จากการจัดอันดับประจำปีของสหภาพยุโรปล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดย The Europe in Data portal และธนาคาร Česká sporitelna สาธารณรัฐเช็กกลับมาติด 1 ใน 10 เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดของสหภาพยุโรปอีกครั้ง โดยติดอยู่ในอันดับที่ 9 (ปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 14) ซึ่งครั้งสุดท้ายที่สาธารณรัฐเช็กครองตำแหน่งนี้คือในปี 2022 ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้การจัดอันดับลดลง ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่าจากการวัดดัชนีความมั่งคั่งและสถานะทางการเงิน อันดับที่ดีขึ้นนั้นเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และหนี้สาธารณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษายังพิจารณาปัจจัย เช่น การเติบโตของ GDP และราคาที่อยู่อาศัยด้วย ทั้งนี้ ในบริบทของยุโรปโดยรวม สวีเดนเป็นผู้นำในกลุ่มที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุด รองลงมาคือเยอรมนี ซึ่งยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้แม้จะเผชิญกับความท้าทายในปัจจุบัน กรีซอยู่ลำดับท้ายสุดของการจัดอันดับตามมาด้วยโปแลนด์ โดยทั้งสองประเทศประสบปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและอัตราการลงทุนที่ต่ำ
ในปี 2023 อัตราเงินเฟ้อของสาธารณรัฐเช็กลดลงเหลือร้อยละ 2.7 ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 15 ในปี 2022 ส่งผลให้เงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารแห่งชาติเช็กมากขึ้น ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น รวมถึงหนี้สาธารณะก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเกิน 3 ล้านล้านเช็กคราวน์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยลดระดับลงเหลือประมาณร้อยละ 42 ของ GDP ซึ่งทำให้สาธารณรัฐเช็กอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีหนี้น้อยที่สุด 3 อันดับแรกของสหภาพยุโรป ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเขต Eurozone เกือบสองเท่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “บริษัทเช็กบางแห่งเริ่มกลับมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินทุนของเช็กเติบโตแข็งแกร่งขึ้น ชดเชยกับกระแสเงินกำไรที่ไหลออกก่อนหน้านี้” Mr. Martin Wichterle เจ้าของกลุ่มวิศวกรรม Wikov กล่าว ซึ่งเห็นได้จากการที่ ČEZ และ ČEPS เข้าซื้อกิจการในภาคส่วนก๊าซ นอกจากนี้ บริษัทในเช็กยังขยายการดำเนินงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ผ่านการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น EPH ของ Mr. Daniel Kretínský และ Sev.en ของ Mr. Pavel Tykač แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ “ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและปัญหาสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้คะแนนโดยรวมของเช็กลดลง” Mr. Tomáš Odstrčil จาก The Europe in Data portal กล่าวถึงอุปสรรคต่อการปรับปรุงอันดับของสาธารณรัฐเช็กในอนาคต นอกจากนี้ Mr. David Navrátil หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Česká sporitelna อธิบายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเช็กยังคงเป็นความท้าทาย “เศรษฐกิจของเช็กไม่ได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ปัจจุบันเรามี GDP คิดเป็นร้อยละ 80 ของ GDP เยอรมนี และ GDP ต่อชั่วโมงการทำงานของเช็กคิดเป็นร้อยละ 60 ของเยอรมนีเท่านั้น” ซึ่งหมายความว่าชาวเช็กต้องทำงานนานขึ้นถึง 1 ใน 5 ส่วนเพื่อชดเชยกับส่วนต่างนี้ โดยสาธารณรัฐเช็กยังคงเผชิญกับอุปสรรคต่อการเติบโตตั้งแต่ปี 2019 มูลค่าการส่งออกลดลงจากร้อยละ 84 เป็นร้อยละ 74 ของค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป รวมถึงการบริโภคต่อหัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับกำลังซื้อ การศึกษานี้ยังระบุด้วยว่ามูลค่าเพิ่มจากการส่งออก ของประเทศอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับ 7 ในสหภาพยุโรป ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการพึ่งพาการประกอบชิ้นส่วนมากกว่านวัตกรรม เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญ ปัจจัยเหล่านี้จะขัดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ตามรายงานประจำปีของกระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจเช็กในปี 2025 จะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 – 2.5 โดยการฟื้นตัวนี้เกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานที่ต่ำ ค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นแรงผลักดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น สินเชื่อที่ถูกลงและโอกาสในการขายที่แข็งแกร่งขึ้นจะกระตุ้นให้ธุรกิจเพิ่มการลงทุน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งการวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังนี้พิจารณามาจากมุมมองของสถาบันในประเทศ 13 แห่ง รวมถึงธนาคารแห่งชาติเช็กและมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากการเติบโตเพียงร้อยละ 1 ในปีที่ผ่านมา “เศรษฐกิจเช็กในปี 2025 จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ความท้าทายน่าจะมาจากต่างประเทศ การบริโภคในครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น โดยจะมีพื้นฐานสำคัญที่ชดเชยหลังจากหลายปีที่อ่อนแอ” Mr. Vít Hradil หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Cyrrus กล่าวกับสำนักข่าว ČTK ของสาธารณรัฐเช็ก ทั้งนี้ สามารถสรุปดัชนีชี้วัดต่างๆ ได้ดังนี้
- ในปี 2025 อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะทรงตัวที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.5 “หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นคือราคาอาหาร แม้ว่าคาดว่าจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะเดียวกัน การเติบโตของราคาในภาคบริการยังคงสูง ในทางกลับกันคาดว่ากลุ่มเชื้อเพลิงจะมีผลต่อต้านเงินเฟ้อ” ซึ่งหมายความว่าบริการต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้านหรือการซ่อมรถจะยังคงมีราคาแพงขึ้น แต่ในอัตราที่น้อยลงกว่าในปี 2024 ในแง่ดีคือราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงอาจช่วยชดเชยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทำให้การเดินทางประจำวันมีค่าใช้จ่ายลดลงเล็กน้อย Pavel Peterka หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ XTB กล่าว
- ในปี 2025 ค่าจ้าง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 – 6 ซึ่งสูงกว่าเงินเฟ้อและช่วยกระตุ้นรายได้ครัวเรือนอย่างแท้จริง ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นในแง่ของมูลค่าจริง แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของอำนาจซื้อในระดับเทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก “ตามการคาดการณ์ ค่าจ้างที่แท้จริงก่อนการแพร่ระบาดจะฟื้นตัวขึ้นประมาณกลางปี 2026 เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในครัวเรือน” Martin Gürtler นักวิเคราะห์จาก Komerční banka กล่าว
- ในปี 2025 อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 4 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการขายให้กับเยอรมนี แต่อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐเช็กยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเลิกจ้างน่าจะอยู่ในระดับต่ำ และภาคส่วนอื่นๆ ก็พร้อมที่จะรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง “คาดว่าบริษัทต่างๆ จะระมัดระวังในการจ้างงานตลอดปี 2025 แทนที่จะรับพนักงานใหม่เข้ามา บริษัทน่าจะเปลี่ยนไปปรับปรุงประสิทธิภาพของทีมงานที่มีอยู่” Mr. Martin Jánský ซีอีโอของบริษัทจัดหางาน Randstad ČR กล่าวกับ ČTK
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
จากการจัดอันดับประจำปีของสหภาพยุโรปล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดย The Europe in Data portal และธนาคาร Česká sporitelna รวมถึงรายงานของกระทรวงการคลังเช็ก จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเช็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายจากต่างประเทศ อาทิ นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ การปรับตัวในการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มดัวกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกมายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรติดตามความเคลื่อนไหวด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงศึกษาแนวโน้มตลาด กฎระเบียบทางการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปี 2567 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 231,767 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,036.86 ล้านเหรียญสหรัฐ