เนื้อข่าว
จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ในปี 2567 จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเวียดนามส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์รวม 2.62 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปี 2566 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.4
ในปี 2567 เวียดนามส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีน จำนวน 2.43 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 92.85 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด รวมมูลค่า 1,060 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 91.77 ของมูลค่าการส่งออก ราคาส่งออกเฉลี่ยไปยังจีนอยู่ที่ 435.3 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2566
แม้จะมีการลดลง แต่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าการเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว การส่งออกในปี 2567 อยู่ที่ 647,840 ตัน ลดลงร้อยละ 43.1 จากปี 2566 มูลค่า 119.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 48.6 โดยราคาส่งออกเฉลี่ยของมันสำปะหลังอยู่ที่ 254 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 9.7
ราคาส่งออกเฉลี่ยของมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ในปี 2567 อยู่ที่ 440.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 การลดลงนี้เกิดจากความต้องการที่ลดลงสำหรับอาหารสัตว์ในจีน เนื่องจากน้ำท่วมและภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์
การส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนามยังคงพึ่งพาตลาดจีนอย่างมาก โดยมีการเข้าถึงตลาดอื่น ๆ อย่างจำกัด เช่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แม้จะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับภูมิภาคเหล่านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามคาดการณ์ว่า จีนจะยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับมันสำปะหลังของเวียดนามในปี 2568 เนื่องจากความต้องการที่สูง ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียง และต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าตลาดอื่น ๆ
ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เวียดนามมีโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังมากกว่า 140 แห่ง โดยมีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังสดสูงถึง 13.4 ล้านตันต่อปี และมีความสามารถในการแปรรูปจริง 9.3 ล้านตัน
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและเวียดนามมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 230,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตมากถึง 11.5 เท่าภายในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศสูงเกิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากศุลกากรเวียดนามระบุว่า ในปี 2567 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและเวียดนามอยู่ที่ 205,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 33,300 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2566 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการค้าระหว่างสองประเทศจะเติบโตขึ้น แต่เวียดนามยังคงประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน โดยในปี 2567 ตัวเลขขาดดุลการค้าของเวียดนามอยู่ที่ 83,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 69.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าส่งออกของเวียดนาม โดยสินค้าหลักที่เวียดนามส่งออกไปยังจีน ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน แม้ว่าจีนจะสามารถผลิตมันสำปะหลังได้เอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศ
ปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากประเทศไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนามมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังราว 530,000 เฮกตาร์ และสามารถผลิตมันสำปะหลังได้มากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีน
ในปี 2567 รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดเป้าหมายให้จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าการเกษตรที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อาทิ มันสำปะหลัง ทุเรียน และพริกไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน และมีโอกาสขยายตัวอย่างชัดเจนในอนาคต
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
ปัจจุบัน ประเทศจีนนับเป็นผู้นำเข้ามันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของปริมาณความต้องการมันสำปะหลังทั้งหมดภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงพึ่งพาการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก สำหรับแหล่งนำเข้ามันสำปะหลังหลักของจีน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เวียดนามส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังจีน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 92.85 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม และคิดเป็นร้อยละ 91.77 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าในกลุ่มนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของเวียดนามยังคงพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังของจีนจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ตลาดมันสำปะหลังในจีนก็มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากจีนไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าจากไทยและเวียดนามเพียงสองประเทศเท่านั้น แต่ยังนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว กัมพูชา แทนซาเนีย และไนจีเรีย เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดของผู้ส่งออกแต่ละประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังจีน ควรติดตามสถานการณ์การแข่งขันจากเวียดนามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเวียดนามกำลังขยายการส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงกับมาตรฐานที่เข้มงวดของจีน โดยเฉพาะด้านความสะอาด การกำจัดสิ่งปลอมปน และการลดปริมาณฝุ่น ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในปัจจุบัน