การปิดตัวลงของกลุ่มบริษัท CMC MOTOR ในเคนยา หรือเคนยาจะกลายเป็นสุสานของธุรกิจ?

การประกาศล่าสุดว่า Al-Futtaim Group จากดูไบที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ CMC MOTOR ที่ประกาศว่า บริษัทจะยุติทำธุรกิจของ CMC Motors Group ในเคนยา โดยบริษัท CMC MOTOR เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ทางการเกษตร รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมานานกว่า40 ปี  ปรากฎการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเคนยาว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

 

การตัดสินใจครั้งนี้ของ CMC Motors น่าจะมีสาเหตุที่ มีการยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายบริษัทกับ CMC Motors และสภาพตลาดที่ “ไม่ยั่งยืน” ทำให้ CMC Motors ต้องออกจากตลาดเคนยาไปทั้งหมด หรืออาจจะเป็นการลดขนาดการธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องการผลิตลง

 

โดย CMC Motors ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 และมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนภาคการเกษตรของเคนยาให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานคน และการจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดังต่างๆ ซึ่งบริษัทได้ดำเนินธุรกิจนี้มากว่า 40 ปีแล้วในตลาดเคนยา

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (2019-2024) รวมถึงการสูญเสียสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายของค่ายรถยนต์รายสำคัญ เช่น Ford, Mazda และ Suzuki แม้ว่า จะเพิ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่จากการเข้าซื้อกิจการ Al-Futtaim ก็ตาม ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพบเห็นแนวโน้มที่น่ากังวลของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ตัดสินใจออกจากตลาดหรือลดขนาดการดำเนินธุรกิจลงอย่างมากในเคนยา

 

การออกจากตลาดที่ว่านี้ เกิดขึ้นอย่างมากในปี 2024 ครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ทำให้เกิดการออกจากตลาดเคนยาของบริษัทข้ามชาติในเคนยา เช่น Procter & Gamble (สินค้าอุปโภคบริโภค) Reckitt Benckiser (สินค้าอุปโภคบริโภค) และ GlaxoSmithKline (ยาและเวชภัณฑ์) เป็นต้น ซึ่งได้ย้ายฐานการผลิตจากเคนยาไปยังประเทศอื่น และหันทำธุรกิจในการหาผู้แทนจำหน่ายแทน ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงความร้ายแรงของสถานการณ์นี้มากยิ่งขึ้น หรือ บริษัทอื่นๆ ได้แก่ Colgate Palmolive, Cadbury และ Johnson & Johnson ซึ่งทั้งหมดก็ยกเลิกการผลิตที่ใช้เคนยาเป็นฐานการผลิตเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า บริษัทเหล่านี้จะมีการผลิตสินค้าในประเทศที่มีการผลิตต้นทุนต่ำกว่า เช่น เอธิโอเปีย หรือ อียิปต์ จากนั้นจึงส่งสินค้ากลับมายังเคนยา แทนการที่จะผลิตขึ้นในเคนยาตามที่เคยมีเป้าหมายไว้

 

นอกจากนั้น ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ บริษัทอื่นๆ ได้แก่ Sameer Africa’s Yana Tyres, Athi River Mining, TSS Grain Millers, Flora Printers, Packaging Manufacturers, Avon Rubber, Spring Industries Ltd, Mash Bodybuilders, Flower City Ltd, Softa Bottling Company, Shiv Enterprises และ Munyiri Special Honey ต่างก็มีการย้ายฐานผลิตจากเคนยาไปประเทศอื่นเช่นเดียวกัน อะไรถึงทำให้เกิดการยุติการผลิตในเคนยา?

 

ภาคการผลิตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเคนยา ปัจจุบัน (2024) พบว่าภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเคนยามีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 11.8 % ในปี 2011 เหลือ 7.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 ซึ่งจากการให้ข้อมูลของผู้ผลิตอุตสาหกรรมหลายรายนั้น อาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยในกรณีของ CMC MOTOR ได้ให้ความเห็นพอสรุปได้ดังนี้

 

  1. CMC Motors Group ได้ประกาศการตัดสินใจที่จะยุติการดำเนินงานใน เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบในท้องถิ่นและข้อตกลงการจัดจำหน่ายอย่างครบถ้วน การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประเมินธุรกิจอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความท้าทายทางการตลาดที่ต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การอ่อนค่าของสกุลเงิน และต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น บริษัทกล่าว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา CMC Motors Group มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคการเกษตรของแอฟริกาตะวันออกผ่านการให้บริการที่มีคุณภาพ โซลูชันด้านกลไก และการสนับสนุนที่มั่นคงแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการปรับโครงสร้างใหม่และเริ่มโปรแกรมการเปลี่ยนแปลงในปี 2023 แต่สภาพตลาดก็ยังไม่เปิดทางให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
  2. ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทายทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก “ต้นทุนพลังงานของเคนยาสูงกว่าในแทนซาเนียประมาณ 3 เท่า” ความแตกต่างนี้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของเคนยา หากเราสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ สมาคมผู้ผลิตแห่งเคนยา (KAM) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิต กล่าว
  3. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งมีลักษณะเด่น คือ อัตราภาษีที่สูง กฎระเบียบที่ยุ่งยาก และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ รัฐบาลยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสำหรับการเติบโตของธุรกิจ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า การเพิ่มค่าธรรมเนียมในการขนส่ง การคืนภาษีล่าช้า เป็นต้น
  4. การแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก โดยเฉพาะจากเอเชีย ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตในท้องถิ่นจำนวนมากลดลง

 

ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตแห่งเคนยา (KAM)  ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

 

  1. ประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์และแอฟริกาใต้ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก ซึ่งทำให้ผู้ผลิตในเคนยาเสียเปรียบ
  2. ต้นทุนด้านกฎระเบียบยังก่อให้เกิดความท้าทายอีกด้วย โดย KAM อธิบายถึงลักษณะที่ยุ่งยากของข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ โดยสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีและอากรต่างๆ เมื่อดำเนินการในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันปรับขึ้นภาษีหลายตัว ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
  3. ปัญหาด้านกฎระเบียบที่ยุ่งยากและไม่โปร่งใสทำให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐมากขึ้น และนำไปสู่การมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีต่อธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
  4. นักธุรกิจรายย่อยหรือ SMES บางรายกล่าวว่า การครอบงำของผู้เล่นรายใหญ่ก็ส่งผลกระทบต่อพวกเขาเช่นกัน โดยการครอบงำของผู้เล่นรายใหญ่บางรายในบางภาคส่วนได้สร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสำหรับธุรกิจใหม่ และปิดกั้นการแข่งขัน

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเคนยาเท่านั้น ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาหลายแห่งกำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ปัญหาคอขวดด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการแข่งขันจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก

 

นักวิเคราะห์เตือนว่า การที่ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น CMC Motors จะออกจากตลาดเคนยานั้น ถือเป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเคนยา ในการปฏิรูปนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ บริษัทเหล่านี้ ซึ่งเคยเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเคนยา ได้ลดขนาดการผลิตลงหรือให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า แทนที่การผลิตในเคนยา โดย ดร. แพทริก   มูอินเด นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเคนยา กล่าวในการสัมภาษณ์ครั้งก่อนว่า “บริษัทต่างๆ บอกว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ” และกล่าวเสริมอีกว่า “พวกเขาอาจหมายถึงนโยบายที่นำมาใช้มาเป็นเวลานานและทำให้สภาพแวดล้อมเลวร้ายลง” เขายังชี้ให้เห็นถึงนโยบายภาษีล่าสุด โดยเน้นย้ำว่า ข้อกำหนดการปฏิบัติตามกฎหมายที่เข้มงวดอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องใช้แนวทางหลายแง่มุม นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลต้องเน้นที่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการปรับกฎระเบียบให้กระชับ ลดอุปสรรคด้านระเบียบราชการ และปรับปรุงความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พวกเขาเสริมว่า รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไป ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน: การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน พลังงาน และโทรคมนาคม มีความสำคัญต่อการลดต้นทุนการดำเนินงานและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน

 

นอกจากนั้น “การส่งเสริมนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถช่วยให้ธุรกิจเพิ่มผลผลิตและปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้” นาย Ian Njoroge นักเศรษฐศาสตร์อิสระกล่าว

 

“การให้การสนับสนุนที่ตรงเป้าหมายแก่ธุรกิจในท้องถิ่น รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม และการเชื่อมโยงตลาด ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตและการอยู่รอดของธุรกิจเหล่านี้” นาย Njoroge กล่าวเสริมว่า “การปิด CMC Motors เป็นการเตือนใจอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ รัฐบาลต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อเพิ่มผลผลิต

 

ความเห็นของ สคต.

 

ข่าวสะท้อนในเรื่องดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจในเคนยา ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดธุรกิจใหม่ และการลงทุนขยายการผลิตไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ว่านี้ ทั้ง ราคาต้นทุนพลังงานสูง ค่าไฟฟ้าที่มีอัตราสูงกว่าหลายประเทศในแอฟริกา ประสิทธิภาพการให้บริการของรัฐต่ำ ตลอดจนภาษี ระเบียบการทำการค้ายุ่งยาก ความไม่โปร่งใส นั้น ทำให้เคนยาเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุนค่อนข้างต่ำและมีความเสี่ยงพอสมควร จึงเป็นเรื่องที่ควรติดตามว่ารัฐบาลเคนยาจะปรับปรุงเรื่องดังกล่าวอย่างไรต่อไป

 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีมุมมองทั้งสองด้าน ด้านบวก นักธุรกิจไทยที่อาจพิจารณาใช้โอกาสในการทำตลาดสินค้าไทยในเคนยา เนื่องจากสินค้าไทยภาพลักษณ์ดีมีคุณภาพกว่าสินค้าท้องถิ่น แต่การเลือกสินค้าที่จะมาทำตลาดนั้น อาจต้องเลือกสินค้าที่มีราคาที่แข่งขันได้ คุณภาพปานกลาง กล่าวคือ ไม่ต้องเป็นเกรด A แต่เป็นระดับรองลงมา เพื่อให้สู้กับสินค้าราคาถูกได้ในตลาดบน ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เหมาะกับตลาดแอฟริกาด้วย เช่น การสั่งที่มีจำนวนไม่มาก และมีความหลากหลาย การชำระเงินที่ไม่นิยม L/C การอาจต้องพิจารณาให้เครติดบางส่วน เป็นต้น เพราะไม่เช่นนั้น แล้วการจะมาทำตลาดในแอฟริกาก็จะเป็นเรื่องยากที่จะประสบผลสำเร็จได้

 

ในด้านลบนั้น แน่นอนในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีกับการทำธุรกิจ ทั้งกำลังชื้อของตลาดที่ลดลง ต้นทุนที่สูงขึ้น หรือการแข่งขั้นกับสินค้าราคาถูกในด้านราคาที่รุนแรงขึ้น ล้วนเป็นต้นทุนที่ทำให้การทำตลาดได้ยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมองในมุมโอกาสแล้ว การเข้ามาในตลาดที่เสี่ยงมากกว่าปกติ อาจจะทำให้ได้รับผลกำไรที่สูงมากกว่าตลาดอื่นก็เป็นไปได้

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : https://www.standardmedia.co.ke/

thThai