ปัจจุบันคงไม่มีที่ใดในโลกที่มีโรงงานผลิตชิปถูกสร้างขึ้นจำนวนมากเท่ากับในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เพราะด้วยโครงการเงินอุดหนุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ Joe Biden อดีตประธานาธิบดีได้ให้การสนับสนุนจนดึงดูดความสนใจผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ชั้นนำของโลก อาทิ Intel, TSMC, Samsung และ Texas Instruments เข้ามาลงทุนจำนวนมาก แต่ขณะนี้ บริษัทเหล่านี้ต่างก็เริ่มกังวลถึงมาตรการการเรียกเก็บภาษีศุลกากรชิปที่ Donald Trump กำลังจะกำหนดขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งโรงงานใหม่จำนวนมากในสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ยังขาดส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของชิปอยู่ดี เพราะชิปส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นในสหรัฐฯ จะถูกส่งไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อทำการทดสอบและบรรจุ ซึ่งขั้นตอนการผลิตในส่วนนี้ของห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เมื่อเสร็จแล้วชิปเหล่านี้ก็จะถูกนำกลับมายังสหรัฐฯ อีกที กรณีของ “ชิป” นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ของสินค้าหนึ่งรายการที่เคยกระจายอยู่ทั่วโลกมาไว้ในประเทศเดียวกัน ในขณะที่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังแสดงให้เห็นว่า ระบบโลกาภิวัตน์สามารถกลายเป็นคำสาปได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดย Trump เพิ่งประกาศว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชิปที่ 25% เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนเป็นต้นไป และยังกล่าวเสริมอีกว่า ภาษีจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างปีนี้ นั้นหมายความว่า มีแนวโน้มที่ชิปจะมีราคาแพงขึ้นมากในตลาดสหรัฐฯ และในเวลาเดียวกันความต้องการชิปก็อาจลดลงด้วย นาย Jensen Huang ผู้บริหารของบริษัท Nvidia บริษัทผลิตชิปที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกกล่าวเมื่อสัปดาห์นี้ว่า ภาษีศุลกากรยังเป็นสิ่งที่ไม่ทราบแน่ชัดว่า จะเกิดขึ้น “เมื่อไหร่ ที่ไหน เท่าไร? ทั้งหมดนี้เปิดกว้างอยู่” สิ่งเดียวที่แน่นอนในตอนนี้ ก็คือ หากมีการบังคับใช้ภาษีศุลกากร ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานเกือบทั้งหมด ทั้งในสหรัฐฯ และนอกประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า และถึงแม้ว่า ในปัจจุบันจะมีโรงงานผลิตชิปตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญเรียกโรงงานเหล่านี้ว่า “ปลายน้ำ (Frontend)” ในปัจจุบันมีการสร้างโรงงานใหม่ ๆ ประเภทนี้จำนวนมากด้วยต้นทุนหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของ Jefferies กล่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกผลิตขึ้นเกือบทั้งหมดจะถูกทำการทดสอบและบรรจุในต่างประเทศ “เท่าที่เราทราบ ขณะนี้ยังไม่มีโรงงานใดในสหรัฐฯ ที่จะสามารถประกอบ และทดสอบชิปในปริมาณมากได้” อุตสาหกรรมชิป เรียกสิ่งนี้ว่า “Backend (ต้นน้ำ)” ดังนั้น ภาษีศุลกากรจะมีผลกระทบต่อชิปแทบทุกตัวแม้ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ อย่าง Intel, Qualcomm, Nvidia, Texas Instruments หรือ Broadcom ก็ตาม นอกจากนี้ Jefferies ยังระบุอีกว่า ภาษีของ Trump จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกันที่มีโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศบ้านเกิดของตน ไม่ต่างจากผู้ผลิตยุโรปอย่าง Infineon และ STMicroelectronics ซึ่งไม่มีโรงงานผลิตในสหรัฐฯ เลย โดยผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่มีโรงงานในประเทศหวังว่า มูลค่าเพิ่ม (Value Added) ในประเทศของตนเองจะถูกนำมาพิจารณาร่วมเมื่อมีการกำหนดภาษีศุลกากร แล้วภาษีดังกล่าว อาจจะลดลงบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การคำนวณนี้ถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจจะยากยิ่งขึ้นเนื่องจากปัจจุบันนาย Elon Musk ที่ปรึกษาประธานาธิบดีกำลังไล่พนักงานรัฐบาลกลางหลายพันคนออก นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ และการทดสอบชิป ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างมูลค่าให้กับชิปประเภทต่าง ๆ อีกด้วย
แม้ว่าโรงงานปลายน้ำ (Frontend) จะเป็นโรงงานที่ทันสมัยมีระบบอัตโนมัติสูง แต่ในโรงงาน Backend (ต้นน้ำ) จำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ดังนั้น โรงงานดังกล่าวจึงมักจะตั้งอยู่ในเอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงในไต้หวันและจีนอีกด้วย นาย Zafrul Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของมาเลเซียประกาศว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ เขาจะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลของ Trump ในสหรัฐฯ โดยเขากล่าวว่า “มีความกังวลใจมาก ถ้ามีการเก็บภาษีหรือมีข้อจำกัดในการส่งออก” ปัจจุบันผู้ส่งออกชิปรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย คือ บริษัทสัญชาติอเมริกัน โดยผู้ผลิตชิปเองก็ยังสงสัยว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขา นาย Jochen Hanebeck, CEO ของ Infineon กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่า ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดจาก Trump จะส่งผลต่อบริษัทของเขาที่มีฐานในเมืองมิวนิกอย่างไรบ้าง โดยกล่าวว่า “ผลกระทบอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมีปัญหามหาศาล” โดยบริษัท Infineon ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ในเยอรมนี ออสเตรีย และมาเลเซีย ชิปเหล่านี้ยังถูกบรรจุและทดสอบในประเทศอื่น ๆ ด้วย รวมถึงในฮังการี จีน อินโดนีเซีย และไทย สำหรับ ในสหรัฐฯ นาย Hanebeck เพิ่งขายโรงงานในรัฐเท็กซัสไปหมาด ๆ อย่างไรก็ตาม Infineon ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชี้วัดดัชนีตลาดหุ้นเยอรมัน (Dax) ต้องการจะยังคงซื้อชิปจากผู้ที่ซื้อโรงงานในรัฐเท็กซัสต่อไป ตอนนี้มีการลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลในโรงงานปลายน้ำ (Frontend) ในอเมริกา แต่การลงทุนในโรงงาน Backend (ต้นน้ำ) นั้นค่อนข้างต่ำ โดยมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่กำลังลงทุนในโรงงานดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท Amkor และ Intel จากสหรัฐฯ รวมทั้งบริษัท SK Hynix จากเกาหลีใต้ด้วย แม้ว่าในเวลานี้ Trump จะขู่ขึ้นภาษีแต่ก็ยังไม่มีผู้ผลิตใดตัดสินใจลงทุนในโรงงาน Backend (ต้นน้ำ) เพิ่มเติมในประเทศสหรัฐฯ นั่นหมายความว่า ระบบโลกาภิวัตน์ในอุตสาหกรรมชิปยังไม่สิ้นสุดลง มันแค่จะทำให้สินค้าแพงขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น
จาก Handelsblatt 24 มีนาคม 2568