เนื้อหาสาระข่าวและบทวิเคราะห์: กระแสความนิยมและแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งเผยให้เห็นจากการรายงานล่าสุดของสมาคมผู้ประกอบการสินค้าตราห้าง (Private Label Manufacturers Association: PLMA) ชี้ให้เห็นว่ายอดขายของสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายในยี่ห้อของห้างค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ House Brand นั้นทำยอดขายสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด สะท้อนว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯหันมาให้ความสำคัญกับสินค้า Private Label มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หากพิจารณาจากกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งหมด จะพบว่าในปี 2024 ยอดขายกลุ่มสินค้าอาหารแช่เย็น (Refrigerated) มียอดขายรวมมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ (Liquor) มีอัตราการปรับตัวของยอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 24.2% และสำหรับปริมาณการขายกลุ่มสินค้าอาหารทั่วไป (General Food) มีปริมาณขายรวมมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านหน่วย และกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์มีอัตราการปรับตัวของยอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 18.1% เช่นกัน
โดยในภาพรวมทั้งหมดนั้นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 77% และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 71% รายละเอียดปรากฎดังตารางด้านล่าง
ตารางแสดงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างยอดขาย (Dollar Sales) และปริมาณการขาย (Unit Sales) สินค้า Private Label ปี 2024 และอัตราร้อยละเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับปี 2023 รวมสินค้าอุปโภคบริโภค ทุกกลุ่มสินค้า
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนความนิยมในสินค้า Private Label
John Mercer หัวหน้าแผนกวิจัยจาก Coresight Research ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่ย้ำคิดย้ำทำมากขึ้น กล่าวคือ ผู้บริโภคจะทำการเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อสินค้ามากขึ้น และเลือกที่จะซื้อสินค้าที่ราคาต่ำกว่า ในปริมาณที่น้อยชิ้นกว่าอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนมักจะยึดติดกับราคาสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง (น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ/ปี) ยิ่งเก็บหอมรอมริบมากขึ้นสวนทางกับทิศทางของบริษัทผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับอุปโภคบริโภค (Consumer Packaged Goods: CPG) รายใหญ่หรือสินค้าที่มียี่ห้อดัง ที่ยังคงตั้งราคาขายสินค้าสูงเหมือนเดิม ท่ามกลางเม็ดเงินในมือผู้บริโภคที่ตรงกันข้ามนั้น ก็ยิ่งเป็นการเปิดทางให้สินค้า Private Label ตีตลาดได้มากขึ้น
จุดแข็งของสินค้า Private Label คือได้เปรียบการแข่งขันในราคาสินค้า เนื่องจากสินค้า Private Label มักจะมีราคาขายที่ต่ำกว่าสินค้าที่มียี่ห้อชั้นนำ นอกเหนือจากในเรื่องราคาแล้วนั้น คุณภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคย่อมให้ความสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯจำนวนมากให้การยอมรับสินค้า Private Label ว่ามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับสินค้าชนิดเดียวกันที่มียี่ห้อชั้นนำ โดยผลจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงที่ราคาอยู่ในระดับเข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น
การเติบโตของสินค้า Private Label ต่อไป
Simeon Gutman นักวิเคราะห์การค้าปลีกในสหรัฐฯของ Morgan Stanley คาดการณ์กว่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค Private Label อาจเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 40% มีมูลค่ายอดขายรวมประมาณ 4.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 และผลของการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นที่ประจักษ์อย่างนี้ จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงในตลาดสินค้าปลีกของสหรัฐฯอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันที่เริ่มมีธุรกิจห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากในสหรัฐฯทยอยปรับตัวที่จะลงทุนไปกับการผลิตสินค้า Private Label ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ (Supercycle) ของตลาดสินค้า Private Label ต่อไป และนั่นหมายถึงการเข้ามามีส่วนแบ่งในการเพิ่มยอดขายจากฐานลูกค้าเดิม (Share of Wallet) และนวัตกรรมในสินค้าที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกสินค้าให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้บรรดาบริษัทห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มสินค้า Private Label ระดับพรีเมียม (Premium Private Label) ซึ่งผู้บริโภคในสหรัฐฯยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้ากลุ่มนี้ด้วยคุณภาพสินค้าในราคาที่เข้าถึงได้
รัฐทางตอนใต้คือพื้นที่สำคัญในการขยายตลาด
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ารัฐในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ อาทิ รัฐฟลอริดา (Florida) รัฐนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) รัฐจอร์เจีย (Georgia) และรัฐเท็กซัส (Texas) เป็นตลาดขนาดใหญ่และสำคัญสำหรับสินค้า Private Label เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีครอบครัวเดี่ยว (Single-Family) อาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้มีเกิดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารมากกว่าพื้นที่อื่น โดยในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ มีประชากรอยู่ประมาณ 130 ล้านคน (ประมาณ 38% ของประชากรสหรัฐฯทั้งหมด) และล้วนเป็นรัฐที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ทำให้ผู้คนในพื้นที่มีความต้องการสินค้าที่ตอบสนองต่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารพร้อมปรุง (Prepared Food) เป็นต้น และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ภายใน 4 รัฐนี้มีปริมาณห้างค้าปลีก/ซุปเปอร์เก็ตชื่อดัง อาทิ Walmart, Publix และ H-E-B กระจายอยู่รวมกว่า 50,000 สาขา ซึ่งถือว่ามากพอที่จะรองรับการขยายตลาดสินค้า Private Label ได้อย่างดียิ่ง
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: การผลิตสินค้าและส่งออกมายังสหรัฐฯในฐานะ Private Label หรือ House Brand ของห้างค้าปลีก/ค้าส่ง หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของสหรัฐฯ อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางและวิธีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพระดับสากลของไทยมายังสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มซึ่งบริษัทผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันอยู่แล้ว เพื่อให้ประเทศไทยสามารถป้อนสินค้าที่ราคาและคุณภาพสอดคล้องไปกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งการรวบรวมรายงานข่าวประจำสัปดาห์ในข้างต้นได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯหันมาให้ความสำคัญกับสินค้า Private Label มากขึ้น ด้วยเหตุผลเรื่องราคาเป็นสำคัญแต่คุณภาพสินค้าจะต้องอยู่ในระดับดีเทียบเท่ากันด้วย ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังรวมถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าไทยที่กำลังมองหาโอกาสส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ อาจดำเนินการเตรียมความพร้อมการผลิตสินค้าในฐานะ Private Label ไว้เป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่งในการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการ/ผู้นำเข้าของสหรัฐฯในโอกาสต่าง ๆ
ที่มา: Dairy Reporter เรื่อง: “Private Label Sales ‘on cusp of a super cycle’ with Dairy in Pole Position” โดย: Teodora Lyubomirova สคต. ไมอามี /วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568