ผลกระทบของภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมต่อราคาสินค้าในร้านขายของชำ

ผลิตภัณฑ์หลายรายการในร้านขายของชำ อาทิ น้ำอัดลม เบียร์ สเปรย์และซุปสำเร็จรูปในกระป๋อง อาจมีราคาสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ถึงแผนการที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมที่ร้อยละ 25 จากทุกประเทศ เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดจำนวนการนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเตือนว่า การเพิ่มราคาของเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากต่างประเทศอาจทำให้ต้นทุนการผลิตกระป๋องในสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค
Ken Henricks เจ้าของและประธานบริษัทคราฟท์เบียร์ Alter Brewing Co. ในชานเมืองชิคาโก กล่าวว่า ต้นทุนของกระป๋องเบียร์ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงและทำให้มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากบริษัทไม่ปรับราคาสินค้าอาจไม่สามารถรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ และด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงในปัจจุบัน หากบริษัทปรับราคา ยอดขายก็จะลดลง กล่าวได้ว่าบริษัทคราฟท์เบียร์กำลังอยู่ในจุดที่ยากลำบาก
ภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ประธานาธิบดี ทรัมป์ได้กำหนดภาษีเหล่านี้แล้วในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งแรก ในตอนนั้นประธานาธิบดี ทรัมป์ได้กำหนดภาษีนำเข้าร้อยละ 10 สำหรับอลูมิเนียมและร้อยละ 25 สำหรับภาษีนำเข้าเหล็กโดยมีข้อยกเว้นกับบางประเทศและบางผลิตภัณฑ์ ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีไบเดนก็ยังคงใช้อัตราภาษีนี้เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า ข้อยกเว้นเหล่านั้นจะถูกยกเลิกและภาษีนำเข้าอลูมิเนียมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 นี้
การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นในขณะที่ผู้บริโภคยังคงต้องเผชิญกับกับราคาสินค้าหลายรายการที่แพงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนมกราคม 2568 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การผลิตกระป๋องในสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาเหล็กและอลูมิเนียมจากต่างประเทศ
สหรัฐมีการใช้งานเหล็กและอลูมิเนียมในหลายอุตสาหกรรม แต่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐฯ นั้นใช้วัสดุทั้งสองชนิดในการผลิตกระป๋อง จากข้อมูลของสถาบันผู้ผลิตกระป๋อง (Can Manufacturers Institute) สหรัฐฯ ผลิตกระป๋องโลหะประมาณ 135,000 ล้านใบต่อปี ซึ่งประกอบไปด้วยกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมประมาณ 115,000 ล้านใบและกระป๋องเหล็กสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 2 หมื่นล้านใบ
ผู้ผลิตกระป๋องในสหรัฐฯ ใช้วัตถุดิบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้ว่าการนำเข้าอลูมิเนียมจะมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของการใช้อลูมิเนียมทั้งหมด แต่กว่าร้อยละ 70 ของเหล็กเพื่อใช้ในการผลิตกระป๋องเหล็กสำหรับใส่อาหารในสหรัฐฯ นั้นนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตกระป๋องเหล็กอาจเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก
การผลิตเหล็กและอลูมิเนียมภายในสหรัฐฯ ยังล้าหลัง
นาย Tom Madrecki รองประธานฝ่ายการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานจากสมาคมกลุ่มการค้าสำหรับผู้บริโภค (Consumer Brands Association) กล่าวในแถลงการณ์ว่า หากเหล็กจากต่างประเทศมีราคาสูงเกินไป จะเป็นสถานการณ์ที่ยากสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมอาหารจัดหาวัตถุดิบประเภทเหล็กส่วนใหญ่จากแหล่งภายในประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กเฉพาะ เช่น เหล็กทินมิลล์ (Tin Mill Steel) ต้องจัดหาจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา และประเทศอื่นๆ เท่านั้น เนื่องจากมีแหล่งผลิตในสหรัฐฯ ไม่เพียงพอ จากข้อมูลของสถาบันผู้ผลิตกระป๋อง พบว่าหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดภาษีนำเข้าเหล็กในปี 2561โรงงานผลิตเหล็กทินมิลล์ในสหรัฐฯ ได้ปิดกิจการถึง 9 แห่ง ขณะนี้เหลือโรงงานผลิตเหล็กทินมิลล์ในสหรัฐฯ เพียง 3 แห่งเท่านั้น
สำหรับผู้ผลิตอลูมิเนียมในประเทศก็อาจเผชิญปัญหาในการขยายกำลังการผลิตเช่นกัน นาย Charles Johnson ประธานสมาคมอลูมิเนียม (Aluminum Association) กล่าวชมความพยายามของประธานาธิบดีทรัมป์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอลูมิเนียม แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการหลอมอลูมิเนียมในสหรัฐฯ ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับอุตสาหกรรมอลูมิเนียมที่กำลังเติบโตได้
ภาคธุรกิจรอผลกระทบจากภาษีนำเข้า
นาง Kat Kavner Woolf ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทผลิตอาหารกระป๋อง Heyday Canning Co. ธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นในปี 2565 ซึ่งใช้กระป๋องเหล็กในการบรรจุซุปและถั่วของทางบริษัท กล่าวว่า เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กคือการไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า และหวังว่าราคากระป๋องจะไม่พุ่งสูงเกินไป
นาย Ken Henricks เจ้าของและประธานบริษัทคราฟท์เบียร์ Alter Brewing Co. กล่าวว่าเมื่อไม่นานนี้ เขาหวังว่าจะสามารถเจรจาต่อรองราคาที่ต่ำลงกับซัพพลายเออร์กระป๋องอลูมิเนียมได้ เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี นาย Ken Henricks กลับต้องเข้าร่วมการประชุมกับซัพพลายเออร์โดยมีเป้าหมายเพียงแค่รักษาราคากระป๋องอลูมิเนียมให้คงที่ในอนาคต ซึ่งก็ยังไม่สามารถตกลงกับซัพพลายเออร์ได้
บริษัทผลิตคราฟท์เบียร์ เช่น Alter Brewing Co อาจต้องเผชิญกับการปรับราคาในวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตด้วยเช่นกัน สมาคมผู้ผลิตเบียร์ (Brewers Association) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตเบียร์รายย่อยและผู้ผลิตเบียร์อิสระมากกว่า 9,500 แห่ง กล่าวในแถลงการณ์ว่าภาษีนำเข้าอาจเพิ่มต้นทุนของถังหมักเบียร์, ถังเหล็ก, โรงเบียร์ และวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยนิยมใช้อลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น ภาษีนำเข้าอลูมิเนียมร้อยละ 25 จะทำให้ต้นทุนกระป๋องสำหรับผู้ผลิตเบียร์ขนาดเล็กสูงขึ้น
กระป๋องที่แพงขึ้นอาจทำให้ราคาสูงขึ้นและบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่าง
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเตือนว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าภาษีเหล่านี้ หากราคากระป๋องเหล็กและอลูมิเนียมสูงขึ้น นาย Robert Budway ประธานสถาบันผู้ผลิตกระป๋อง (Can Manufacturers Institute) กล่าวว่า ภาษีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งต้องพึ่งพาอาหารกระป๋องเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันในการหาซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและราคาย่อมเยา
นาย Tom Madrecki จากสมาคมกลุ่มการค้าสำหรับผู้บริโภค (Consumer Brands Association) กล่าวว่า ภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์และผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านขายของชำ อย่างไรก็ตาม นาย James Quincey ประธานและซีอีโอของบริษัทน้ำอัดลมโคคา-โคล่า กล่าวในการประชุมผลประกอบการล่าสุดว่า ผลกระทบจากภาษีนำเข้านั้นมีความสำคัญ แต่ก็ไม่น่าจะทำให้ธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลงมากนัก
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ USA Today พบว่า ในปี 2561 บริษัทโคคา-โคล่าและบริษัทบอสตันเบียร์ ผู้ผลิตเบียร์ Samuel Adams ตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าหลังจากที่ภาษีนำเข้าถูกประกาศในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งนี้ ในการประชุมล่าสุด นาย James Quincey ได้แนะนำว่า หากกระป๋องอลูมิเนียมมีราคาแพงขึ้น บริษัทอาจเปลี่ยนไปบรรจุเครื่องดื่มในขวดพลาสติกแทน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของสภาการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council) ทุกปีมีพลาสติก 8 ล้านตันที่ลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ข้อเสนอแนะของสคต.นิวยอร์ก
เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์อันดับ 1 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อันดับ 2 ของไทย รองจากจีน ดังนั้น มาตรการการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมที่ร้อยละ 25 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์นี้ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมควรติดตามนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือหาโอกาสจากมาตรการที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

ข้อมูลอ้างอิง: NPR News

thThai