เนื้อข่าว
ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2568 กองทุนการลงทุนชั้นนำของสหรัฐฯ และบริษัทมากกว่า 30 แห่ง มีกำหนดเดินทางมาเยือนนครโฮจิมินห์ เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนและดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ ซึ่งเป็นการเยือนตอบแทนภายหลังจากการเดินทางไปสหรัฐฯ ของคณะผู้แทนจากเวียดนาม
ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและการค้านครโฮจิมินห์ (The Ho Chi Minh City Investment and Trade Promotion Centre: ITPC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการประชาชนของนครเพิ่งจัดงาน Ho Chi Minh City Autumn Forum 2024 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา งานดังกล่าวจัดขึ้นตลอดหนึ่งสัปดาห์ในสามเมืองสำคัญ ได้แก่ ซานตาคลารา (Santa Clara) นิวยอร์ก (New York) และบอสตัน (Boston) เพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
การประชุมเริ่มต้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ซึ่งตัวแทนจากนครโฮจิมินห์ได้หารือกับพันธมิตรในสหรัฐฯ เกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลัก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนในนครนิวยอร์ก คณะผู้นำจากนครโฮจิมินห์ได้พบปะกับพันธมิตรทางธุรกิจจากสหรัฐฯ หลายร้อยราย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทาง การพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินสมัยใหม่ รวมถึงโอกาสในการลงทุนกับสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ การเจรจาในครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการเสริมสร้างนครโฮจิมินห์ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่โดดเด่นในภูมิภาค
การประชุมปิดท้ายที่เมืองบอสตัน โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคธุรกิจและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และสถาบันการศึกษาชั้นนำอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดในการจัดตั้งห้องสมุดวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนานครโฮจิมินห์ให้เป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ของเวียดนามและภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 7 วันของการจัดงาน มีการลงนามข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจจำนวนหลายฉบับระหว่างหน่วยงานในนครโฮจิมินห์และพันธมิตรจากสหรัฐฯ
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม กองทุนการลงทุนชั้นนำของสหรัฐฯ จะเดินทางไปนครโฮจิมินห์เพื่อจัดเวิร์กชอปและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้กับประชาชนโดยทั่วไป (Initial Public Offering: IPO) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างแนวทางสำคัญในการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน นอกจากนี้ ภายในต้นปี 2568 บริษัทสัญชาติอเมริกันกว่า 30 แห่งได้ให้คำมั่นว่าจะเดินทางกลับมายังเวียดนามเพื่อดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับภาคธุรกิจในนครโฮจิมินห์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ จะสูงถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับปี 2566 สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของเวียดนาม และเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์พลังงานหลักของเวียดนาม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนามให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น
ในด้านการลงทุน สหรัฐฯ ยังคงเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญของเวียดนาม โดยบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ หลายแห่งได้จัดตั้งสำนักงานและดำเนินธุรกิจในเวียดนามอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน ธุรกิจเวียดนามก็ขยายการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในปี 2568 จะมีบริษัทเวียดนามกว่า 100 แห่งเข้าร่วมงาน Select USA 2025 เพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจและขยายเครือข่ายการลงทุนในสหรัฐฯ
นครโฮจิมินห์ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมท้องถิ่น (GDRP) สูงที่สุดในประเทศ คิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของเวียดนาม นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ยังเป็นเมืองที่มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) สะสมสูงที่สุด รวมถึงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงสุดของเวียดนาม
การเยือนของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยเฉพาะนครโฮจิมินห์ อีกทั้งยังเปิดโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งในเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้าน และรวมถึงไทย ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระดับทวิภาคีนี้
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
นครโฮจิมินห์ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามและภูมิภาคอาเซียน โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2568 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างนครโฮจิมินห์และสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการลงนามข้อตกลงการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก เช่น เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ การเงิน นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการเติบโตของเวียดนามแล้ว ยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดเวียดนามและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ต้องการระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนภาคการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เวียดนามให้ความสำคัญผ่านโครงการ “ห้องสมุดวิทยาศาสตร์” เพื่อสร้างแหล่งองค์ความรู้ระดับภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ผ่านการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ เช่น คลังสินค้าอัจฉริยะ เทคโนโลยีด้านพลังงานอัจฉริยะ และหลักสูตรการศึกษาด้าน AI หรือ FinTech
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาดเวียดนามจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม ผู้ประกอบการไทยควรสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี เช่น RCEP และ ASEAN จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายความร่วมมือระหว่างนครโฮจิมินห์และสหรัฐฯ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจเวียดนาม แต่ยังเป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจและเติบโตในระดับนานาชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน