การที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา โดยได้พบปะหารือและประชุมทวิภาคีร่วมกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงที่สำคัญหลายประการ ได้แก่
ความสัมพันธ์ทางการค้า:
ทั้งสองประเทศให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อพิพาททางการค้าที่มีอยู่ และตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีเป็น 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาต่ออินเดีย ซึ่งมีมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการส่งออกพลังงานจากสหรัฐอเมริกาไปยังอินเดียมากขึ้น ขณะที่นายกัฐมนตรีโมดีให้ความสำคัญกับการลดภาษีศุลกากรและส่งเสริมความสมดุลทางการค้า
ความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหม:
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือระยะเวลา 10 ปี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านอากาศ บก ทะเล อวกาศ และไซเบอร์ นอกจากนี้ อินเดียยังมีแผนจะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบการป้องกันประเทศขั้นสูง รวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-35 จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศที่มีความแน้นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
นโยบายด้านคนเข้าเมือง
ผู้นำทั้งสองได้พูดถึงปัญหาการอพยพ โดยนายกรัฐมนตรีโมดียินดีที่จะรับคนอินเดียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา อย่างผิดกฎหมายกลับประเทศ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้มีการออกวีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูงของอินเดีย
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีก่อการร้าย:
ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงการสนับสนุนในการส่งผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีมุมไบในปี 2551 กลับไปอินเดีย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนตำแหน่งทางการเมืองของโมดีในอินเดีย ซึ่งประกาศตัวเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวต่อปากีสถาน
อย่างไรก็ตาม การประชุมหารือดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจเป็นหลัก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีโมดียังได้เข้าพบกันนาย Tulsi Gabbard ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ Elon Musk นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ Tesla Motors และ SpaceX เพื่อหารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการสำรวจอวกาศด้วย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
แม้ว่าการประชุมทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ จะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางการค้า และนโยบายการย้ายถิ่นฐานเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่สองประเทศนี้เท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย ดังนี้
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือของอินเดีย-สหรัฐอเมริกา ได้แก่
อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
อินเดียจะได้รับเทคโนโลยีทางด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศที่ก้าวหน้าจากสหรัฐอเมริกา เช่น เครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอินเดีย ถ่วงดุลอำนาจกับจีนและปากีสถาน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้รับประโยชน์จากการขายอาวุธและการส่งออกพลังงานไปยังอินเดีย นอกจากจะเป็นการลดการขาดดุลทางการค้ากับอินเดีย ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย (พันธมิตรกลุ่ม Quad)
ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา จะทำให้กรอบความร่วมมือจตุรภาคี (Quad) เข้มแข็งขึ้น และเกิดการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ
จีน
การขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา อาจถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับจีน โดยเฉพาะหากอินเดียได้รับเทคโนโลยีทางการทหารที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลอาจในเอเชีย และส่งผลต่อความมั่นคงของจีน
ปากีสถาน
ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา อาจเพิ่มแรงกดดันต่อปากีสถาน โดยเฉพาะในประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายและข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากนี้ การที่อินเดียเข้าถึงเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงของสหรัฐอเมริกา จะทำให้ความสามารถของกองกำลังความมั่นคงระหว่างอินเดียและปากีสถานมีความแตกต่างกันมากขึ้น
รัสเซีย
ความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกา และอินเดียที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของรัสเซีย ลดการพึ่งพาอาวุธจากรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียส่งออกอาวุธได้ลดลง นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา อาจกดดันให้อินเดียลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียลง เช่น การลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และนำเข้าพลังงานจากสหรัฐอเมริกาแทน
สหภาพยุโรป (EU)
หากอินเดียให้ความสำคัญกับการค้ากับสหรัฐอเมริกา มากขึ้น อาจทำให้การพึ่งพาตลาดยุโรปลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่าง EU และอินเดีย
ด้านผลกระทบต่อไทย
สำหรับโอกาสที่ไทยอาจได้รับ อาทิ
- โอกาสทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวของการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยเฉพาะการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอินเดียอาจสร้างโอกาสให้กับบริษัทไทยในภาคโลจิสติกส์ การส่งออก และห่วงโซ่อุปทาน ในการดำเนินธุรกิจร่วมกับอินเดียและสหรัฐอเมริกา
- ความมีเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยสนับสนุนให้เส้นทางการค้าทางทะเลของไทยปลอดภัยขึ้น
- เกิดความต้องการสินค้าจากไทยที่เพิ่มขึ้น หากการค้ากับสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเกิดการเติบโต และเป็นผลให้กลุ่มชนชั้นกลางของอินเดียขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยว
สำหรับความท้าทายที่ไทยอาจเผชิญ อาทิ แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน โดยที่ผ่านมาไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน และพยายามรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ดี หากอินเดียและสหรัฐอเมริกา กระชับความร่วมมือกันมากขึ้น ไทยอาจถูกกดดันให้เลือกข้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางการทูตของไทย
บทสรุป
การประชุมระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา เป็นการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่ยังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและโลก โดยอินเดียและสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ได้รับประโยชน์หลัก ขณะที่ประเทศอย่างจีน ปากีสถาน และรัสเซียอาจเผชิญกับความท้าทาย
สำหรับไทย การประชุมนี้เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย แต่ต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลท่ามกลางอำนาจมหาอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป
แหล่งที่มา
- Guarded optimism in India as Trump and Modi outline plans to deepen defense partnership, apnews.com, 14 Feb 2025
- Takeaways from Modi, Trump meeting: Cooperation on trade and defense – plus some mutual praise, apnews.com, 14 Feb 2025
- Trump, Modi avoid discussing minority rights in meeting, reuters.com, 14 Feb 2025
- Trade, energy deals, F-35 jets top Modi-Trump talks to strengthen ties, The hindu businessline, 15 Feb 2025.
- A Compact Deal, Starring Modi & Trump Elevating military, commerce and tech partnership dominates India-Us talks, The Economic Times, 15 Feb 2025