จีนประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าหมากสด เน้นย้ำความปลอดภัยผู้บริโภค

ตลาดหมากในเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการบริโภคแบบดั้งเดิม แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจัดให้หมากเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1  แต่ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะตัวในการกระตุ้นประสาท ทำให้ยังคงสามารถดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในประเทศจีนได้เป็นจำนวนมาก มูลค่าตลาดหมากในจีนสูงถึง 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท) และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แหล่งเพาะปลูกหรือแหล่งผลิตหมากที่สำคัญของจีน ได้แก่ มณฑลไหหลำ มณฑลยูนนาน และไต้หวัน โดยไหหลำเป็นแหล่งผลิตหมากที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตมากกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ (ไม่รวมไต้หวัน)

 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 กรมศุลกากรจีนได้ออกประกาศฉบับใหม่ ระงับการนำเข้าหมากสดทั้งหมดเข้ามายังประเทศจีน โดยมาตรการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มงวดด้านความปลอดภัยอาหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมสารอันตรายในผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค จากการศึกษาขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) พบว่า หมากถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 เนื่องจากมีสารอัลคาลอยด์ที่เรียกว่า “สารอาเรโคลีน” ซึ่งมีผลต่อเยื่อบุช่องปากและอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งช่องปากได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ทั้งหมากสดและหมากแห้งยังไม่เข้าข่ายนิยามของ “อาหาร” ตามกฎหมายความปลอดภัยทางอาหารของจีน และไม่เคยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้เป็นวัตถุดิบอาหารชนิดใหม่หรือสารที่ใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่อย่างไรก็ตาม จีนยังคงอนุญาตให้นำเข้าหมากแห้งได้ในฐานะสมุนไพรจีน โดยประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกหมากแห้งไปยังจีนมีเพียง 7 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมา ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไต้หวัน

 

ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคหมากในจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยมีวัฒนธรรมการเคี้ยวหมากสดในภาคใต้ของจีน เช่น มณฑลไหหลำ เขตปกครองตนเองกวางสี และมณฑลยูนนาน ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้หมากแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาจีน และผลิตภัณฑ์แปรรูปสมัยใหม่ ตลาดผลิตภัณฑ์หมากแปรรูปในจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่หมากแห้งสไลด์สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในยาจีน ไปจนถึงขนมหมากเคลือบน้ำตาล และกาแฟผสมสารสกัดจากหมาก แบรนด์ชั้นนำในตลาด เช่น Kouweiwang (口味王) ที่ผลิตขนมหมากเคลือบน้ำตาลสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

 

ทั้งนี้ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมหมาในประเทศจีน เริ่มตั้งแต่ (1) อุตสาหกรรมต้นน้ำ: การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคและประสบการณ์เฉพาะ (2) อุตสาหกรรมกลางน้ำ: กระบวนการแปรรูป ตั้งแต่การเก็บ ล้าง หั่น อบแห้ง และปรุงรส เช่น หมากอบแห้ง ท็อฟฟี่หมาก หมากหมากฝรั่ง เป็นต้น (3) อุตสาหกรรมปลายน้ำ: การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งร้านค้าปลีก (รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายบุหรี่และสุราโดยเฉพาะ ฯลฯ) ตลาดค้าส่ง และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

 

ด้านการแข่งขัน ตลาดมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย โดยบริษัทขนาดใหญ่มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรและการตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น หมากไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ และผลิตภัณฑ์ปราศจากสารเติมแต่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ

 

แนวโน้มความต้องการในอนาคต การเติบโตของตลาดจะยังคงดำเนินต่อไป โดยได้แรงหนุนจากวัฒนธรรมการบริโภคดั้งเดิม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น หมากผสมในหมากฝรั่งและเครื่องดื่ม เพื่อดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ การขยายตลาดไปยังภาคเหนือของจีน การเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นจากภาครัฐ  แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหมากยังต้องเผชิญความท้าทายจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และมุ่งเน้นการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

การที่ประเทศจีนประกาศระงับการนำเข้าหมากสดแต่ยังคงอนุญาตให้นำเข้าหมากแห้งนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสินค้าหมากของไทยในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่  (1) การแปรรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการควรพิจารณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น การผลิตหมากแห้งบรรจุซองพร้อมรับประทาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากหมาก หรือการผลิตเครื่องดื่มผสมสารสกัดจากหมากที่ผ่านการควบคุมปริมาณสารอาเรโคลีนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ควรร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีงานวิจัยรองรับ และ (2) การส่งออกมายังตลาดจีน โดยผู้ประกอบการไทยควรศึกษาระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกและมาตรฐานการผลิตที่ทางการจีนกำหนดไว้ โดยเฉพาะการขอใบรับรอง GMP และ HACCP สำหรับโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดจีน เช่น หมากแห้งสำหรับอุตสาหกรรมยาจีน หรือหมากแห้งคุณภาพสูงสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียม นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่รักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ดี และมีการออกแบบที่ดึงดูดผู้บริโภคจีนรวมถึงการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนในการทำการตลาดและจำหน่ายสินค้า

 

————————————————–

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

กุมภาพันธ์ 2568

แหล่งข้อมูล :

                 https://mp.weixin.qq.com/s/COwomaNWielKe2tEUMghiw

https://m.chinairn.com/news/20240709/103451399.shtml

 https://mp.weixin.qq.com/s/COwomaNWielKe2tEUMghiw

 

thThai