นาย Ralph G. Recto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเป็นเรื่องจำเป็นในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas: BSP) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป ในเดือนเมษายน 2568 โดยเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์อยู่ในการควบคุมจึงทำให้มีช่องว่างสำหรับการลดดอกเบี้ย ซึ่งนาย Ralph G. Recto เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Board) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินมีกำหนดประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปในวันที่ 10 เมษายน 2568 หลังจากที่ BSP ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในเดือนที่ผ่านโดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.75 โดยก่อนหน้านี้ BSP ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้ง ในช่วงปลายปี 2567 รวมการลดลงทั้งสิ้น 75 จุดพื้นฐาน (bps) โดยในปีนี้มีช่องว่างสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยได้มากถึง 75 จุดพื้นฐานและคาดหวังว่าจะลดลงอย่างน้อยได้ที่ 50 จุดพื้นฐาน และอาจถึง 75 จุดพื้นฐาน ในปี 2568 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในภาคการบริโภค และการลงทุน ซึ่งการลดต้นทุนการกู้ยืมอาจช่วยเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้อย่างน้อยร้อยละ 0.5 โดยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ เสริมว่าหากสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ 150 จุดพื้นฐาน ภายใน 2 ปีข้างหน้าการเติบโตอาจสูงขึ้นไปอีกระดับ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.4 มีช่วงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.4 – 3.9 แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของฟิลิปปินส์ อยู่ที่ร้อยละ 5.75 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการสนับสนุนการลงทุนอาจช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ให้สูงถึงร้อยละ 7 หรือมากกว่าในอนาคต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 6 นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสถาบันอื่นๆ ต่างคาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะเติบโตในระดับดังกล่าว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานที่ต่ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ ฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง โดยจะมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างน้อยร้อยละ 6 ในปี 2568 ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6 – 8 ต่อปีตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2571 อย่างไรก็ตาม GDP ของฟิลิปปินส์ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่ 4
ของปี 2567 ส่งผลให้การเติบโตตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 6 – 6.5 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสริมว่า ถึงแม้มีแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังขับเคลื่อนโดยภาคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งอุตสาหกรรม Business Process Outsourcing (BPO) ยังคงเติบโตและการส่งเงินกลับจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศก็ยังคงเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวก็กำลังฟื้นตัวเช่นกัน
เสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายการคลัง
นาย Ralph G. Recto ได้ให้ความเห็นเรื่องความไม่สงบทางการเมืองหลังจากการจับกุมอดีตประธานาธิบดี Rodrigo R. Duterte ว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยระบุว่าไม่มีผลต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค โดยในวันที่มีข่าวดังกล่าวตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ อาจสะท้อนว่าประชาคมระหว่างประเทศมองความสำคัญของหลักนิติธรรมในฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งอดีตประธานาธิบดี Rodrigo R. Duterte ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2559 – 2565 ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ในส่วนของนโยบายการคลัง นาย Ralph G. Recto กล่าวว่า รัฐบาลยังคงดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างทางการคลังและอยู่ในแนวทางที่วางไว้ โดยเสริมว่า สามารถเก็บรายได้เกินเป้าหมายในปี 2567 ทั้งนี้ ได้มีการจัดเก็บรายได้ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 27 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลัง ระบุว่ารัฐบาลกลางมีงบประมาณเกินดุลที่ 6.8 หมื่นล้านเปโซ ในเดือนมกราคม 2568 จากจำนวน 8.8 หมื่นล้านเปโซ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงร้อยละ 22.27 โดยปี 2567 สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในปี 2566 ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าลดสัดส่วนดังกล่าวลงเหลือร้อยละ 5.3 ในปีนี้ และร้อยละ 3.7 ภายในปี 2571 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีแผนเดินหน้าขายทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Caliraya-Botocan-Kalayaan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์เสริมว่า กำลังเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากรัฐบาลยังมีทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและการแปรรูปทรัพย์สินจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยแม้แต่ที่ดินขนาดเล็กที่ขายสู่ภาคเอกชนหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้ โดยคาดการณ์ว่า การขายทรัพย์สินดังกล่าวจะสร้างรายได้ประมาณ 100 พันล้านเปโซ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2567 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6 แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.0 – 6.5 แต่การเติบโตดังกล่าวของฟิลิปปินส์ยังคงทำให้ประเทศเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ โดยขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตของอุตสาหกรรม BPO นอกจากนี้ การส่งเงินกลับจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยด้านสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน เช่น การเกิดพายุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและราคาอาหาร รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้า ในส่วนของนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะลดลงได้อย่างน้อย 50 จุดพื้นฐาน และอาจสูงถึง 75 จุดพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ การลดอัตราดอกเบี้ยนี้อาจช่วยเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้อย่างน้อยร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงปรับกลยุทธ์ทางการค้าให้สอดรับกับสถานการณ์ต่อไป
———————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
มีนาคม 2568