มาตรการภาษีนำเข้าสำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 โดยทำให้อัตราภาษีของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยมีมานานหลายทศวรรษ และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ
ตั้งแต่เวลา 00:01 น. ของวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก และบังคับใช้ภาษีนำเข้าอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีนำเข้า 10% ที่บังคับใช้กับสินค้าจีนไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สินค้าจากจีนยังมีอัตราภาษีเดิมที่บังคับใช้อยู่จากสงครามการค้าตั้งแต่สมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์
มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้ไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าจะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐฯ และส่งเสริมให้ผู้ผลิตบางรายที่ต้องการขายสินค้าให้กับลูกค้าอเมริกันย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ แทนการผลิตในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่เหล่านี้ อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดความปั่นป่วน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูต และเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคในสหรัฐฯ
แคนาดา เม็กซิโก และจีน เป็น 3 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยในปีที่ผ่านมา การค้ากับทั้ง 3ประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่ง 3 ประเทศนี้นับเป็นซัพพลายเออร์หลักของน้ำมันดิบ เบียร์ สายทองแดง กระดาษชำระ เหล็กรีดร้อน (hot-rolled iron) แตงกวา และช็อกโกแลต รวมถึงสินค้าอื่น ๆ อีกมากมายให้กับสหรัฐฯ
การกำหนดอัตราภาษีครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งเม็กซิโกและแคนาดา เนื่องจากทั้งเม็กซิโกและแคนาดาได้พยายามอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศได้เพิ่มมาตรการควบคุมชายแดนแล้ว
เดิมทีประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้านี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยอ้างว่าทั้ง 3 ประเทศไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในการหยุดยั้งการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศได้เปลี่ยนเงื่อนไข รวมทั้ง ระบุว่าแคนาดาและเม็กซิโกควรย้ายฐานการผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ มายังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือสร้างโรงงานผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีนั้นจะไม่มีภาษี”
เมื่อเวลา 00.01 น. วันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 ตามเวลามาตรฐานตะวันออก แคนาดาได้ตอบโต้กลับโดยเริ่มเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้าหลายรายการเป็นมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าสินค้าใดที่จะได้รับผลกระทบบ้าง และจะขยายการเก็บภาษีนำเข้าไปยังสินค้าของสหรัฐฯ มูลค่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 21 วันข้างหน้า
ในปัจจุบันเฟนทานิลจากแคนาดาที่ถูกสกัดกั้นที่ชายแดนสหรัฐฯ นั้นมีเพียงไม่ถึง 1% แต่แคนาดาก็ยังคงพยายามสกัดกั้นการหลั่งไหลเข้าของสารเสพติดนี้ จนทำให้ยอดการจับกุมลดลงเกือบเป็นศูนย์ภายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การขู่ใช้มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อแคนาดาครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจและกระแสชาตินิยมและความรู้สึกต่อต้านอเมริกาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์เคยกล่าวถึงแนวคิดการผนวกแคนาดาเข้าสหรัฐฯ หลายครั้ง
รัฐบาลเม็กซิโกเองก็ได้เพิ่มมาตรการควบคุมชายแดนและการกวาดล้างแก๊งค้ายาเฟนทานิลอย่างเข้มงวด และส่งตัวผู้กระทำผิดระดับสูงให้กับสหรัฐฯ นอกจากนี้ เม็กซิโกยังให้คำมั่นที่จะส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติ 10,000 นาย เพื่อช่วยควบคุมการอพยพเข้าเมืองผิดกฏหมาย โดยเป็นการเสริมจากมาตรการก่อนหน้านี้ที่ใช้สลายขบวน ผู้อพยพก่อนถึงชายแดนสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้อพยพข้ามชายแดนได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์
ประธานาธิบดี คลอเดีย เชนบาวม์แห่งเม็กซิโกกล่าวว่าเม็กซิโกปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลทรัมป์ที่ว่ารัฐบาลเม็กซิโกล้มเหลวในการปราบปรามกลุ่มค้ายาที่ส่งออกยาเสพติดรวมถึงเฟนทานิลไปยังสหรัฐฯ และรัฐบาลเม็กซิโกจะประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ามาตรการภาษีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาเหนือ โดยแคนาดาและเม็กซิโกจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากถึง 80% ขณะที่จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพียง 15% จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า แม้ว่าแคนาดาและเม็กซิโกจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์ แต่จีนกลับไม่แสดงท่าที่ว่าจะต้องเร่งการเจรจากับสหรัฐฯ แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับการบริหารงานของรัฐบาลจีนกล่าวว่า รัฐบาลจีนไม่ต้องการถูกมองว่ากำลังอ้อนวอนร้องขอสหรัฐฯ และต้องการที่จะเข้าใจความต้องการของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแน่ชัดก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรอง
รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจและประกาศว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีนเอง โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศ และมองว่านี่เป็นการกลั่นแกล้งจีน ซึ่งกระทรวงการคลังของจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้กลับโดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอาหารของสหรัฐฯ โดยจีนประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 15% สำหรับไก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้ายจากสหรัฐฯ และภาษีนำเข้า 10% สำหรับข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง เนื้อหมู เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์นมจากสหรัฐฯ พร้อมทั้ง ประกาศหยุดขายสินค้าจีนให้กับบริษัทของสหรัฐฯ 15 แห่ง
นอกจากมาตรการภาษีต่อแคนาดา เม็กซิโก และจีนแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีแผนที่จะเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าในวันที่ 12 มีนาคม 2568 และอาจเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่เท่ากับประเทศอื่นที่เรียกเก็บจากสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ และจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับรถยนต์นำเข้า ทองแดง ไม้แปรรูป และสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีก
ศาสตราจารย์ Gustavo Flores-Macías จากคณะรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า ภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคยานยนต์ โดยจากข้อมูลของ บริษัทวิจัยด้านยานยนต์ JATO Dynamics รถยนต์และรถบรรทุกที่ขายในสหรัฐฯ เกือบ 40% นั้นเป็นรถยนต์นำเข้า โดยเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้ารายใหญ่ที่สุด และถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่กว่าและสามารถรองรับผลกระทบเชิงลบของสงครามการค้าได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่การทำสงครามการค้ากับพันธมิตรการค้าหลักทั้ง 3 ประเทศพร้อมกันนั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อทุกฝ่าย
นาย Brian Bryant ประธานสมาคมช่างและคนงานด้านอวกาศระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของช่างและคนงานในอุตสาหกรรมอวกาศ รถไฟ การดูแลสุขภาพ และยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประณามการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอย่างรุนแรงและกล่าวว่าเป็นการตัดสินใจที่ขาดความรอบคอบและโจมตีพันธมิตรที่เชื่อถือได้อย่างไม่ยุติธรรม การตัดสินใจครั้งนี้จะสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการ ส่งผลให้คนงานทั้งสหรัฐฯและแคนาดาได้รับผลกระทบ
นาย Gary Shapiro ประธานสมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภคของสหรัฐฯ กล่าวว่า ภาษีศุลกากรคือภาษีที่ส่งกระทบต่อชาวอเมริกันและธุรกิจอเมริกัน ไม่ใช่รัฐบาลหรือบริษัทต่างชาติ และในระยะยาวบริษัทต่าง ๆ อาจต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อผู้บริโภคและตลาดแรงงานในสหรัฐฯ
นาย Casey Hite ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Aeroflow Health ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องปั๊มนม เครื่อง CPAP ชุดทดสอบโรคเบาหวาน และผ้าอ้อมให้กับผู้บริโภคหรือผู้ป่วยที่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ กล่าวว่า หากภาษีศุลกากรทำให้รายได้จากอุปกรณ์ทางการแพทย์บางประเภทลดลง บริษัทก็อาจจะไม่ขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคจะมีเครื่องปั๊มนมหรือเครื่อง CPAP ให้เลือกน้อยลง ด้วยผลกระทบจากภาษีบริษัทอาจต้องยุติการจ้างงานและการขยายธุรกิจอื่นๆ เช่นกัน และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทจะต้องเจรจาสัญญาใหม่กับบริษัทประกันสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค และในระยะยาวชาวอเมริกันจะต้องจ่ายอัตราเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง The New York Times, CNN