รายงานแนวโน้มตลาดผัก และผลไม้สดในสวีเดน

ตลาดผักและผลไม้สดของสวีเดนพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก โดยมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายลดลงบางส่วน ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผัก และผลไม้อันดับที่ 29 ของสวีเดน มีส่วนแบ่งตลาด 0.24% แต่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสวีเดนมีความจำเป็นต้องนำเข้าผลไม้เมืองร้อน และผักบางชนิดตลอดทั้งปี ช่องทางการจำหน่ายหลักของผัก และผลไม้สดในตลาดสวีเดน ได้แก่ บริษัทเครือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และผู้ให้บริการอาหาร อย่างไร ก็ตาม แม้ว่าตลาดสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันด้านราคา แต่ผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพ ยั่งยืน และออร์แกนิก ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในสวีเดนและงาน THAIFEX – Anuga Asia จะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายและขยายตลาดให้กับผู้ส่งออกไทย
1. ภาพรวมตลาด
ในปี 2566 ตลาดค้าปลีกผักและผลไม้ในสวีเดนมีมูลค่า 3,399 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2,326 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 9.25% และ 13.57% ตามลำดับ (ข้อมูลจาก SCB) โดยการใช้จ่ายสินค้ากลุ่มผลไม้และผักของผู้บริโภคชาวสวีเดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2559 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี จากภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศส่งผลให้ราคาผลไม้เพิ่มขึ้นกว่า 9.5% ในปี 2565 และ 9.4% ในปี 2566 นอกจากนี้ ราคาผักยังเพิ่มขึ้นกว่า 10.3% ในปี 2565 และ 16.3% ในปี 2566 ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้า โดยเฉพาะ ยอดขายผัก
2. การค้าระหว่างประเทศ
2.1 ภาพรวมการค้า
ในช่วงปี 2567 การค้ารวมกลุ่มสินค้าผักและผลไม้สดของสวีเดน (รหัสศุลกากร 07 และ 08) มีมูลค่า 2,087 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็น การส่งออก มูลค่า 226 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11% และการนำเข้า มูลค่า 1,860 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3% โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน และเยอรมนี ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 29 มูลค่า 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% คิดเป็นสัดส่วน 0.24% ของการนำเข้าทั้งหมด
2.2 การนำเข้าสินค้าผลไม้สดของสวีเดน
กลุ่มสินค้าผลไม้สดนำเข้าที่สำคัญของสวีเดน ได้แก่ ส้ม กล้วย และผลไม้อื่นๆ โดยสวีเดนนำเข้าผลไม้จากไทยในกลุ่มลิ้นจี่ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ทุเรียน และมะละกอ
การนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยมีมูลค่ารวม 2,638 ล้านเหรียญสหรัฐ (-15%) โดยสินค้าผลไม้นำเข้าที่สำคัญจากประเทศไทย 4 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วนรวม 60.48% ประกอบด้วย
• ลิ้นจี่ มูลค่า 0.86 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมหดตัว -19% โดยการนำเข้าจากไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หดตัว -43% ในขณะที่ การนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์หดตัวเช่นกัน -11%
• ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มูลค่า 0.28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และสเปน ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมขยายตัว 24% ในขณะที่การนำเข้าจากไทยหดตัว -38% และ การนำเข้าจากคู่แข่งมีแนวโน้มหดตัว -6% และขยายตัว 347% และ 569% ตามลำดับ
• ทุเรียน มูลค่า 0.24 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากไทยทั้งหมด อย่างไรก็ดี การนำเข้าจากไทยมีแนวโน้มหดตัว -25%
• มะละกอ มูลค่า 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ และสเปน ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมหดตัว -20% แต่การนำเข้าจากไทยมีแนวโน้มขยายตัว +12% และการนำเข้าจากคู่แข่งมีแนวโน้มหดตัว -10 และขยายตัว +18 ตามลำดับ
2.3 การนำเข้าสินค้าผักสดของสวีเดน
กลุ่มสินค้าผักนำเข้าที่สำคัญของสวีเดน ได้แก่ กลุ่มพืชผักอื่นๆ (เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือม่วง คึ่นไช่ เห็ด พริก ฟักทอง หน่อไม้สด และข้าวโพดอ่อน) มะเขือเทศและ มันฝรั่ง โดยสวีเดนนำเข้าผักสดจากไทยในกลุ่ม (1) พืชผักอื่นๆ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือม่วง คึ่นไช่ เห็ด พริก ฟักทอง หน่อไม้สด ข้าวโพดอ่อน (2) พืชผักตระกูลถั่ว และ (3) หอมหัวใหญ่ หอมหัวเล็ก กระเทียม ลีกและพืชผักจำพวกหอมกระเทียมอื่นๆ
การนำเข้าสินค้าผักสดจากไทยมีมูลค่ารวม 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ (+18%) โดยสินค้าผักสดนำเข้าที่สำคัญจากประเทศไทย 4 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วนรวม 94.91% ประกอบด้วย
• พืชผักอื่นๆ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือม่วง คึ่นไช่ เห็ด พริก ฟักทอง หน่อไม้สด ข้าวโพดอ่อน มูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สเปน และเยอรมนี ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมขยายตัว 4.4% โดยการนำเข้าจากไทย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขยายตัว 18%, 16% และ 19% ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าจากสเปนหดตัว 2%
• พืชผักตระกูลถั่ว มูลค่า 0.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และแคนาดา ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมขยายตัว 2.5% โดยการนำเข้าจากไทย และแคนาดาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขยายตัว 37% ในขณะที่การนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี หดตัว 4% และ 25%
• หอมหัวใหญ่ หอมหัวเล็ก กระเทียม ลีกและพืชผักจำพวกหอมกระเทียมอื่นๆ มูลค่า 0.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สเปน และเยอรมนี ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมหดตัว 0.8% โดยการนำเข้าจากไทย และเยอรมนีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หดตัว 20% และ 2% ในขณะที่การนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ และสเปน ขยายตัว 0.9% และ 0.3%
• มันสำปะหลัง มูลค่า 0.48 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเดนมาร์ก ทั้งนี้ การนำเข้าโดยรวมคงตัว โดยการนำเข้าจากไทย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ขยายตัว 36%, 18% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าจากเดนมาร์กหดตัว 55%
3. ฤดูกาล และอุปสงค์ผัก และผลไม้ในตลาดสวีเดน
ผัก และผลไม้ที่สวีเดนไม่สามารถผลิตได้ และจำเป็นต้องนำเข้าทั้งหมด เช่น กล้วย ส้ม และพริกส่วนผัก และผลไม้ที่สวีเดนสามารถผลิตได้ แต่ต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น มะเขือเทศ และแอปเปิ้ล นอกจากนี้ยังมีผัก และผลไม้ที่สวีเดนสามารถปลูกได้ในบางฤดูกาลเท่านั้น จึงจำเป็นต้องนำเข้าในช่วงฤดูกาลอื่น เช่น แตงกวา และกะหล่ำดอก ที่สวีเดนสามารถผลิตได้ในฤดูร้อน แต่ไม่สามารถผลิตได้ในฤดูหนาว จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดในช่วงฤดูหนาว โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป และประเทศใกล้เคียง

ผลไม้เมืองร้อนสำคัญที่สวีเดนนำเข้า เช่น
• ผลไม้จำพวกส้ม มูลค่า 153 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14% โดยนำเข้าจากสเปน (-14%) เนเธอร์แลนด์ (+6%) และเยอรมนี (-9%) เป็นสำคัญ (การนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 47/ไม่ปรากฎข้อมูลการนำเข้า และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง)
• กล้วย มูลค่า 149 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.9% โดยนำเข้าจากเอกวาดอร์ (+17%) โคลัมเบีย (-16%) และเนเธอร์แลนด์ (+10%) เป็นสำคัญ (การนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 20 มูลค่า 6,330 เหรียญสหรัฐ ลดลง 51%)
• ผลไม้อื่นๆ (เช่น กีวี พลับ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลางสาด มะเฟือง ขนุน มะขาม และอื่นๆ) มูลค่า 113 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.8% โดยนำเข้าจากสเปน (+18%) เนเธอร์แลนด์ (-14%) และเบลเยียม (+15%) เป็นสำคัญ (การนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 12 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 40%) ทั้งนี้ การนำเข้าผลไม้จากไทยลดลงเนื่องจากปัญหากฎระเบียบการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดของสวีเดนที่เข้มงวด มีการสุ่มตรวจบ่อยครั้ง ส่งผลให้สินค้าถูกกักกันนาน ณ จุดตรวจ สินค้าเกิดการเน่าเสียหาย และมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการดำเนินการตรวจสูง ผู้นำเข้าจึงหลีกเลี่ยงการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศนอกสหภาพยุโรป และสั่งซื้อจากประเทศในสหภาพยุโรปแทน
4. ช่องทางการจำหน่าย
ช่องทางการเข้าตลาดสินค้าผัก และผลไม้สดในสวีเดนสามารถทำได้ทั้งผ่านผู้นำเข้า ร้านค้าปลีกอาหารซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทผู้ให้บริการอาหาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าเอง โดยช่องทางการซื้อสินค้าผัก และผลไม้สดที่สำคัญในสวีเดนสามารถสรุปได้ 4 ช่องทางสำคัญ ดังนี้
4.1 ผู้นำเข้าผักผลไม้ ที่มีศูนย์กลางการจัดจำหน่ายที่เมือง Helsingborg ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งรวมถึงบริษัทจัดหาสินค้ารายสำคัญ เช่น Dole, Everfresh และ Interbanan Scandinavia AB (บริษัทผู้นำเข้ากล้วยออร์แกนิก) นอกจากนี้ยังมีบริษัท BAMA บริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผัก/ผลไม้สลัดหั่นกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน Ewerman ผู้ให้บริการสินค้าผักผลไม้สดภายใต้แบรนด์ DailyGreens รวมถึงผักและผลไม้ที่ผ่านการตัดแต่งและบรรจุ (pre-cut and packed) และ Fruit Connect บริษัทผู้เชี่ยวชาญส้ม
4.2 ผู้นำเข้าเอเชีย บริษัทผู้นำเข้าสินค้าเอเชียในสวีเดนที่นำเข้าผัก และผลไม้สด เช่น บริษัท CT Food AB และ Saigon Food
4.3 บริษัทแปรรูป (Fruit and vegetables processing companies) เช่น บริษัทผู้ผลิตน้ำผลไม้สด ผู้ผลิตสลัดผัก/ผลไม้ ผู้เล่นที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท Brämhults และ Råsaft
4.4 บริษัทผู้ให้บริการอาหาร (Catering & Food Service) ประกอบด้วย บริษัทค้าส่งที่จัดจำหน่ายสินค้าอาหารให้กับหน่วยงานรัฐบาล โรงแรม บาร์ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ โดยมีผู้เล่นสำคัญ ได้แก่ บริษัท Martin & Servera, Menigoand และ Svensk Cater
4.5 ร้านค้าปลีกอาหาร (Food retail) ปัจจุบันมีร้านค้าปลีกมากกว่า 3,000 แห่งในสวีเดน โดยมีแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ (major supermarket chains) ครองตลาด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 เครือใหญ่ได้แก่
4.5.1 บริษัท ICA Gruppen AB ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ต ICA Sweden (1,267 สาขา) แบ่งออกเป็น Maxi ICA Stormarknad (88 สาขา) ICA Kvantum (130 สาขา) ICA Supermarket (423 สาขา) ICA nära (626 สาขา) มีส่วนแบ่งตลาด 50.3% โดยมีบริษัท ICA Frukt & Grönt ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้อผัก และผลไม้ และยังเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดของสวีเดน
4.5.2 บริษัท Axfood (Axel Johnson) มีซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือจำนวน 600 สาขา ประกอบด้วย Hemköp, Willys, Tempo, Urban Deli, Snabbgross, Eurocash, Handlar’n, City Gross และ Matöppet มีส่วนแบ่งตลาด 24.2% โดยผู้ส่งออกสามารถกรอกรายละเอียด Company Profile เพื่อแนะนำตัวได้โดยตรงผ่าน เวปไซต์บริษัทhttps://www.axfood.com/contact/suppliers/become-a-supplier/
5. แนวโน้มตลาดผักและผลไม้สดในสวีเดน
5.1 ความสนใจในเรื่องแหล่งที่มา และสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ผู้บริโภคชาวสวีเดนให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของผลไม้และผัก รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร
5.2 ความต้องการบริโภคสินค้าออร์แกนิก และสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การเติบโตของตลาดสินค้าออร์แกนิกในสวีเดนหดตัวลง เนื่องจากภาวะความกดดันด้านราคา เงินเฟ้อ และการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้ในปี 2566 ยอดขายผลไม้ออร์แกนิก หดตัวกว่า 8% และผักออร์แกนิก หดตัวกว่า 17% อย่างไรก็ดี ตลาดเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยสวีเดนเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารออร์แกนิกสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของยุโรป
5.3 แนวโน้มความต้องการสินค้า Private Label เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกลง โดยแบรนด์ Private Label ที่สำคัญในสวีเดน เช่น I love eco ของ ICA และ Änglamark ของ COOP ซึ่งครอบคลุมสินค้าผักและผลไม้สดเช่นกัน
5.4 การเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์ การขายของชำออนไลน์ในสวีเดนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2563 – 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2566 อีคอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 4.1% และแนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
6. แนวทางการเข้าสู่ตลาด
6.1 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า THAIFEX – Anuga Asia ซึ่งมีกลุ่มผู้นำเข้าจากสวีเดนมาเยี่ยมชมงาน
6.2 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสวีเดน เช่น
• งานแสดงสินค้า Nordic Organic Food Fair/The Good Food Fair/Natural Beauty Show/Natural Health Show ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพื่อการเจรจาธุรกิจ และสร้างเครือข่าย กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ย. 2568 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า MalmöMässan เมืองมัลโม ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เวปไซต์ nordicorganicexpo.com
• งานแสดงสินค้า Sthlm Food & Wine and Bak & Choklad ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหาร ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ pastries และช็อกโกแลตเพื่อการเจรจาธุรกิจ และสร้างเครือข่าย กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 9 พ.ย. 2568 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Stockholmsmässan กรุงสตอกโฮล์ม ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เวปไซต์ sthlmfoodandwine.se

7. ข้อคิดเห็น
• สวีเดน และสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดที่เข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องระดับสารตกค้าง การศึกษารายละเอียดกฎระเบียบการนำเข้า และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่ตลาด
• สร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ – การรับรองมาตรฐานออร์แกนิกและความยั่งยืน เช่น EU Organic, GlobalGAP หรือ Fairtrade อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
• มุ่งเน้นสินค้าที่ตลาดต้องการ – อาจเน้นส่งออกผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด หรือผักที่สวีเดนไม่สามารถเพาะปลูกได้ และมีความต้องการสูงในช่วงฤดูหนาว เช่น พริก และสมุนไพรไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน | มีนาคม 2568

thThai