กุมภาพันธ์ 2568

thThai