ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านการส่งออก ยังคงมีแนวโน้มเชิงบวก แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากบางประเทศก็ตาม ทั้งนี้ ในเดือนแรกของปี 2025 กัมพูชาสามารถสร้างรายได้เกือบ 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ
ข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2025 มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ รวมอยู่ที่ 892.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ากัมพูชาไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 868.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.6% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 23.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.7% ส่งผลให้สหรัฐฯ มีตัวเลขขาดดุลการค้ากับกัมพูชาสูงถึง 844.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Mr. Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง รองเท้า และแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ คาดว่าการส่งออกจากกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวต่อไป เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อบางประเทศ จะช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อจากโรงงานและวิสาหกิจในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและคุณภาพสินค้าของกัมพูชา จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศสามารถดึงดูดคำสั่งซื้อจากนักธุรกิจชาวอเมริกันได้มากขึ้น และส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจที่ตั้งฐานการผลิตในกัมพูชา
ความเห็นของสำนักงานฯ
1) การหมดอายุของ GSP ตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลให้กัมพูชาต้องปรับตัวรับมือกับภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มานานกว่า 4 ปี รัฐบาลกัมพูชาจึงเร่งแสวงหาตลาดใหม่และสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมการส่งออก สิทธิพิเศษที่กัมพูชาได้รับ ได้แก่ CCFTA, CKFTA, EBA, CAM-UAE CEPA, RCEP และการเป็นสมาชิก WTO
2) มาตรการภาษีจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ของสหรัฐฯ ได้ถูกบังคับใช้แล้วกับบางประเทศ เช่น จีน แคนาดา และเม็กซิโก แม้ว่ากัมพูชาจะยังไม่ถูกระบุเป็นเป้าหมายหลัก แต่ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานและตลาดโลก นักธุรกิจไทยจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ในเดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเกือบ 39% แต่ นโยบาย “One-for-One Tariff Plan” ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เทียบเท่าภาษีที่สหรัฐฯ ถูกเก็บจากประเทศต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงกัมพูชา
———————————————-
ที่มา: Phnom Penh Post
กุมภาพันธ์ 2568