1. ภาพรวมและแนวโน้มตลาด
จากข้อมูลของ National Restaurant Association (NRA) ระบุว่า ตลาดธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ ปี 2024 มีมูลค่า 1,110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.40% และคาดว่าในปี 2025 ตลาดนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับอาหารระหว่างมื้อและเมนูที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของตนเองมากขึ้น แนวโน้มการบริโภคอาหารนานาชาติเป็นที่นิยมมากขึ้น และความหลากหลายทางเชื้อชาติของประชากรในสหรัฐฯ มีมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นได้ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาดธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ และได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่หลากหลายและการเปิดรับในรสชาติใหม่ๆ จากทั่วโลก
ข้อมูลของ Webstaurantstore ระบุว่าในปี 2024 สหรัฐฯ มีธุรกิจบริการร้านอาหารแบบเครือข่าย (chain restaurants) จำนวน 139,334 แห่ง ซึ่งแบรนด์ชั้นนำที่เป็นที่รู้จัก (ตารางที่ 1) ได้แก่ McDonald’s Corp., Starbucks Corp., Domino’s Pizza Inc., YUM Brands Inc., The Wendy’s Co., Chick-fil-A Inc., Inspire Brands Inc., และ Restaurant Brands International Inc. เป็นต้น และร้านอาหารอิสระ (independent restaurants) มีจำนวน 483,885 แห่ง โดยร้านชั้นนำที่เป็นที่รู้จัก (ตารางที่ 2) ได้แก่ Jone’s Stone Crab, Old Eddit Grill, Maple & Ash Chicago, Taste of Texas Restaurant, Eleven Madison Park เป็นต้น
ตารางที่ 1 ร้านอาหารแบบเครือข่าย (chain restaurants) เรียงตามมูลค่าการจำหน่าย 20 อันดับแรก
ตารางที่ 2 ร้านอาหารอิสระ (independent restaurants) เรียงตามมูลค่าการจำหน่าย 20 อันดับแรก
ข้อมูลจากบริษัท Mordor Intelligence ระบุว่า ในปี 2024 ร้านอาหารอิสระ (Independent Restaurants) ครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจบริการอาหารของสหรัฐฯ ถึง 64% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารอิสระสามารถครองตำแหน่งผู้นำในตลาดได้ คือ การมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการนำเสนอรสชาติท้องถิ่นแท้ๆ ที่สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ด้วยจุดแข็งเหล่านี้ทำให้ร้านอาหารอิสระจึงยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ
2. ช่องทางการซื้อสินค้าและวัตถุดิบของธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ
ช่องทางการซื้อสินค้าและวัตถุดิบของธุรกิจบริการร้านอาหารในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อผ่านผู้จัดจำหน่ายอาหาร (food distributors) (ตารางที่ 3) เช่น Sysco, US Foods และผู้จัดจำหน่ายรายอื่นๆ ซึ่งมีสินค้าหลายประเภทที่ครอบคลุมและมีบริการจัดส่งถึงร้านอาหารเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดการสินค้า
ผู้จัดจำหน่ายอาหารมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตอาหารกับธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียนและอื่นๆ ซึ่งผู้จัดจำหน่ายอาหารมีหน้าที่หลัก คือ การจัดหาอาหารและวัตถุดิบที่หลากหลายจากผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำมาจัดเก็บในคลังสินค้าของตนและจัดส่งให้กับธุรกิจบริการร้านอาหารตามความต้องการ เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา
ตางรางที่ 3 รายชื่อผู้จัดจำหน่ายอาหาร (food distributors) รายสำคัญในสหรัฐฯ
ผู้จัดจำหน่าย เว็บไซต์ คำอธิบาย
Sysco sysco.com
ผู้นำระดับโลกด้านการจัดจำหน่ายอาหาร มีสินค้าหลากหลายมาก และอุปกรณ์ต่างๆ พร้อม
US Foods usfoods.com
มีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยร้านอาหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น และมีสินค้าให้เลือกมากมาย
Restaurant Depot restaurantdepot.com
คล้ายห้างค้าส่งสำหรับสมาชิกเท่านั้น ราคาถูกเมื่อซื้อจำนวนมาก เหมาะสำหรับร้านที่ต้องการของด่วน
Performance Foodservice performancefoodservice.com
ช่วยร้านอาหารพัฒนาเมนูโดยมีวัตถุดิบที่หลากหลาย และให้คำปรึกษาเฉพาะร้าน
Shamrock Foods shamrockfoodservice.com
เน้นบริการลูกค้าในแต่ละท้องถิ่นและสามารถปรับแต่งให้ตามความต้องการของผู้ซื้อได้
Gordon Food Service gfs.com
ธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินงานมานานกว่า 100 ปี เน้นคุณภาพสินค้าและบริการ
Chef’s Warehouse chefswarehouse.com
เชี่ยวชาญด้านอาหารคุณภาพสูง อาหาร gourmet และอาหารพิเศษต่างๆ
Clark Association clarkassociatesinc.biz/
มีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยร้านอาหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น และมีสินค้าให้เลือกมากมาย
Driscoll Foods driscollfoods.com
มีเครื่องมือและวัตถุดิบนานาชาติให้เลือกมากมาย และสามารถปรับแต่งให้ตามความต้องการของผู้ซื้อได้
ประเภทสินค้าที่ผู้จัดจำหน่ายอาหาร (food distributors) ในสหรัฐฯ นำเข้าและจัดจำหน่ายสามารถแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ดังนี้
• วัตถุดิบอาหาร (Food Ingredients)
เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ผัก ผลไม้ ข้าว แป้ง น้ำตาล เครื่องเทศและสมุนไพรต่าง ๆ
• ผลิตภัณฑ์แปรรูป (Processed Foods)
เช่น แฮม ไส้กรอก ชีส ซอส สลัด อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง
• เครื่องดื่ม (Beverages) ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่แอลกอฮอล์
• ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และเครื่องใช้ (Equipment and Supplies) ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร
เช่น อุปกรณ์เครื่องครัว ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
• ผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดเลี้ยง (Catering Products)
เช่น อาหารพิเศษสำหรับงานจัดเลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ
• อาหารสุขภาพและอาหารเฉพาะทาง (Health Foods and Specialty Foods)
เช่น อาหารออร์แกนิก, อาหารมังสวิรัติ อาหารวีแกน อาหารปราศจากกลูเตนและอาหารสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางการรับประทานอาหาร เป็นต้น
3. เทรนด์การบริการร้านอาหารที่น่าสนใจในตลาดสหรัฐฯ
3.1.การสร้างประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI และ Machine learning กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การรับประทานอาหาร ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการมีความเฉพาะบุคคลได้มากขึ้น ตั้งแต่คำแนะนำเมนูอัจฉริยะไปจนถึงแผนการรับประทานอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล เช่น ตู้ Kiosk อัจฉริยะและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแนะนำเมนูอาหารที่ตรงกับความชอบส่วนตัวของลูกค้าได้
3.2.เทรนด์ความยั่งยืนกำลังกลายเป็นค่านิยมหลัก ความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารต่างให้ความสำคัญกับการลดขยะอาหาร ใช้ผลผลิตจากฟาร์มท้องถิ่นและใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
3.3.การขยายตัวของอุปสงค์ของโปรตีนทางเลือกมากขึ้น โปรตีนจากพืชและโปรตีนเพาะเลี้ยงเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภคกลุ่มมังสวิรัติและวีแกน และที่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ที่ใส่ใจในสุขภาพและจริยธรรม
3.4.เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยช่วยลดตุ้นทุนและทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเปลี่ยนแปลงการทำงานของห้องครัวและการบริการ ทำให้ร้านอาหารมีการทำงานที่มีมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถควบคุมต้นทุนและมีความสม่ำเสมอ เช่น การทำหุ่นยนต์มาประกอบอาหารในครัวเปิด
3.5.เทรนด์อาหารสุขภาพได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยมองหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ซูเปอร์ฟู้ด โปรไบโอติกและสมูทตี้สุขภาพต่างๆ
3.6.ประสบการณ์ทานอาหารเสมือนจริงและไฮบริด ธุรกิจอาหารที่ขายแบรนด์แต่ไม่มีหน้าร้านนิยมขายผ่านช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่เท่านั้น (virtual brand) และครัวที่ให้บริการอาหารสำหรับเดลิเวอรี่ที่ไม่มีหน้าร้านสำหรับนั่งรับประทาน (ghost kitchen) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับความต้องการเดลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้โมเดลไฮบริดที่ผสานการทานในร้านและประสบการณ์ดิจิทัล กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น หมายถึง ร้านอาหารที่ไม่ได้มีแค่การรับประทานอาหารในร้านแบบดั้งเดิม แต่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสมผสานเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น เมนูแท็บเล็ตแบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อให้ลูกค้าเลือกดูเมนูจากภาพอาหารสวยๆ ที่มี รายละเอียดส่วนผสม ราคาหรือแม้แต่วิดีโอแนะนำอาหาร ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแท็บเล็ตได้เลย หรือการใช้ AR เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าโดยจำลองสถานที่ที่น่าสนใจ เป็นต้น
3.7.อาหารนานาชาติกำลังเป็นที่นิยม ผู้บริโภคต้องการรสชาติแปลกใหม่ ทำให้เชฟจำเป็นต้องมีการผสมผสานเทคนิคและวัตถุดิบจากต่างวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์เมนูพิเศษ
3.8.เครื่องดื่มที่สร้างสรรค์และสวยงามไม่เพียงแต่ช่วยเติมความสดชื่น แต่ยังเป็นแรงดึงดูดใจต่อผู้บริโภครุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นเดียวกับอาหาร เครื่องดื่มที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันทั้งรสชาติและรูปลักษณ์ สามารถสร้างความประทับใจและกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์อันน่าจดจำ
4. การวิเคราะห์โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
4.1. จุดแข็งของสินค้าไทย
• อาหารไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในตลาดสหรัฐฯ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในเมืองการค้าสำคัญ
• อาหารไทยแนวโน้มได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เนื่องจากส่วนประกอบของอาหารไทยมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย
• ความหลากหลายของเมนูอาหารไทยยังช่วยให้สามารถปรับให้เหมาะสมกับรสนิยมและความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม
• ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ ทำให้ผู้ซื้อและผู้นำเข้ามีความมั่นใจในมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าที่ผลิตจากไทย
4.2. จุดอ่อนของสินค้าไทย
• แม้ว่าอาหารไทยจะได้รับความนิยมในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ แต่ยังมีบางภูมิภาคมีผู้บริโภคที่ยังไม่รู้จักอาหารไทย ส่งผลให้การตลาดและการสร้างการรับรู้แบรนด์เป็นเรื่องที่ท้าทาย
• การนำเข้าสินค้าสำหรับประกอบอาหารไทยและอุปกรณ์สำหรับธุรกิจบริการร้านอาหารจากไทย ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการขนส่งและความล่าช้า
• ต้นทุนสินค้าของสินค้าไทยอาจมีราคาสูงกว่าคู่แข่งในตลาด ดังนั้น การกำหนดราคาหรือการนำให้เห็นว่าสินค้าไทยมีความแตกต่างที่คุ้มค่าจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา
4.3. โอกาสของสินค้าไทย
• การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่สนใจอาหารนานาชาติ โดยเฉพาะอาหารเอเชีย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องไปยังตลาดสหรัฐ
• แนวโน้มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ซึ่งอาหารไทยสามารถตอบสนองได้ เช่น อาหารจากพืช อาหารที่มีโปรตีนสูง อาหารทางเลือก เป็นต้น
• การเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่และการสั่งกลับบ้านในอุตสาหกรรมบริการอาหารมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสามารถหาช่องทางในการเจาะตลาดนี้ได้
• ปัญหาสงครามการค้าทำให้ผู้นำเข้าหลายรายมองหาแหล่งผลิตทดแทนสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการส่งออกสินค้าที่ตลาดต้องการ เช่น เครื่องเย็น อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับร้านอาหาร บรรจุภัณฑ์ เครื่องครัว และของใช้ภายในร้านอาหาร
4.4. อุปสรรคของสินค้าไทย
• การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชีย อาจทำให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศที่สามารถผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
• ความผันผวนทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
แหล่งข้อมูล: restaurant.org/ https://www.prnewswire.com/ https://www.the-ifg.com/ https://www.webstaurantstore.com/ https://www.restaurantbusinessonline.com/ www.foodindustry.com/ https://www.mordorintelligence.com/https://www.escoffier.edu/