เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive Order) ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรใหม่ร้อยละ 25 สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดาทุกประเภท และร้อยละ 10 สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงาน ซึ่งนักเศรษฐกิจประเมินว่า จะสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออก การผลิตในภาคอุตสาหกรรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของแคนาดา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ป่าไม้ และรวมไปถึงอัตราจ้างงานที่มีแนวโน้มลดลงเป็นจำนวนมาก

 

มาตรการการขึ้นภาษีดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อแคนาดาเป็นอย่างยิ่ง เพราะแคนาดาและสหรัฐฯ ถือเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน และพึ่งพาการค้ากันมากมาอย่างยาวนาน ทำให้นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ออกมาประกาศต้องการที่จะดำเนินการตอบโต้มาตรการทางภาษีกับสหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน รวมถึงการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีที่อาจเกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และความร่วมมือด้านอื่นๆ ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจแคนาดากังวลว่า อาจนำไปสู่สงครามการค้า ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-แคนาดา และนำมาซึ่งผลลบการเติบโตของเศรษฐกิจแคนาดา

 

เมื่ออนาคตสหรัฐฯ จะไม่ใช่ประเทศที่แคนาดาสามารถพึ่งพาการค้าได้ 100% ดังนั้น แคนาดาจึงต้องเร่งปรับนโยบายการค้าด้วยการเล็งหาประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพื่อรองรับความผันผวนและลดความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของผู้นำทรัมป์ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” โดยหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญทางการค้ากับแคนาดารองลงมาจากสหรัฐฯ คือประเทศจีน ซึ่งหากดูจากสถิติการค้าระหว่างประเทศระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของแคนาดา มีสัดส่วนร้อยละ 4.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น

เปิดประตูการค้ากับจีน ทางรอดเศรษฐกิจแคนาดาในยุคทรัมป์?

จากคำกล่าวนาย Wang Di เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศแคนาดา เผยว่า ทางการจีนยินดีเจรจาร่วมมือกับแคนาดา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ท่ามกลางความกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ โดยยืนยันการสร้างความมุ่งมั่นทางการค้าทวิภาคีผ่านการทำงานร่วมกัน ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสูงให้กับทั้งสองประเทศ

 

โดยในปี 2560 แคนาดาได้เคยเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้ากับจีนมาแล้ว แต่ต้องมาหยุดชะงักเมื่อปี 2562 เพราะประเด็นทางการเมืองเมื่อนาง Meng Wanzhou ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสายการเงิน (CFO) ถูกจับกุมที่แคนาดาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ตามคำสั่งของสหรัฐอเมริกา โดยตั้งข้อหาฉ้อโกงจากพฤติกรรมการตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้าเพื่อลักลอบทำธุรกิจกับอิหร่าน และกักตัวในแคนาดาเป็นระยะเวลานานเกือบ 3 ปี และกลายเป็นความขัดแย้งจีน – แคนาดาตั้งแต่นั้นมา แน่นอนว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จีนยกเลิกการนำเข้าสินค้าจากแคนาดาหลายรายการ อาทิ เมล็ดคาโนล่า เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางหลายพันล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อการค้าแคนาดามาก เนื่องจากแคนาดาเป็นผู้ส่งออกคาโนลารายใหญ่ที่สุดไปยังจีน

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและแคนาดาได้กลับมาใหม่ เมื่อนางเมลานี โจลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา เดินทางเยือนจีนเป็นระยะเวลา 3 วันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ตามคำเชิญของนายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาในรอบเจ็ดปี โดยทั้งสองฝ่ายลงความเห็นว่า จีนและแคนาดาควรส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นปกติและกลับมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานระหว่างกัน ดังนั้น จึงควรรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี เพื่อให้เป็นไปตามผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

 

ด้านมุมมองของนาย Carlo Dade ผู้อำนวยการฝ่ายการค้ามูลนิธิ Canada West ซึ่งมีหน้าที่ติดตามและดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในแคนาดา กล่าวว่า จากการที่ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้พบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกระทรวงต่างประเทศของจีนนั้น ได้ออกมาแสดงถึงการพัฒนาความร่วมมือในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

นอกจากนั้น นาย Guy Saint-Jacques อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีน กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศปีนี้แล้ว จะได้เห็นการกระชับความสัมพันธ์แคนาดา-จีนที่มากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งไปที่การลดอุปสรรคทางการค้า สร้างโอกาสการลงทุน สร้างงานใหม่ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างสองชาติ ทั้งนี้ แคนาดาจำเป็นต้องลดการพึ่งพาจากสหรัฐฯ ลงบ้าง และหันไปเพิ่มพันธมิตรทางการค้า ซึ่งจีนมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐฯ

 

โดยในปี 2566 แคนาดาส่งออกสินค้าไปจีนคิดเป็นมูลค่าราว 31,000 ล้านเหรียญแคนาดา สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ เมล็ดคาโนลาหรือเรพซีด และธัญพืชต่างๆ นอกจากนั้น จีนกำลังต้องการที่จะพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมาก จึงเป็นโอกาสของแคนาดาที่ขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีการเกษตร ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพราะหากเป็นไปตามผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า จะหันหลังให้กับนโยบายสิ่งแวดล้อมและกลับมาเน้นใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเบนซิน จะทำให้สหรัฐฯ ลดความสนใจต่อการลงทุนและพัฒนาพลังงานสะอาดลง

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะเปิดโอกาสทางการค้ากับแคนาดา แต่การกระชับความสัมพันธ์การค้ากับจีน อาจนำมาซึ่งความขุ่นเคืองกับสหรัฐฯ ได้ ดังนั้น จึงเกิดเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายการค้าที่ต้องดำเนินการในแบบไม่ให้เป็นจุดเด่น ต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลการค้าทั้งกับสหรัฐฯ และจีนให้ได้อย่างเหมาะสม และท้ายที่สุด แคนาดาต้องศึกษาข้อตกลงการค้า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศ และป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการแคนาดาจากการค้ากับจีนที่อาจตามมาได้เช่นกัน

 

ข้อคิดเห็นสคต. ปัจจุบันสงครามการค้าจากสหรัฐฯ กำลังทำให้เศรษฐกิจแคนาดาผันผวน จากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อจีดีพี ตลาดแรงงาน และการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักและต่อเนื่อง ได้แก่ ยานยนต์ พลังงาน และเกษตรกรรม สะท้อนได้จากการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในแคนาดา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดในยุคที่ห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกันทั่วโลก เป็นผลให้รัฐบาล ผู้ประกอบการและนักลงทุนต้องปรับกลยทุทธ์ครั้งใหญ่ ดังนั้น การมองหาคู่ค้าและเร่งเจรจาข้อตกลงการค้ากับชาติอื่นๆ เพิ่มเติม จึงเป็นทางออกหนึ่งที่แคนาดาควรพิจารณาเพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของชาวแคนาดาโดยรวม ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ที่มา https://www.theglobeandmail.com/politics/article-donald-trump-canada-china-economic-ties/?login=true

โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

thThai