เนื้อข่าว
ปี 2568 กำลังจะเป็นปีที่สำคัญของอุตสาหกรรมพริกไทยเวียดนาม ท่ามกลางการลดลงของผลผลิตทั่วโลกและความผันผวนของความต้องการในตลาดหลัก ซึ่งสร้างทั้งความท้าทายและโอกาสให้กับผู้ส่งออก
นาง Hoang Thi Lien ประธานสมาคมพริกไทยและเครื่องเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า การผลิตพริกไทยทั่วโลกคาดว่าจะลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกันในปี 2568 สาเหตุหลักมาจากการที่เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทุเรียน กาแฟ และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสภาวะอากาศที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตและทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าพริกไทยจากเวียดนามรายใหญ่ ได้ลดการนำเข้าลงอย่างมาก โดยหันไปสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76.8 ส่งผลให้ยอดส่งออกพริกไทยจากเวียดนามไปยังจีนลดลงถึงร้อยละ 82 ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม แม้ยอดสั่งซื้อจะลดลง แต่จีนยังคงมีความต้องการพริกไทยสูง จึงคาดว่าจะยังคงพึ่งพาการนำเข้าจากเวียดนามในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปี 2568 ขณะเดียวกัน ความต้องการจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องเทศในสหรัฐฯ และยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกพริกไทยของเวียดนาม ซึ่งตลาดเหล่านี้มีโอกาสสำคัญสำหรับผู้ผลิตเวียดนาม เนื่องจากอุปทานทั่วโลกยังคงตึงตัว
นาย Ho Tri Nhuan ผู้จัดการบริษัท Gohan คาดว่าในปี 2568 การส่งออกพริกไทยของเวียดนามจะมีโอกาสเติบโต แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะแม้ว่าความต้องการจะคงที่และอุปทานที่ลดลงจะช่วยให้ราคาสูงขึ้น แต่ราคายังสามารถผันผวนได้ตามพฤติกรรมการซื้อของตลาดหลัก โดยคาดว่าจีนจะกลับมาซื้อพริกไทยเพิ่มขึ้นเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวของเวียดนามเริ่มต้นในเดือนมีนาคมและเมษายน ขณะที่ผู้ซื้อจากสหรัฐฯ อาจชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากยังมีสต็อกคงเหลือจากปี 2567 ดังนั้น ธุรกิจควรติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด วางแผนการจัดซื้อและจัดเก็บวัตถุดิบ รวมถึงบริหารการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาการเติบโตและเพิ่มผลกำไรสูงสุด
นาย Nguyen Tan Cong ประธานสหกรณ์ Nam Yang ในจังหวัดยาลาย (Gia Lai) เน้นย้ำว่าการปลูกพืชร่วมกัน (Intercropping) เป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงจากโรคพืช และส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรเวียดนามกำลังนำมาใช้โดยปลูกพริกไทยร่วมกับต้นกาแฟและไม้ผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการผลิตพริกไทย นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ แทนการใช้สารเคมี ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสนับสนุนความยั่งยืนในตลาดโลก
ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม การส่งออกพริกไทยของเวียดนามในปี 2567 มีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยพริกไทยดำมีมูลค่าการส่งออก 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และพริกไทยขาวกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าพริกไทยรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยนำเข้าถึง 72,311 ตันในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 จากปี 25663 และทำสถิติใหม่สูงสุดในการส่งออก ส่วนตลาดหลักอื่นๆ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และจีน
ด้านการนำเข้า ในปี 2567 เวียดนามนำเข้าพริกไทยมากกว่า 36,700 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 176.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.5 โดยมีอินโดนีเซีย บราซิล และกัมพูชา เป็นผู้ส่งออกหลัก โดยเวียดนามนำเข้าจากอินโดนีเซียและกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 431.2 และ 80.7 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าจากบราซิลลดลงร้อยละ 42.4
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ตามรายงานของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม พบว่า ในปี 2567 เวียดนามมีพื้นที่ปลูกพริกไทยทั่วประเทศประมาณ 113,000 เฮกตาร์ และมีผลผลิตประมาณ 190,000 ตัน ซึ่งคาดว่าในอนาคต พื้นที่เพาะปลูกอาจลดลงเหลือประมาณ 110,000 เฮกตาร์ สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ราคาพริกไทยลดลง ได้แก่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การระบาดของแมลงศัตรูพืชและโรคพืช รวมถึงการที่ราคาของผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น ๆ เช่น ทุเรียนและกาแฟปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน อุตสาหกรรมพริกไทยของเวียดนามกำลังเปลี่ยนจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปสู่การยกระดับคุณภาพ การส่งเสริมการแปรรูป การพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และการขยายตลาดให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานพริกไทยทั่วโลก ซึ่งจะช่วยรักษาความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมพริกไทยเวียดนามในตลาดต่างประเทศ
ตามรายงานของสมาคมพริกไทยและเครื่องเทศเวียดนาม (VPSA) ในปี 2567 เวียดนามส่งออกพริกไทยทุกประเภทจำนวน 250,600 ตัน แบ่งเป็นพริกไทยดำ 220,269 ตัน และพริกไทยขาว 30,331 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมเกือบ 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยพริกไทยดำมีมูลค่าประมาณ 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ และพริกไทยขาว 200.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาส่งออกเฉลี่ยของพริกไทยดำอยู่ที่ 5,154 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนพริกไทยขาวมีราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 6,884 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 บริษัท Olam Viet Nam เป็นผู้ส่งออกพริกไทยรายใหญ่ที่สุดในปี 2567 โดยส่งออกไปทั้งหมด 27,800 ตัน คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม โดยตลาดส่งออกพริกไทยที่ใหญ่ที่สุด คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปริมาณส่งออก 72,311 ตัน คิดเป็นร้อยละ 28.9 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 16,391 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 (คิดเป็นร้อยละ 6.5) เยอรมนี 14,580 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.2 (คิดเป็นร้อยละ 5.8) เนเธอร์แลนด์ 10,745 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 (คิดเป็นร้อยละ 4.3) และอินเดีย 10,617 ตัน ลดลงร้อยละ 17.1 (คิดเป็นร้อยละ 4.2)
ในทางกลับกัน ในปี 2567 เวียดนามนำเข้าพริกไทยทุกชนิดรวม 36,727 ตัน แบ่งเป็นพริกไทยดำ 31,755 ตัน และพริกไทยขาว 4,972 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 176.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2566 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 99.5 อินโดนีเซีย บราซิล และกัมพูชา เป็นผู้ส่งออกพริกไทยรายใหญ่สามอันดับแรกของเวียดนาม โดยมีปริมาณการนำเข้าที่ 17,194 ตัน 9,558 ตัน และ 6,798 ตัน ตามลำดับ การนำเข้าจากอินโดนีเซียและกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมากที่ร้อยละ 431.2 และร้อยละ 80.7 ขณะที่การนำเข้าจากบราซิลลดลงร้อยละ 42.4 บริษัท Olam Viet Nam ยังเป็นผู้นำเข้าพริกไทยรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในปี 2567 โดยนำเข้า 12,462 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 และครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33.9
นอกจากนี้ ตามข้อมูลจากสมาคมพริกไทยและเครื่องเทศเวียดนาม (VPSA) ปัจจุบันเวียดนามมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและแปรรูปพริกไทยประมาณ 200 ราย โดยในจำนวนนี้ 15 รายเป็นบริษัทชั้นนำที่มีส่วนแบ่งการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของประเทศ อุตสาหกรรมพริกไทยของเวียดนามยังมีโรงงานแปรรูปจำนวน 14 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 5 แห่งได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ และครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกเกือบร้อยละ 30 เทคโนโลยีการแปรรูปพริกไทยในเวียดนามได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานระดับสากล และวิสาหกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตามมาตรฐาน ASTA, ESA และ JSSA สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น พริกไทยดำและพริกไทยขาวทั้งเมล็ด พริกไทยป่น รวมถึงผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
ผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกพริกไทยในเวียดนามและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพริกไทยจะส่งผลต่อทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องกับตลาดโลก การมุ่งเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพและการแปรรูปพริกไทยจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมพริกไทยของเวียดนาม ทำให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ แม้จะมีปัญหาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการระบาดของโรคที่กระทบผลผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกพริกไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยอรมนี ขณะเดียวกัน การนำเข้าพริกไทยจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและกัมพูชาก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การปรับตัวของอุตสาหกรรมพริกไทยเวียดนามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐานสากลจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของการส่งออกพริกไทยในตลาดโลก
ถึงแม้อุตสาหกรรมพริกไทยของเวียดนามจะเผชิญความผันผวนจากหลายปัจจัย แต่ก็เปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยขยายธุรกิจได้หลายด้าน เช่น การนำเข้าพริกไทยเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปพริกไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น พริกไทยป่นและเครื่องปรุงรสที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรรมพริกไทยในไทยด้วยแนวทางยั่งยืน เช่น การปลูกพริกไทยร่วมกับกาแฟ การติดตามแนวโน้มตลาดและการปรับตัวต่อการนำเข้าพริกไทยจากประเทศอื่น ๆ อย่างอินโดนีเซียและกัมพูชา จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และรักษาการเติบโตของการส่งออกพริกไทยจากไทย