ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ

นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมุ่งเน้นการขับไล่ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมากและการเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ เนื่องจากธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาทั้งแรงงานผิดกฎหมายและผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า
แรงงานผิดกฎหมายมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมร้านอาหารสหรัฐฯ ตั้งแต่ภาคการเกษตร เช่น โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และการเก็บเกี่ยวผลผลิต แรงงานกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 40%-50% ของแรงงานภาคการเกษตรทั้งหมด และแรงงานที่ไม่มีเอกสารก็เป็นกลุ่มแรงงานสำคัญในธุรกิจร้านอาหารเช่นกัน แรงงานที่ไม่มีเอกสารซึ่งทำงานในครัวและหน้าร้านคิดเป็นสัดส่วน 12% ของแรงงานในร้านอาหารทั้งหมด

นอกจากนี้ธุรกิจร้านอาหารจำนวนมากในสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าซึ่งไม่ใช่แค่ผักและผลไม้ แต่ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารทะเล และกาแฟ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่สามารถหาได้ภายในประเทศเพราะพื้นที่เกษตรกรรมในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง
หากนโยบายด้านภาษีมีผลบังคับใช้จริง ต้นทุนสินค้าจะเพิ่มขึ้นอีกและต้นทุนเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในร้านอาหารลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบัน นั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานจะทำให้ภาคการผลิตประสบปัญหาอีกด้วย
ภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและความสัมพันธ์ทางการค้า
อัตราภาษีนำเข้า 25% ซึ่งแม้จะถูกระงับชั่วคราวในขณะนี้ ถือเป็นภัยคุกคามทางการค้าต่อเม็กซิโกและแคนาดาซึ่งเป็นประเทศนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ข้อมูลจากระบบติดตามห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภทจะเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น โดยเฉพาะมะเขือเทศ อะโวคาโด ธัญพืชบางชนิด ชีส และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์
ผลิตภัณฑ์อาหารสองหมวดหมู่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธัญพืชจากแคนาดา และ ผลไม้กับผักจากเม็กซิโก จากข้อมูลการค้าปี 2023 แสดงให้เห็นว่าสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการขนส่งข้ามพรมแดนมายังสหรัฐฯ ในปริมาณมาก และหากมีการขึ้นภาษีในกลุ่มสินค้านี้ จะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าอาหารของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก

มูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากเม็กซิโกปี 2023

  • ผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูป: 11,258.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ผักและผลิตภัณฑ์แปรรูป: 9,847.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ผลไม้สดหรือแช่เย็น: 9,618.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากแคนาดาปี 2023

  • ธัญพืชและผลิตภัณฑ์: 8,954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธัญพืชและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่: 6,307.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • น้ำมันพืชรวมทั้งหมด: 5,058.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยปริมาณการนำเข้าที่สูงมาก การเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าอาหารกลุ่มนี้อาจส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และทำให้เกิดข้อจำกัดด้านอุปทานสำหรับผู้จัดจำหน่ายและผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ตั้งแต่ผักและผลไม้สดสำหรับร้านอาหาร ไปจนถึงธัญพืชสำหรับผู้ผลิตอาหารบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯจะต้องเตรียมการรับมือกับผลกระทบจากภาษี โดยการหาแหล่งจัดหาวัตถุดิบใหม่ ปรับเปลี่ยนเมนู หรือสำรวจกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจอาหารได้แนะนำให้มีการตุนสินค้าอาหารที่เก็บได้นานก่อนที่ภาษีจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ แม้ว่าวิธีนี้อาจมีความเสี่ยงหากนโยบายถูกชะลอหรือยกเลิกก็ตาม
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการรับมือกับภาษีนำเข้า ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ Chipotle ได้พยายามเปลี่ยนแหล่งจัดหาวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบจากเม็กซิโก โดย Chipotle นำเข้าวัตถุดิบจากเม็กซิโกถึง 7% ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด แม้ว่า Chipotle จะพยายามหาทางเลือกแหล่งวัตถุดิบจากภายในประเทศ แต่ด้วยความสามารถด้านการผลิตและเงื่อนไขด้านภูมิอากาศในสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบจากเม็กซิโกยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และการขึ้นราคาเมนูนั้นทำได้ยาก ท้ายที่สุดแล้วภาคธุรกิจร้านอาหารจึงต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีศุลกากรไว้เอง
ภายใต้นโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯ ประกาศกำหนดอัตราภาษี 25% สำหรับอาหารส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา โดยข้อมูลจากมูลนิธิภาษี (Tax Foundation) ระบุว่าผู้นำเข้าหลายรายคาดการณ์ว่าภาษีเหล่านี้จะส่งผลให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นจริงในอัตราประมาณ 25% และจะเพิ่มภาระภาษีครัวเรือนในสหรัฐฯ กว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อครัวเรือน ซึ่งผลกระทบจากภาษีเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ค้าปลีกและร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังทำให้ชาวอเมริกันกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ Euromonitor ภายใต้หัวข้อ “Total Trump Agenda” คาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอาจลดลงเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยที่ 2,696 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือนต่อปีจากนโยบายการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายนอกบ้านของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารอาจต้องปรับกลยุทธ์ โดยการนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคยังคงรับประทานอาหารนอกบ้าน แม้ว่าราคาจะปรับสูงขึ้นก็ตาม

การคาดการณ์ใช้จ่ายเงินสำหรับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นในสหรัฐฯ ปี 2024-2029

ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ

การเนรเทศแรงงานจะส่งผลต่อการดำเนินงานในธุรกิจบริการอาหาร
อุตสาหกรรมร้านอาหารในสหรัฐฯ จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงานตามกฎหมายเป็นอย่างมาก โดยแรงงานที่ไม่มีเอกสารกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 40-50% ของแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ผักและผลไม้ ในฟาร์มเพื่อบริโภคภายในประเทศ
ศูนย์วิจัยด้านการย้ายถิ่นฐาน (Center for Migration Studies) ประเมินว่ามีแรงงานที่ไม่มีเอกสารมากถึง 1 ล้านคนทำงานในร้านอาหารทั่วสหรัฐฯ นอกจากอุตสาหกรรมร้านอาหารแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและนันทนาการก็ต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้เช่นกัน
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เริ่มการเนรเทศผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยใช้สถานกักกันที่อ่าวกวนตานาโมเพื่อกักขังผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และอาจส่งตัวแรงงานที่ไม่มีเอกสารเหล่านี้ไปยังเรือนจำในเอลซัลวาดอร์อีกด้วย
การขาดแคลนแรงงานจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการอาหารเป็นอย่างมาก ร้านอาหารอาจไม่สามารถจัดหาพนักงานเพียงพอเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ขณะเดียวกันภาคเกษตรกรรมอาจจะต้องเผชิญกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวผลผลิตอาจมีความยากลำบากมากขึ้นเช่นกันเพราะขาดแรงงาน
ต้นทุนที่สูงขึ้นในทุกๆด้านของธุรกิจบริการอาหารเกิดขึ้นพร้อมกับแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายโดยรวมลง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ไม่เพียงแค่ไม่ต้องการใช้จ่าย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้บริโภคไม่สามารถใช้จ่ายได้ เนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันมาเป็นเวลาหลายปี

ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยอาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
การเตรียมการรับมือกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของภาคธุรกิจบริการอาหารโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กและร้านอาหารอิสระ เนื่องจากเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่อาจมีอำนาจต่อรองในสัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบ แต่ร้านอาหารขนาดเล็กไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุนระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และอาจเป็นภัยต่อกิจการร้านอาหารท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การปิดกิจการของร้านอาหารอิสระกว่า 21,000 แห่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาเหล่านี้อาจจะยังคงดำเนินต่อไปในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ

แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะพยายามใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ แต่นโยบายเหล่านี้ก็อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจบริการอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น หรือการขาดแคลนแรงงาน แบรนด์ต่างๆ จึงต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือการขึ้นราคาเพื่อรักษาอัตรากำไร ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนหันไปเลือกซื้อสินค้าผลิตในประเทศ หรือสินค้าตราห้างที่ราคาถูกกว่าแทน
นโยบายภาษีนำเข้าและการลดลงของแรงงานที่ไม่มีเอกสารอาจทำให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กปิดกิจการ และทำให้อาหารมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชน และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจบริการอาหารควรปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เช่น การนำเสนอประสบการณ์การรับประทานอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ หรือการพัฒนาโปรแกรมสะสมคะแนน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารอาจต้องกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบ และพิจารณาการใช้วีซ่าทางเลือกเพื่อจัดหาแรงงาน เช่น เช่น วีซ่า H2 (สำหรับแรงงานชั่วคราวที่ไม่ใช่ภาคเกษตร) หรือวีซ่า J1 (สำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยนและงานภาคฤดูร้อน) ทั้งนี้ท้ายที่สุดผู้ประกอบการอาจต้องยอมรับผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายทั้งสองนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Euromonitor, Tastewise

thThai