เนื้อหาสาระข่าว: ผู้เขียนบทความนี้ เคยตั้งคำถามไว้ว่า “ระบบห่วงโซ่อุปทานของท่านทั้งหลายมีความคล่องตัวเพียงใด?” ตั้งแต่ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง ถึงขณะนี้ การดำรงตำแหน่งผ่านมาก็ร่วม 4 สัปดาห์แล้ว ลองมาทบทวนมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโดยตรงมากที่สุด ดังนี้
-
- ในวันแรกของการดำรงตำแหน่ง ได้มีการออกคำสั่งบริหารประธานาธิบดีภายใต้ชื่อ “นโยบายการค้าของอเมริกาต้องมาก่อน” (America First Trade Policy)
- ในวันที่ 7 ของการดำรงตำแหน่ง ได้ประกาศผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนจำนวน 5 มาตรการต่อประเทศโคลอมเบีย ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรฉุกเฉินในอัตราร้อยละ 25 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในวันถัดมา
- ในวันที่ 13 ของการดำรงตำแหน่ง ได้มีการประกาศกำหนดภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 25 สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศแคนาดาและเม็กซิโก แต่ภายในสองวันหลังจากนั้น ได้มีการเลื่อนบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปเป็นเวลา 30 วัน
- ในวันเดียวกัน (วันที่ 13) ได้ประกาศกำหนดภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศจีน และได้ระงับข้อยกเว้นภาษีศุลกากรขั้นต่ำ (de minimis)
- ทางการจีนได้ตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรร้อยละ 10 และร้อยละ 15 สำหรับทรัพยากรธรรมชาติและเครื่องจักรบางประเภทจากสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งใช้มาตรการควบคุมการค้าผ่านการขยายข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญ และขึ้นบัญชีบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ สองแห่งไว้ในบัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ (Unreliable Entity List) รวมถึงเปิดการสอบสวน Google ด้วยข้อกล่าวหาว่าทำการผูกขาดทางการค้า
- การระงับข้อยกเว้นภาษีศุลกากรขั้นต่ำ (de minimis) ส่งผลให้ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) หยุดส่งพัสดุที่มาจากประเทศจีนและฮ่องกงเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะอนุญาตให้ดำเนินการตามปกติในเวลาต่อมา
- ในวันที่ 19 ของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แก้ไขคำสั่งเดิมโดยให้มีการคงข้อยกเว้นภาษีศุลกากรขั้นต่ำ (de minimis) ต่อไป จนกว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะสามารถจัดตั้งระบบรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าดังกล่าวได้
- ในวันที่ 22 ของการดำรงตำแหน่ง ได้มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 25 สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้า
- ในวันที่ 25 ของการดำรงตำแหน่ง ได้มีคำสั่งให้ทำการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งหากมีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว อาจส่งผลให้มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในระดับที่แตกต่างกันออกไปกับแต่ละประเทศทั่วโลก
- นอกจากนี้ ยังมีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเรียกคืนอำนาจควบคุมคลองปานามา การเข้าซื้อกรีนแลนด์ และการใช้ทรัพยากรแร่ธาตุในพื้นที่ดังกล่าว
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้มีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้นมากมาย และรายละเอียดของมาตรการที่ถูกนำมาใช้มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีบริษัทใดที่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบห่วงโซ่อุปทานได้ทันทุกความเคลื่อนไหว
มาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ภาษีศุลกากรและนโยบายการค้า ซึ่งในเชิงกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีความสำคัญยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ในบริบทของระบบห่วงโซ่อุปทานนั้น ภาษีศุลกากรเป็นเพียงจุดเริ่มต้น มิใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการ การกำหนดภาษีอาจทำให้เกิดความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ แต่ระบบห่วงโซ่อุปทานนั้นประกอบไปด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การซื้อขาย การขนส่ง การเก็บรักษาสินค้า ตลอดไปจนถึงการจัดหาเงินทุน ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านกฎหมายและนโยบายที่หลากหลาย ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารระบบห่วงโซ่อุปทาน
จากมาตรการที่ออกมาในช่วงเดือนแรกของการบริหารงาน มีแนวโน้มว่าจะเกิดความผันผวนในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยที่สุด ความไม่แน่นอนทางการค้าจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียม กลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีความไม่แน่นอนและผันผวนในระดับสูง
บทวิเคราะห์: หากจะสรุปแบบรวบยอดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คงสรุปได้ว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นปรับฐานของระบบต่างๆ ภายในสหรัฐฯ ทั้งระบบเพื่อกำจัดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งเพื่อให้มีฐานการรองรับนโยบายในกรอบเวลาถัดไปจากนี้ โดยหากสังเกตให้ดี ทุกกิจกรรมที่ดำเนินไปใน 1 เดือนที่ผ่านมานั้น จะเน้นไปในเรื่องที่เคยประกาศไว้ตอนรณรงค์หาเสียงเป็นหลัก สิ่งที่มาขวางเส้นทางดังกล่าวทั้งหมดก็จะถูกใช้อำนาจพิเศษเพื่อเร่งขจัดออกไป รวมถึงยังพร้อมที่จะชักกลับ ชะลอหรือเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันทีด้วย การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายมหาศาลที่รัฐบาลคณะนี้เร่งดำเนินการ ย่อมต้องก่อให้เกิดแรงต้านและเสียงก่นด่าประณามกันไปทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในเขตสีน้ำเงินที่มีความเป็นเสรีนิยมแบบเดโมแครต แต่แรงต้านอย่างเป็นทางการในรัฐสภาซึ่งจะมีผลขัดแย้งได้อย่างทันท่วงทีได้ ก็มีเสียงที่เอนเอียงไปทางเดียวกับรัฐบาลเสียด้วย
แต่แม้จะมีแรงต้านฮือฮากระจายไปทั่วประเทศ แต่ก็มีคนที่รอคอยจับตาและเห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ อยู่ด้วยมากมายเช่นกัน โดยมีบทวิเคราะห์มากมายก็มักจะชี้ไปในแนวทางที่ค่อนข้างลบ ว่าจะส่งผลร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้คนอเมริกันเองต้องเดือดร้อนยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีใครที่กล้าออกมาฟันธงชัดๆ นั่นก็เพราะสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำและมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ใช้ทฤษฎีเก่าๆ มาสรุปไม่ได้ และยังมีวิถีการพลิกผันแบบไร้รูปแบบ ยึดเอาหลักสามัญสำนึกเป็นสรณะของท่านประธานาธิบดีท่านนี้ ก็ทำให้นักวิจารณ์หรือนักวิชาการต้องกลับมาย้อนคิดถึงผลได้ผลเสียและการตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่อยู่ในตำรา
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: สิ่งที่แน่นอน ก็คือสหรัฐฯ จะยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่อีกอย่างต่อเนื่องไปอีกสักระยะเป็นอย่างน้อย ทางที่ดี คือการปรับตนเอง และองคาพยพต่างๆ ในองค์กรของตนเอง ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดไขมันส่วนเกินและการเสียเปล่าในกิจการ เน้นสร้างความแข็งแกร่งและความคล่องตัว บริหารจัดการด้วยการกระจายความเสี่ยง ท่านที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากๆ อยู่ในขณะนี้ ก็ควรพิจารณาลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ลงบ้างและมองหาโอกาสจากแหล่งใหม่ๆ ในทางกลับกัน ก็ควรคอยจับตาตลาดสหรัฐฯ ว่าจะมีมาตรการใดๆ ที่ออกมาหรือยกเลิกไปแล้วอาจสร้างโอกาสให้ท่านได้ด้วย พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสที่ดีเมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางบวก และถอยออกในกรณีที่เป็นลบ ก็คงคร่าวๆ เพียงเท่านี้
ทิศทางของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลนี้ ที่ชัดเจน ก็คือจะพยายามส่งเสริมให้เงินลงทุนไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯ ด้วยการสร้างแรงจูงใจจากภาษีจากการผลิตในประเทศที่ดึงดูดใจและศุลกากรที่ผลักดันสินค้าจากแหล่งผลิตภายนอก พึ่งพาคู่ค้าให้น้อยลงด้วยนโยบายที่มีการพลิกผันยากคาดเดาวางแผนดำเนินการโดยอาศัยแหล่งผลิตภายนอกได้ยาก ใช้ทรัพยากรของตนเองให้มากขึ้น ผลิตใช้เองให้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเหลวไหล ลดการช่วยเหลือทางการเงินแก่นานาชาติที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ โดยตรง รักษาสถานะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งแกร่งในตลาดโลก กดดันเพื่อปิดโอกาสสกุลเงินอื่นที่จะมาทดแทนได้ ส่งเสริมให้สหรัฐฯ กลับสู่สถานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับสูงและดำรงสถานะความเป็นผู้นำของโลกด้านยุทโธปกรณ์เอาไว้ให้นานที่สุด
เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะอยู่ในแผนของรัฐบาลชุดนี้ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะถูกนำออกมาใช้ได้จริงๆ ตามที่ท่านประธานาธิบดีได้ประกาศไว้ ก็คือการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งจากเดิมว่าจะเก็บร้อยละ 10 ทุกประเทศ กลายมาเป็นคำสั่งบริหารให้เรียกเก็บแบบต่างตอบแทนนั้น การที่จะนำสินค้าที่ต่างชนิดกันไปตามความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน จะมาเทียบเคียงกันนั้นก็ยากแล้ว และที่ยากกว่านั้นก็คือแต่ละประเทศที่มีอัตราภาษีศุลกากรที่แตกต่างกันไปทั้งรายสินค้าและรายประเทศ ซับซ้อนอย่างยิ่ง ถ้าจะทำเช่นนั้นจริง ก็คงต้องลงทุนสร้างระบบรองรับสำหรับเรื่องนี้อีกไม่น้อยทีเดียว แต่สุดท้ายก็อาจเป็นแค่การจุดพลุเรียกแขก แล้วแยกย้ายกันไปเจรจาทีละรายตามวิถีของท่านประธานาธิบดีนักเจรจาต่อรองก็เป็นไปได้ ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องเป็นผู้เล่นหลักในกรณีนี้
นโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ ด้านการค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้หรือจะประกาศใช้ในอนาคตเป็นนโยบายเพื่อที่จะลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแบบเร่งด่วน โดยเพิกเฉยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา (ใช้ยาแรง) เพื่อลดการเสียเปรียบทางการค้าและปรับสมดุลด้านงบประมาณของประเทศสหรัฐฯ ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจรวมทั้งภาคประชาชนสหรัฐฯ เร่งปรับตัว ซึ่งท่าทีดังกล่าวแตกต่างไปจากนโยบายทรัมป์ 1.0 ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะช่วยได้ ก็น่าจะเป็นการรวมตัวกันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่พึ่งพาการส่งออกมากๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มที่มีตลาดหลักในสหรัฐฯ ควรพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน ความพร้อม ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกอุตสาหกรรมควรจะพิจารณาร่วมกันว่าแรงกดดันในเรื่องใดที่ยอมรับได้ และที่ยอมรับไม่ได้ เพื่อเป็นข้อมูลข้อจำกัดให้ภาครัฐทราบไว้ล่วงหน้า ในทางหนึ่งก็จะช่วยเสริมศักยภาพให้ภาครัฐพร้อมใช้พิจารณาในการเจรจาได้ทันที ในอีกทางหนึ่ง ภาคเอกชนก็จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาในแต่ละฉากทัศน์ที่อาจเกิดได้ทั้งจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยตรงและจากทางอ้อมที่สืบเนื่องจากภาวะ over supply สินค้าในตลาดโลกได้อย่างเหมาะสม
*********************************************************
ที่มา: Holland&Knight เรื่อง: “One Month In: No Supply Chain Can Keep Pace” โดย: Jameson B. Rice สคต. ไมอามี /วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568