วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ลงนามขยายเวลาการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 25 ออกไปถึงวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งการประกาศเลื่อนระยะเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพียง 1 วัน หลังมีการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ไปเมื่อวันอังคารที่ 4 มี.ค. ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าอย่างรวดเร็วที่สร้างความผันผวนและความปั่นป่วนให้กับธุรกิจหลายฝ่าย รวมถึงตลาดการเงินทั่วโลก
ซึ่งเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์แคนาดาได้เคยประเมินผลกระทบทางการค้าไว้ว่า มาตรการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงนั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งสองชาติ และจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจจำนวนมากกับการว่างงานรอบด้าน สะท้อนได้จากตลาดหุ้น ณ วันอังคารที่ 4 มีนาคม ปรับตัวลงมาก ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีสูงสุดร้อยละ 25 จากแคนาดาและเม็กซิโก จากนั้นตลาดขยับขึ้นมาดีอีกครั้งเมื่อผู้นำสหรัฐฯ ลงนามเลื่อนการเก็บภาษีออกไป
ทั้งนี้ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงคำสั่งเปลี่ยนแปลงภาษีเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำทรัมป์ได้หารือร่วมกับผู้บริหารกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ BIG 3 ในสหรัฐฯ คือ บริษัท Ford บริษัท General Motors และบริษัท Stellantis ด้วยเหตุผลที่ว่าแคนาดา-เม็กซิโก-สหรัฐฯ มีห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น และดำเนินงานการผลิตขนาดใหญ่ ดังนั้น การขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ขณะที่ผู้บริโภคก็อาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น จากราคาขายรถที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การลงนามเพื่อเลื่อนการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้กับสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดาหรือที่เรียกว่า United States-Mexico-Canada Agreement โดยครอบคลุมสินค้าที่นำเข้าจากเม็กซิโกประมาณร้อยละ 50 และสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดาประมาณร้อยละ 36 สินค้าส่งออกจากแคนาดาที่อยู่ภายใต้ USMCA อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกือบทั้งหมด รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความตกลง ได้แก่ สินค้าหมวดพลังงาน แร่โปแตช จะถูกเรียกเก็บภาษีร้อยละ 10 และสินค้าอื่นๆ จะเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25
ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวเตือนว่า การผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และจะไม่มีการลงนามขยายเวลาอีกในเดือนหน้า เพราะทรัมป์เห็นว่า อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในอเมริกามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวอย่างแน่นอน
ด้านฝ่ายแคนาดา โดยนาย Dominic LeBlanc รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแคนาดา กล่าวบนเว็บไชต์ X ว่า แคนาดาจะเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ต่อสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 125,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา ออกไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2568 เช่นกัน
ขณะที่นาย Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ออกมาระบุหลังได้มีการสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้นำสหรัฐฯ ว่า แคนาดาพยายามเจรจาไม่ให้ทั้งสองชาติเข้าสู่สงครามการค้าที่ไม่เป็นธรรม แม้สหรัฐฯ จะชะลอการเก็บภาษีบางส่วนแล้วก็ตาม แต่เป้าหมายของแคนาดา คือ ต้องการให้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด โดยแคนาดายังคงอยู่ในระหว่างหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป อย่างไรก็ดี แคนาดาก็พร้อมที่จะตอบโต้ มาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ ในทุกกรณีที่เกิดขึ้นอนาคต
ข้อคิดเห็นสคต. ปฏิเสธไมได้ว่า สถานการณ์การค้าโลกในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา ทั้งการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการนี้ แนวทางรับมือความเสี่ยงต่างๆ ภาคธุรกิจต้องเน้นกลยุทธ์ในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพื่อเป็นเกราะที่จะลดความผันผวนของการพึ่งตลาดสหรัฐฯ อย่างเดียว และจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ที่มา https://www.cbc.ca/news/politics/trudeau-trump-trade-war-deal-1.7476311
โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์