สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายอูโด ฟิลิปป์ (Udo Philipp) ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ได้ลงนามแถลงการณ์แสดงเจตจำนงร่วมในการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน (Energy Dialoge) ระหว่างเยอรมนีและไทย
นายอูโด ฟิลิปป์ กล่าวว่า การจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน จะช่วยสร้างแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานและนโยบายสภาพอากาศที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเยอรมันและไทยในด้านพลังงานหมุนเวียนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพอากาศและเศรษฐกิจของเรา
การลงนามแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน Energy Transition Dialogue (BETD 2025) ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความร่วมมือด้านพลังงานที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างเยอรมนีและไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตพลังงานและภาคอุตสาหกรรม โอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นสำหรับบริษัทของทั้งสองประเทศ และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน บันทึกความเข้าใจเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีที่ใกล้ชิด โดยครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม การลดคาร์บอน และความร่วมมือทางธุรกิจ ภายใต้ Energy Dialoge นี้ จะมีการวางแผนการหารือเชิงนโยบายระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงรูปแบบที่เน้นการปฏิบัติ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมวิชาการ การศึกษาดูงาน และการสนทนาทางธุรกิจ ขั้นตอนต่อไปจะมุ่งเน้นไปที่โครงการด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งเครือข่ายประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศไทยซึ่งเชื่อมโยงบริษัทเยอรมันและไทยที่มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานสูง การสร้างเครือข่ายนี้ทำให้บริษัทเยอรมันสามารถนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีของตนมาสนับสนุน และสร้างความร่วมมือระยะยาวได้
ความร่วมมือและการเจรจาทวิภาคีด้านสภาพอากาศและพลังงาน เป็นเครื่องมือหลักของนโยบายพลังงานต่างประเทศของกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ในการดำเนินนี้ BMWK ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ)
****************************************************
ที่มา: Press Release 20/03/2025,
Federal Ministry for Economic Affairs and Climate Action (BMWK)
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
การจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน (Energy Dialoge) ระหว่างเยอรมนีและไทยเกิดขึ้นในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังดำเนินการตามกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งจะกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และปูนซีเมนต์ มาตรการ CBAM อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ อาจต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสหภาพยุโรป เวทีหารือด้านพลังงานระหว่างเยอรมนีและไทยจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการ CBAM โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเยอรมนีในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสร้างเครือข่ายประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานการวัดและการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ CBAM เวทีหารือด้านพลังงานเยอรมัน-ไทย นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศระหว่างทั้งสองประเทศ และเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ