ในตอนแรกดูเหมือนว่าจะเป็นการแสดงผลทางสถิติที่ผิดปกติ แต่ในปัจจุบันเรารู้แล้วว่า เมื่อปี 1976 ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา การส่งออกเกินดุลเป็นปกติเพราะสหรัฐฯ เป็นของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ได้กลับกลายไปเป็นขาดดุลการค้า และยิ่งขาดดุลมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทันที โดยในปีที่แล้วการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ มีมูลค่ามหาศาลถึง 918,000 ล้านยูโร ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้พยายามหาทางออกเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การขึ้นหรือเก็บภาษีนำเข้า โดยช่วงต้นทศวรรษ 1980 นาย Ronald Reagan ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในตอนนั้น ได้จัดทำแพ็คเกจเรียกเก็บภาษีศุลกากรขึ้น เพื่อปกป้องผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศ อาทิ Ford, Chrysler และ GM โดยมุ่งเป้าไปที่คู่แข่งรายใหม่อย่างประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี 1981 นาย Reagan ได้เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ของญี่ปุ่น 45% และได้บังคับให้รัฐบาลญี่ปุ่นทำข้อตกลงโดยสมัครใจว่าจะไม่ส่งออกรถยนต์มากกว่า 1.6 ล้านคัน มายังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ชัยชนะของนาย Reagan ในตอนนั้นกลับเป็นภาพลวงตา และกลายเป็นความพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะผู้ที่เสียภาษีเพิ่มขึ้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากรายได้ที่สูญเสียไปจริง ๆ เพราะภาษี ภาษีศุลกากร และผลที่ตามมาจากอุปสรรคการค้าอื่น ๆ นั้นสามารถถูกส่งต่อไปได้นั่นเอง

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเชิงนโยบายของนาย Reagan นั้น เหมือนกับตัวอย่างในหนังสือเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายภาษี กล่าวคือ เมื่อมีการสร้างการขาดแคลนอุปทานเทียมขึ้นมา ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และส่งผลให้ผู้ผลิตมีกำไรสูงขึ้นด้วย จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นใช้กำไรที่เกิดขึ้นนี้ไปกับการลงทุนเพื่อขยายความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของตนมากขึ้น จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีอัตรากำไรสูงขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ขนาดใหญ่ และรถสปอร์ตที่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ด้วยวิธีนี้ทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นสามารถโจมตีบริษัทสหรัฐฯ ในกลุ่มตลาดที่สหรัฐฯ รู้สึกว่า ปกป้องไว้ดีแล้ว และกลุ่มตลาดที่น่าจะไม่ถูกโจมตีหลังจากที่มีการกำหนดภาษีศุลกากรที่สูงได้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เพราะในปี 1985 บริษัท Honda ได้เริ่มเข้าไปผลิตยานยนต์ในสหรัฐฯ และอีกหนึ่งปีต่อมา (ปี 1986) Nissan เริ่มผลิตรถกระบะ และรถยนต์ตามมา ในขณะที่ Toyota ก็เข้าสหรัฐฯ ในปี 1986 เช่นกัน เดิมโควตาการนำเข้าที่ญี่ปุ่นได้ตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่า จะลดลงในปี 1985 แต่กระทรวงการค้ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (MITI) ที่ทรงอิทธิพลสามารถรักษาโควตานี้ไว้ได้ ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์จนถึงปี 1993 และยังกำหนดส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทต่าง ๆ ในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้อีกด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือ ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และกลายเป็น ผู้ซื้อรถยนต์ในสหรัฐฯ กลายเป็นผู้เสียประโยชน์ไป

 

เรื่องที่เหลือก็เป็นประวัติศาสตร์อย่างที่เราทราบกัน บริษัท General Motors (GM) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุด ในโลกตั้งแต่ปี 1931 – 2007 ก็ต้องเสียตำแหน่งผู้นำให้กับ Toyota ในปี 2008 และในวันที่ 1 มิถุนายน 2009 บริษัท GM ก็ต้องยื่นประกาศล้มละลายและกลายเป็นบริษัทของรัฐไปเกือบทั้งหมด โดยใน 16 เดือนหลังจากการล้มละลายและการแปรรูปเป็นบริษัทของรัฐ GM ได้กลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2010 โดยการช่วยเหลือ GM ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเสียเงินกว่า 51,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่า รัฐบาลจะได้เงินคืนจากการขายบริษัทในภายหลังเป็นจำนวน 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ผู้เสียภาษีของประเทศก็ต้องออกมารับหน้าที่จ่ายเงินส่วนที่เหลืออีก 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน GM มีรถยนต์ให้เลือกเพียง 4 รุ่น ในสหรัฐอเมริกา และ Ford เหลือรถเพียง 2 รุ่น ให้เลือกเท่านั้น โดยรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาคือ รถยนต์ Ford รุ่น F-Series ซึ่งเป็นรถกระบะที่มีความยาวระหว่าง 5 – 6 เมตร และกว้างมากกว่า 2 เมตร ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ และมีกำลังสูงสุดถึง 730 แรงม้า แต่รถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่ขับขี่ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในเอเชีย ซึ่งในปัจจุบันก็กลายมาเป็นภาพลักษณ์ตามปกติของเมืองต่าง ๆ ของอเมริกาหลายแห่งไปเรียบร้อยแล้ว

 

และเมื่อเรามองย้อนกลับไป ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นโยบายการค้าของนาย Reagan นั้นสามารถปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ จากการแข่งขันที่ไม่พึงประสงค์ได้เพียงในระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ที่เราสามารถมองเห็นได้เช่นกันก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญต่อประเทศสหรัฐฯ ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันแรงงานที่ทำหน้าที่ประกอบรถยนต์ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานให้กับ GM ในเมือง Detroit อีกต่อไป แต่ทำงานให้กับบริษัท Toyota ในเมือง Georgetown, Kentucky, San Antonio หรือ Texas เป็นหลัก หรือไม่ก็ทำงานให้กับบริษัท Volkswagen, BMW และ Mercedes ที่ไม่กี่ปีต่อมา หลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ พวกเขาก็ได้เข้ามาสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในรัฐต่าง ๆ ทางตอนใต้ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อความภาคภูมิใจในชาติของพลเมืองสหรัฐฯ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่า โรงงานที่ดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติเหล่านี้เพิ่มมูลค่าเพิ่มในประเทศ สร้างรายได้จากภาษี สร้างงาน และความเจริญรุ่งเรือง ให้กับสหรัฐฯ อีกด้วย

 

จากมุมมองนาย Trump ที่ว่า ผู้ผลิตของสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีนั้น เป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รถยนต์ยี่ห้อสัญชาติสหรัฐฯ ที่ผลิตในสหรัฐฯ สามารถจำหน่ายในประเทศเยอรมนีได้น้อยกว่า 7,000 คัน โดยรถที่ขายดีที่สุดคือ รถ Ford Mustang Mach-E ซึ่งสามารถขายได้เพียงจำนวน 2,049 คัน เท่านั้น โดยนาย Trump ได้ออกมาตำหนิภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ที่ 10% ว่า เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ไม่สามารถขายรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ใน EU ได้ โดยหากเราลองวิเคราะห์ดู ก็สามารถตั้งคำถามได้ว่า เหตุใด BMW จึงสามารถขายรถรุ่น X3 ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาได้ประมาณ 23,000 คัน ในเยอรมนีได้ โดยรวมแล้ว BMW และ Mercedes นำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ประมาณ 65,000 คันต่อปี แม้ว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของ EU ที่ 10% ก็ตาม คงจะแม่นยำกว่าหากจะบอกว่า ผู้ผลิตยานยนต์ดั้งเดิมของสหรัฐฯ ได้ปิดกั้นตัวเองและแอบซ้อนอยู่หลังอุปสรรคภาษีสำหรับรถยนต์ SUV และรถกระบะในประเทศที่สูง และมุ่งเน้นการประกอบธุรกิจไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไรเหล่านี้แทน แต่พวกเขากลับลืมพัฒนารถยนต์ที่สามารถแข่งขันกับตลาดอื่น ๆ ไปแล้ว หรือไม่ก็ตระหนักแล้วว่า มีโอกาสในการสร้างผลกำไรในตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่าที่อื่น ซึ่งในปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คือ Toyota, Volkswagen และ Hyundai ตามลำดับ ในปี 2023 ผู้ผลิตชาวจีนสามารถขายยานยนต์ได้มากกว่าผู้ผลิตในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก รถยนต์ของผู้ผลิตชาวจีนเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากราคาที่ต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของนาย Trump จะไม่เปลี่ยนแปลงความสำเร็จทางการตลาดเหล่านี้อย่างแน่นอน การประกาศกำหนดภาษีศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์จากแคนาดา และเม็กซิโก จะทำให้ราคารถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาลดลงไปอีก การพยายามทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ กลับมา “ยิ่งใหญ่ขึ้น” อีกครั้งด้วยวิธีการนี้ ก็คงจะไม่สัมฤทธิ์ผลแน่นอน

 

บทความโดยศาสตราจารย์ Bert Rürup หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ Handelsblatt

 

จาก Handelsblatt 3 มีนาคม 2568

thThai