เว็บไซต์ www.gminsights.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิจัยตลาดระดับโลก เผยว่าปัจจุบันชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly packaging) มากขึ้น และคาดว่าตลาดนี้จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจาก
บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถรีไซเคิลทำปุ๋ยหมักหรือทำการย่อยสลายทางชีวภาพ ตลอดจนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ในปี 2567 มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.99 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าตลาด
ของปี 2566 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2568
ถึง ปี 2577 ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโต
ต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 6.6
ในขณะเดียวกัน ในปี 2567 ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐฯนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าตลาดของปี 2566 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศเยอรมนี ตามลำดับ
นอกจากนี้ www.gminsights.com ยังเผยถึง ปัจจัยสำคัญหลายประการที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโตในตลาดสหรัฐฯ โดยปัจจัยแรก คือ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในการใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือวัสดุที่สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้ ซึ่งวัสดุจำพวกนี้มักผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน เช่นเส้นใยจากพืช และโพลิเมอร์ชีวภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ แต่ยังช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว ปัจจัยต่อมา คือ การนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสะดวกในการใช้งาน เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ใช้น้ำเคลือบเป็นหลัก หรือเรียกว่า Water-based Coating โดยบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่างมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้น้ำเคลือบลงบนบรรจุภัณฑ์อาหารแทนการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือ การที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถย่อยสลายได้แบบ Zero-Waste หรือแบบปลอดพลาสติก เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นลดปริมาณขยะพลาสติก เนื่องจากหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ Single-use Plastics Ban และปัจจัยสุดท้าย คือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรขนาดใหญ่ บริษัทชั้นนำ และหน่วยงานภาครัฐนั้นกำลังให้ความสำคัญกับการลดของเสีย และการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้หลายบริษัทต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น หรือสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความต้องการที่จะเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากบริษัทที่มีแนวทางรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัสดุการผลิต และกลยุทธ์ทางตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ต้องการลดปริมาณการใช้พลาสติก และต้องการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์จากส่วนแบ่งตลาดมากไปน้อย ดังนี้
1. ถุง (Bags)
2. ภาชนะ (Containers)
3. กล่อง และลัง (Boxes and Cartons)
4. ขวดและขวดโหล (Bottles & Jars)
5. อื่นๆ (Others)
บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีส่วนแบ่งตลาดของบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทถุง (Bags) สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทภาชนะ (Containers) คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) กว่าร้อยละ 8 และจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2577
ปัจจัยที่ทำให้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเภทภาชนะ (Containers) นั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat Meals) กลุ่มบรรจุภัณฑ์บริการสั่งอาหารกลับบ้าน (Takeaway Services) และกลุ่ม
บรรจุภัณฑ์อาหารแบบควบคุมปริมาณอาหารได้ (Portion-Controlled Packaging) นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารที่สะดวกต่อการพกพา และการจัดส่งนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเภทภาชนะนั้นได้รับความนิยมในด้านของความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพในการใช้งาน
สำหรับส่วนแบ่งตลาดบริษัทผู้ผลิตรายสำคัญของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บริษัท Sealed Air บริษัท Mondi บริษัท Smurfit Kappa บริษัท Sonoco Products บริษัท Tetra Pak โดยบริษัททั้ง 5 บริษัทนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 20 และบริษัทอื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ถึงร้อยละ 85
แนวโน้มบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในมุมมองของผู้บริโภคชาวอเมริกัน สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ
ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างในบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทพลาสติก เช่น BPA และไมโคร-พลาสติก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้เกิดความนิยมในบรรจุภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ เช่น กระดาษคราฟต์ แก้ว และพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable Packaging) ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่สะสมในสิ่งแวดล้อม
2. การเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนบริษัทที่ได้รับฉลากรับรองความยั่งยืน เช่น FSC (Forest Stewardship Council) หรือ “Green Label” ซึ่งเป็นฉลากที่รับรองว่าสินค้า และบรรจุภัณฑ์ของบริษัทนั้นมีมาตรฐานด้านความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังให้ความสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์อาหารที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทที่ใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อม
3. ความนิยมของบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ และรีไซเคิลได้
การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Packaging) นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น กล่องอาหารแบบฝากลับ (Returnable Containers) ที่สามารถนำกลับมาคืนร้านค้า เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์อาหารแบบเติมได้ (Refillable Packaging) ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ถุงเติมน้ำมันปรุงอาหาร หรือภาชนะใส่เครื่องดื่มที่สามารถนำมาเติมซ้ำได้ เพื่อลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง
4. ความสะดวกสบาย
นอกจากผู้บริโภคชาวอเมริกันจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ความสะดวกสบายยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ โดยบรรจุภัณฑ์อาหารที่ออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน และการพกพา เช่น ฝาปิดแบบซีลแน่น (Tamper-proof) หรือกล่องที่สามารถนำไปอุ่นในไมโครเวฟได้นั้นยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสนใจ
5. การเพิ่มขึ้นของบรรจุภัณฑ์แบบกินได้ (Edible Packaging)
การเพิ่มขึ้นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้ เช่น หลอดน้ำที่ทำจากสาหร่าย แก้วกาแฟที่ทำจากบิสกิต และฟิล์มห่ออาหารที่ทำจากแป้งข้าวโพดนั้นกำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวอเมริกัน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก
เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องสร้าง
บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความโดดเด่น ผ่านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้บรรจุภัณฑ์อาหารนั้นตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งในด้านของวัสดุ การออกแบบ คุณประโยชน์ มาตรฐาน และการใช้งาน
ทั้งนี้ นอกจากการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดก็ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยผลักดันยอดขาย และขับเคลื่อนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้
การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารผ่านการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืนทางธรรมชาติ หรือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความคุ้มค่าในการใช้งานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
หากผู้ประกอบสนใจที่จะส่งออกบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ จึงควรศึกษาแนวโน้ม กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงวางแผนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดอย่างมีศักยภาพ
ที่มา: https://www.gminsights.com/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก