ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินเดียได้พัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่เป็นการค้าในเเบบทั่วไปจนพัฒนากลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้นและผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ดุลการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินเดียมีลักษณะเฉพาะคือ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า เนื่องจากอินเดียส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากกว่าที่นำเข้า สาเหตุหลักของแนวโน้มนี้ได้แก่ ราคาสินค้าที่แข่งขันได้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และ ความต้องการในตลาดสหรัฐฯ จากข้อมูลเชิงสถิติ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 (เม.ย 66- มี.ค 67) มูลค่าการค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของตลาดอินเดียรองลงมา คือ จีน และ UAE ตามลำดับ ในขณะที่ อินเดียเป็นคู่ค้าสินค้าอันดับที่ 10 ของสหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าบริการอันดับที่ 6 (USTR,2025)
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2567 การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินเดียยังคงแสดงให้เห็นถึงการขาดดุลการค้าต่อเนื่องสำหรับสหรัฐฯ (ที่มา: Department of Commerce) :
• การส่งออกของสหรัฐฯ ไปอินเดีย: 41.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.4% จากปี 2566
• การนำเข้าของสหรัฐฯ จากอินเดีย: 87.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อนหน้า
• การขาดดุลการค้า: 45.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2566 ตัวเลขสถิตินี้ชี้ให้เห็นถึง ความไม่สมดุลทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ระหว่างสองประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. การส่งออกของอินเดียไปยังสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับเเรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับกึ่งรัตนชาติ (Semi-Precious Stones) โดยอินเดียเป็นประเทศที่ครองผู้เล่นอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 29% เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrical Machinery) และยาเเละเวชภัณฑ์ ในทางตรงกันข้าม อินเดียนำเข้าสินค้าหลากหลายประเภทจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายและลึกซึ้ง สินค้าหลักที่อินเดียนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Crude Oil and Related Products) อัญมณีและหินมีค่า (Gems and Stones) และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (Nuclear Reactors and Related Equipment)
2. นโยบายล่าสุดของรัฐบาลอินเดียท่ามกลางข้อพิพาททางการค้า :เพื่อตอบสนองต่อความตึงเครียดทางการค้าและมาตรการภาษีที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐฯ รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาออกแผนดำเนินมาตรการสำคัญ ดังนี้
2.1. การลดอัตราภาษีนำเข้า: อินเดียอยู่ระหว่างพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าสหรัฐฯ กว่า 30 รายการ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทางการค้า (Retaliatory Tariffs) จากสหรัฐฯ สินค้าหลักที่อาจถูกปรับลดภาษี ได้แก่
ยานยนต์หรู (Luxury Vehicles) ปัจจุบันภาษีนำเข้าอยู่ที่ 100% อาจลดเหลือ 50% เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cells): ปรับลดจาก 20% เป็น 10% และ สารเคมีอุตสาหกรรม เช่น โพลีเมอร์และพลาสติกวิศวกรรม
2.2 การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ: อินเดียกำลังเจรจาเพื่อขยายการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในสาขายุทธปัจจัย ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันประเทศ: เช่น เครื่องบินรบ F-21 และระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400
• พลังงาน: นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2568 และอินเดียตั้งเป้านำเข้า LNG จากสหรัฐฯ เป็น 8 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
• อากาศยานพาณิชย์: เร่งเจรจากับ Boeing เพื่อซื้อเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner หรือ Boeing 777X จำนวน 50 ลำ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินในตะวันออกกลาง (เช่น Emirates, Qatar Airways) ตอบสนองความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น 12% ต่อปี ในตลาดอินเดีย เเละลดการพึ่งพาเครื่องบินรุ่นเก่าที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
จากฐานข้อมูลของรัฐบาลอินเดียปี 2568 มาตรการลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ที่กำลังพิจารณานั้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการแข่งขันทางการค้าและลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยรัฐบาลอินเดียได้ระบุสินค้าสำคัญกว่า 30 รายการไว้ (ดังตัวอย่างสินค้าสำคัญและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องตามตารางด้านบน)
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจ
1. ลดต้นทุนการผลิต: การปรับลดภาษีจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสำคัญลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น
2. เสริมสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี: ลดภาระต้นทุนช่วยให้บริษัทและโรงงานสามารถลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและกระบวนการผลิตภายในประเทศ
3. ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ: มาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่ลดผลกระทบจากภาษีที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
ข้อคิดเห็น
โดยรวมแล้ว แนวทางการออกมาตรการลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ถือเป็นแนวทางเชิงรุกที่รัฐบาลอินเดียวางแผนออกมาใช้เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการค้าและสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของประเทศในอนาคต เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเชิงกลยุทธ์ของอินเดียในการปรับตัวต่อสภาวะตลาดโลกและสร้างความร่วมมือทางการค้าในระยะยาว เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่การลดต้นทุนการนำเข้าสร้างความได้เปรียบให้กับภาคธุรกิจ จนถึงกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ในขณะที่การเจรจาต่อรองเพื่อรักษาดุลการค้า สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสหรัฐฯ เข้ามาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าซึ่งจะช่วยให้สินค้าจากสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดอินเดียได้ง่ายขึ้น และอาจเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมในการขยายตลาดและลดดุลการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ
ที่มา: 1 https://www.ibef.org/indian-exports/india-us-trade 2.https://www.cfr.org/article/india-united-states-and-future-international-trade-order
3.https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/india-us-to-finalise-broad-contours-of-proposed-trade-agreement/articleshow/118330833.cms?from=mdr