เป้าหมายในการบังคับใช้ภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจแบบอเนกประสงค์ที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐฯ การกดดันประเทศอื่นๆ ให้ยอมอ่อนข้อในข้อพิพาทสำคัญ ลดการขาดดุลการค้า และสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศ รวมถึง ช่วยลดภาระภาษีของชาวอเมริกัน
ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพูดถูกต้องในบางประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์ของภาษีศุลกากร เพราะเมื่อใช้ภาษีศุลกากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีศุลกากรจะสามารถช่วยกระตุ้นการผลิตภายในประเทศได้ โดยทำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศนั้นมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่จึงไม่ได้พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากนักเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐฯ จึงสามารถใช้ภาษีศุลกากร โดยอาจไม่ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้ง ยังมีรายได้จากการเก็บภาษีศุลกากรที่สามารถนำมาใช้ลดการขาดดุลงบประมาณบางส่วนได้ อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีศุลกากรนี้จะสามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ดี หลังจากการประกาศแผนภาษีศุลกากรดังกล่าว กลับพบว่าแผนการของประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนจะมีปัญหา กล่าวคือ การใช้ภาษีศุลกากรไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ เพราะเป้าหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเรียกเก็บภาษีมักจะขัดแย้งกันเอง เช่น หากประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกดดันทางการค้ากับประเทศอื่น เมื่อประเทศดังกล่าวยอมโอนอ่อนผ่อนตามข้องเรียกร้องของสหรัฐฯ ภาษีศุลกากรก็ต้องถูกยกเลิก ซึ่งหมายความว่าไม่ควรจะมีภาษีศุลกากรเหลืออยู่เพื่อฟื้นฟูดุลการค้า หรือในอีกกรณีหนึ่ง หากภาษีศุลกากรถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมภาคการผลิตในประเทศ สหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถใช้ภาษีศุลกากรเป็นแหล่งรายได้เพื่อชดเชยการขาดดุลได้เช่นกัน เพราะหากชาวอเมริกันหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็จะไม่มีใครซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และจะไม่มีใครจ่ายภาษีสินค้านำเข้า
นอกจากนี้ นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่จะเป็นการช่วยเหลือ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ยอมรับว่าภาษีศุลกากรอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธจะให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากนโยบายการค้า ตลาดหุ้นก็ดิ่งลงเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2568 อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนยังจะเชื่อในหลักการภาษีศุลกากรอย่างแท้จริง และชื่นชมอดีตประธานาธิบดี William McKinley อยู่เสมอ เพราะเมื่อกว่า 100 ปีก่อน อดีตประธานาธิบดี William McKinley ได้เก็บภาษีศุลกากรกับประเทศต่างๆ ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะมีระบบภาษีเงินได้ ประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็น “คำที่สวยงาม” ที่จะทำให้คนอเมริกันกลับมาร่ำรวยอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าจะมีการล่าช้าและมีการเลื่อนออกไปหลายครั้ง แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเก็บภาษีศุลกากรมหาศาลกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนเป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายดังต่อไปนี้
1. การปราบปรามเฟนทานิลและการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากร 20% ที่เรียกเก็บจากจีน และ 25% ที่จะเรียกเก็บจากเม็กซิโกและแคนาดา (ซึ่งถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง) มีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ประเทศเหล่านี้หยุดการไหลเข้ามาของยาเสพติดเฟนทานิลและการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายสู่สหรัฐฯ
นาย Howard Lutnick รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่าภาษีศุลกากรที่ถูกเลื่อนออกไปจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายนนี้ และจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเชื่อว่าประเทศเหล่านั้นได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการยับยั้งการหลั่งไหลเข้ามาของเฟนทานิล และได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Meet the Press ว่า  “หากยาเฟนทานิลหมดไป ผมคิดว่าภาษีศุลกากรจะถูกยกเลิก แต่หากปัญหายังไม่หมดไป หรือประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่มั่นใจ ภาษีเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของการช่วยชีวิตชาวอเมริกัน”
นาย Kevin Hassett ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาษีศุลกากรของทรัมป์ต่อเม็กซิโกและแคนาดาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามยาเสพติด ไม่ใช่สงครามการค้า
2. การเพิ่มรายได้เข้ารัฐ
ประธานาธิบดีทรัมป์คาดการณ์ไว้สูงลิ่วว่าภาษีศุลกากรจะช่วยเพิ่มรายได้มากมายเข้าสู่ประเทศ โดยกล่าวในที่ประชุมสภาคองเกรสว่า “เราจะมีรายได้เป็นล้านล้านดอลลาร์ และสร้างงานในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และภาษีศุลกากรจะทำให้ประเทศอเมริการ่ำรวยและยิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง” อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการงบประมาณแห่งชาติคาดการณ์ว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์ที่เรียกเก็บจากจีน เม็กซิโก และแคนาดา จะสร้างรายได้ประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปี
แต่ปัญหาคือ นโยบายภาษีศุลกากรไม่ได้ออกแบบมาให้คงอยู่ได้นานขนาดนั้น หากรัฐบาลทรัมป์กล่าวว่าจะยกเลิกภาษีศุลกากรเมื่อปัญหาเฟนทานิลได้รับการแก้ไข รายได้เหล่านี้ก็อาจไม่ยั่งยืน นาย Kevin Hassett กล่าวว่าสาเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์เลื่อนการเก็บภาษีศุลกากรต่อแคนาดาและเม็กซิโกในครั้งที่สอง ก็เพราะได้เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขสงครามยาเสพติด ดังนั้นหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป สหรัฐฯ ก็จะไม่มีรายได้ในส่วนนี้
3. การฟื้นฟูภาคการผลิตในประเทศ
ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบายการค้าที่จะฟื้นฟูภาคการผลิตในอเมริกาโดยสนับสนุนให้มีการลดภาษีสำหรับโรงงานที่จ้างงานและผลิตสินค้าในประเทศและเพิ่มภาษีสำหรับสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ ในการแถลงต่อสภาคองเกรสประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “เราต้องการลดภาษีสำหรับการผลิตในประเทศ และหากคุณไม่ผลิตสินค้าในอเมริกา คุณจะต้องจ่ายภาษีศุลกากร และในบางกรณีอาจเป็นอัตราภาษีที่สูงมาก” ซึ่งนโยบายนี้จะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ หันมาสร้างโรงงานและผลิตสินค้าในสหรัฐฯ แต่หากบริษัทเหล่านี้ทำตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขอจริงๆ  สหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านั้นได้อีก
4. การลดภาระหนี้และภาษีของชาวอเมริกัน
คำสั่งแรกๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระที่สองคือคำสั่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บรายได้จากต่างประเทศ (External Revenue Service) เพื่อจัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรและนำมาชำระหนี้ของประเทศและลดภาษีของชาวอเมริกัน กล่าวคือ สหรัฐฯ จะมีรายได้จำนวนมากจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์จนชาวอเมริกันไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีรายได้จากภาษีเงินได้ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และนำเข้าสินค้าในมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้ภาษีศุลกากรสามารถแทนที่ภาษีเงินได้ทั้งหมด สหรัฐฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 100% ซึ่งเป็นไปไม่ได้และแทบจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การเรียกเก็บภาษีศุลกากรจำนวนมากนี้อาจทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
5. การสร้างความเป็นธรรมทางการค้า
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวในสุนทรพจน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯถูกเอาเปรียบมานานหลายทศวรรษ และจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป “ประเทศอื่นๆ ใช้ภาษีศุลกากรกับเรามานานหลายทศวรรษแล้ว และตอนนี้ถึงคราวของเราแล้วที่จะเริ่มต้นใช้ภาษีศุลกากรกับประเทศอื่นๆ” โดยประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยจะเก็บภาษีในอัตราเดียวกับที่ประเทศอื่นเรียกเก็บจากสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า เมื่อสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าอัตราภาษีที่สูงกว่านี้ทำให้สหรัฐฯ ขาดทุนและเสียดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่านี่ไม่ใช่การขาดทุน และในความเป็นจริงการขาดดุลการค้าสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้ ดังนั้น การเก็บภาษีศุลกากรอาจไม่ช่วยลดช่องว่างทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ และหากทำได้จริง ก็อาจเป็นสัญญาณว่าอำนาจการใช้จ่ายของสหรัฐฯ กำลังลดลง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง CNN News
thThai