บรรดานักลงทุนกำลังเตรียมรับมือกับภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย หลังจากที่มาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ความต้องการจากบริษัทพลังงานและขนส่งในยุโรปลดลง น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่ช็อกโกแลต แชมพู ไปจนถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันปาล์มต้องใช้พื้นที่ป่าฝนเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของ Bursa Malaysia Derivatives ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงระดับโลก ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือนที่กว่า 5,150 ริงกิตมาเลเซีย (1,167 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตันในเดือนธันวาคม มาอยู่ต่ำกว่า 4,200 ริงกิตในเดือนมกราคม หลังจากอินโดนีเซียออกมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มเหลือใช้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตในอินโดนีเซียหลายรายได้ระบายสต็อกส่วนเกินไปยังบริษัทในยุโรปที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ
นายโมฮ์ ฮาริส อาร์ชาด (Moh Haris Arshad) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ SD Guthrie ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย (เดิมคือ Sime Darby Plantation) กล่าวว่า “มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้านี้ น้ำมันปาล์มถูกนำไปผสมกับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและส่งออกไปยังพ่อค้าคนกลาง ซึ่งต่อมาจะส่งต่อไปยังยุโรป” ทั้งนี้ บริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่บริษัทน้ำมันอย่าง Shell และ BP ผู้ผลิตยานยนต์ เช่น Ford และ Volkswagen รวมถึงสายการบินอย่าง Lufthansa ต่างใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อเดินเครื่องบรรทุกและเครื่องบิน ในความพยายามที่จะลดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จากพื้นที่ป่าถูกทำลาย สหภาพยุโรปจึงออกมาตรการจูงใจให้ผู้บริโภครายใหญ่เลือกใช้น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วแทน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าผู้ส่งออกในเอเชียบางรายมีการเปลี่ยนฉลากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หรือผสมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วกับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทำให้ตลาดมีความ ไม่โปร่งใส รายงานจากกลุ่มรณรงค์ Transport & Environment ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ระบุว่าจีนและมาเลเซียส่งออกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปยังยุโรปมากกว่าปริมาณที่สามารถจัดหาได้ตามทฤษฎี โดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งส่งออกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วในปริมาณสูงกว่ายอดเก็บรวบรวมภายในประเทศถึงสามเท่า ตามข้อมูลที่อ้างถึงในรายงาน
กระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซียประเมินว่าการส่งออกกากน้ำมันปาล์มและน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งเป็นผลพลอยได้หลักจากการผลิตน้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้น 21% ระหว่างปี 2019 ถึง 2023 ขณะที่การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบลดลงหนึ่งในห้าในช่วงเวลาเดียวกัน แนวโน้มทั้งสองชี้ให้เห็นว่าการส่งออกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและกากน้ำมันปาล์ม “ไม่ได้มาจากของเหลือหรือกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ใช้แล้วเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการผสมกับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ด้วย” นายบูดี ซานโตโซ (Budi Santoso) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อประกาศมาตรการห้ามส่งออกเมื่อต้นปีนี้ “ความต้องการวัตถุดิบเหลือใช้จากต่างประเทศ [เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว] พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของบางประเทศผู้นำเข้า” รายงานระบุ อินโดนีเซียได้ประกาศแผนใช้ปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินเพื่อกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ โดยกำหนดให้เชื้อเพลิงชีวภาพต้องผสมน้ำมันปาล์มในอัตรา 40% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 35% นักวิเคราะห์จาก Rabobank คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคา เขาคาดการณ์ว่าในปีนี้จนถึงเดือนตุลาคม ตลาดน้ำมันปาล์มโลกอาจประสบปัญหาขาดดุล เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสำคัญของวัฏจักรการปลูก เก็บเกี่ยว และกระจายน้ำมันปาล์ม
อย่างไรก็ตาม นายโมฮ์ ฮาริส อาร์ชาด (Moh Haris Arshad) จาก SD Guthrie แสดงความเห็นว่าเป็นไปได้น้อยที่ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียจะยอมรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผสมน้ำมันปาล์ม ซึ่งแพงกว่าดีเซลทั่วไป อีกทั้งรัฐบาลอาจไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนที่จำเป็นได้ ผู้ผลิตจึงกังวลว่าตลาดน้ำมันปาล์มโลกอาจเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้ราคาลดต่ำลงอีก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กำลังเตรียมใช้มาตรการจูงใจทางภาษีที่ริเริ่มขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับภาคการขนส่ง ซึ่งรวมถึงการให้เครดิตภาษีแก่บริษัทที่ผลิตเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ เช่น ผลิตภัณฑ์จากกากน้ำมันปาล์มที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เลื่อนแผนดังกล่าวออกไป และกำลังพิจารณาการปรับเปลี่ยน โดยอาจตัดน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วออกจากโครงการจูงใจทางภาษี หากถูกถอดออก บริษัทกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ อาจต้องมองหาทางเลือกอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินเพิ่มขึ้นและกดดันราคาต่อไป นักวิเคราะห์ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในสิงคโปร์ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อให้ความเห็น
ความคิดเห็นสำนักงาน
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) และเศษเหลือจากกระบวนการผลิต (Palm Oil Mill Effluent: POME) ตั้งแต่ต้นปี 2025 เพื่อใช้ปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินที่มีอยู่ในกระตุ้นความต้องการในประเทศ โดยการบังคับให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผสมกับน้ำมันปาล์มในอัตราที่สูงขึ้น (จาก 35% เป็น 40%) ซึ่งจะช่วย ลดการพึ่งพาการส่งออกและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองต่อความต้องการในประเทศผู้นำเข้า ซึ่งมักมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เข้มงวด เช่นสหภาพยุโรป ซึ่งมาตรการดังกล่าวของอินโดนีเซียส่งผลให้ตลาดน้ำมันปาล์มเกิดภาวะล้นตลาด เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถระบายสต็อกส่วนเกินไปยังตลาดยุโรปได้เหมือนเดิม
ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรการควบคุมแหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรป อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยส่งเสริมมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ผู้ผลิตภายในประเทศอาจหันมาแปรรูปน้ำมันปาล์มสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์ม รวมถึงส่งเสริมการใช้ภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดโลก